posttoday

จีนรุกเก็บ"DNA" กรุยทางสอดส่องดิจิทัล

14 มกราคม 2561

จีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุ่มงบประมาณอย่างหนักในการคิดค้นระบบสำหรับใช้สอดส่องประชาชนภายในประเทศกว่า 1,400 ล้านคน

โดย...พรบวร จิรภัทร์วงศ์

จีนนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการทุ่มงบประมาณอย่างหนักในการคิดค้นระบบสำหรับใช้สอดส่องประชาชนภายในประเทศกว่า 1,400 ล้านคน โดยรัฐบาลจีนกำลังสร้างระบบจดจำใบหน้าภายในเครือข่ายกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่จะสามารถระบุตัวตนของประชาชนแต่ละคนได้แบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ในการจับอาชญากรหรือบุคคลที่ “เป็นภัย” ต่อความมั่นคงของรัฐ

ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลยังรวมถึงการก่อตั้งฐานเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของประชากรเมื่อปี 2003 เพื่อใช้ในการสืบหาอาชญากรด้วย โดยหนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้ขอตัวอย่างน้ำลายจากนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาจำนวนมาก ในเขตเฉียนเหว่ย ทางตะวันตกของจีน โดยไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ แต่น้ำลายนั้นสามารถใช้ในการสืบค้นตัวอย่างดีเอ็นเอ ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือแม้แต่อุปนิสัยของเจ้าของได้

อย่างไรก็ดี ตำรวจจีนอ้างว่า วิธีการดังกล่าวใช้สืบจับอาชญากรได้ โดยก่อนหน้านี้สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ตำรวจสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อเหตุฆาตกรรม 2 ศพ เมื่อ 9 ปีก่อนหน้านี้ได้

ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะรวบรวมฐานข้อมูลดีเอ็นเอจากประชากรในประเทศเพิ่มอีกเท่าตัว หรือราว 100 ล้านคน ภายในปี 2020 นั้น ตำรวจจีนจะต้องเก็บข้อมูลดีเอ็นเอประชากรในประเทศแต่ละปีให้มากเทียบเท่ากับที่สหรัฐรวบรวมข้อมูลดีเอ็นเอของประชากรในประเทศมากว่า 20 ปี

ถึงแม้รัฐบาลจีนจะระบุว่า จุดประสงค์ของการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลขนาดมหาศาลดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่การใช้แก้ไขอาชญากรรม แต่ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเหมารวมผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่เคยก่ออาชญากรรม รวมถึงเกิดคำถามว่าจุดประสงค์สูงสุดของการใช้ข้อมูลดังกล่าวคืออะไรกันแน่

สำหรับสหรัฐ รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศนั้น สามารถเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอได้เฉพาะกับผู้กระทำความผิดร้ายแรง ผู้ที่ยินยอมให้มีการเก็บดีเอ็นเอของตน หรือเก็บจากหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วหรือบุหรี่ รวมถึงใช้หมายศาลบังคับเก็บส่งผลให้ปริมาณข้อมูลดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าจีนมาก โดยข้อมูลดีเอ็นเอทั้งหมด ซึ่งมีมากกว่า 13 ล้านรายแล้วในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ)

อย่างไรก็ดี จีนไม่มีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้เก็บดีเอ็นเอในกรณีอื่นนอกเหนือจากการเก็บไว้ เพื่อสืบสวนการอาชญากรรม โดยก่อนหน้านี้ ตำรวจได้รวบรวมข้อมูลของประชาชนกว่าครึ่งล้านไว้ในฐานข้อมูลของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ ขณะที่จำนวนข้อมูลดีเอ็นเอประชากรในฐานข้อมูลดังกล่าวมีอยู่แล้วกว่า 54 ล้านราย

ข้อมูลที่ทันสมัยของประชากรแต่ละคนดังกล่าวจะเป็นเอกสารชั้นยอดสำหรับตำรวจจีนในการตามติดพฤติกรรมของประชากร โดย ผศ.เสี่ยวเชียง จากภาคเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า ข้อมูลดีเอ็นเออันมหาศาลดังกล่าว ประกอบกับอุปกรณ์สอดส่องกิจกรรมต่างๆ ของประชากร เช่น กิจกรรมออนไลน์ รวมถึงกล้องที่ติดตั้งโปรแกรมตรวจจับใบหน้านั้นจะทำให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนสร้าง “รัฐเผด็จการโลกดิจิทัล” ที่สอดส่องทุกอย่างได้อย่างทั่วถึงได้

พลเมืองลุกต้าน

เมื่อปี 2016 รัฐบาลได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นชื่อ “นิวเจ้อเจียง” ในมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถรายงานปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นท่อระบายน้ำรั่วซึมไปจนถึงการละเมิดกฎจราจร โดยผู้รายงานต้องเขียนร้องเรียนหรือส่งรูปถ่ายพร้อมพิกัดสถานที่ที่พบเจอปัญหาเหล่านั้น และจะได้สิ่งตอบแทน อาทิ ส่วนลดราคาสินค้าตามร้านค้าต่างๆ คูปองสำหรับใช้บริการแท็กซี่ หรือใช้จ่ายในแพลตฟอร์มชำระเงิน อาลีเพย์

วอลสตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลในการนำวิธีการสอดส่องประชาชนแบบเผด็จการสมัยเก่า ที่ประชาชนแต่ละคนคอยสอดส่องพฤติกรรมของอีกคนหนึ่ง มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ระบบอี-คอมเมิร์ซ และบิ๊กดาต้า เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่สนใจจะใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว

ภายในเมืองเฟิงเฉียว ของมณฑลเจ้อเจียง ซึ่งมีประชากรกว่า 8 หมื่นคน ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองที่ถือว่าจงรักภักดีต่อระบบคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยของรัฐบุรุษเหมาเจ๋อตงนั้นก็เริ่มมีเสียงต่อต้านถึงการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวที่ระบุว่า ไม่ต้องการถูกบังคับให้ใช้เครื่องมือการสอดส่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางรายยังต่อต้านการใช้แอพพลิเคชั่น เนื่องจากเกรงว่าข้อมูลที่เป็นผลเสียกับตนจะหลุดไปถึงรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้ แม้ว่าชาวจีนส่วนใหญ่จะคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลน้อยกว่าชาติตะวันตก แต่ผลตอบรับของแอพพลิเคชั่นดังกล่าวบ่งชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยินยอมที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้แก่รัฐบาลโดยสมัครใจอีกต่อไป

การต่อต้านดังกล่าวส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในรัฐบาลจีนที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสอดส่องประชาชน เพื่อคงความเป็นระเบียบของประเทศ โดยรัฐบาลต้องการข้อมูลที่ประชาชนร้องเรียนในแอพพลิเคชั่น เพื่อกำจัดและป้องกันการประท้วงและควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น 

รายงานเสริมว่า รัฐบาลยังได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นที่เหมือนกับนิวเจ้อเจียงในอีกหลายๆ เมือง โดยมุ่งเป้าจะนำข้อมูลการร้องเรียนมาใช้ร่วมกับข้อมูลประชาชนแต่ละราย ที่ได้จากการสอดส่องทางช่องทางอื่นและระบบกล้องวงจรปิด ทั้งนี้ “เซฟเจียงซู” เพิ่งเปิดตัวไปในมณฑลเจียงซู เมื่อปี 2017 ขณะที่ “เซียะเหมินพีเพิล” ก็เปิดตัวในเมืองเซียะเหมินไปในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวภายในรัฐบาลระบุกับวอลสตรีท เจอร์นัลว่า นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลแล้ว ประชาชนในบริเวณดังกล่าวก็ไม่นิยมใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว

“ปัญหาคือผู้คนไม่สมัครใจใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะต้องการให้พวกเขาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลเอง” ซาแมนธา ฮอฟแมน จากสถาบันคลังสมอง อินเตอร์เนชั่นแนล อินสติติวท์ ฟอร์ สตราเทอจิก สตาดดี้ส์จากอังกฤษ กล่าว