posttoday

แอสเซนด์ กรุ๊ปย้ำผู้นำ วอลเล็ตเพย์เมนต์

11 มกราคม 2561

หากเอ่ยถึงอี-วอลเล็ต ต้องยอมรับว่าทรูมันนี่ยังคงเป็นรายใหญ่ในตลาด

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

หากเอ่ยถึงอี-วอลเล็ต ต้องยอมรับว่าทรูมันนี่ยังคงเป็นรายใหญ่ในตลาด แม้จะมีสตาร์ทอัพจำนวนมาก พยายามเข้ามาแบ่งฐานลูกค้า แต่ก็ไม่สามารถโค่นล้มได้ เพราะทรูมันนี่มาก่อนและปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคตลอดเวลา

ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ฐานลูกค้าของทรูมันนี่โตต่อเนื่อง ลูกค้าลงทะเบียน 8 ล้านราย แอ็กทีฟ 4 ล้านราย และ 75% ของลูกค้ายังคงกลับมาใช้งานซ้ำ ส่วนกลุ่มอี-คอมเมิร์ซและกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ก็ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะมีรายได้รวม 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ต่อเนื่องเช่นเดิม

กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่ ยังคงเป็นโอกาสของรายได้หลักของบริษัท และปีหน้าก็คาดว่ามีการเติบโตที่ดีมาก เพราะนอกจากไทยแล้วยังมีการให้บริการอีก 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์และกัมพูชา แค่กัมพูชาประเทศเดียวมีเงินหมุนเวียนในระบบเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่รวมประเทศอื่นๆ ที่มองว่าการใช้โมบายเพย์เมนต์สะดวกกว่าการเดินทางไปสาขาของธนาคาร

ทั้งนี้ ทรูมันนี่ในต่างประเทศมีผู้ใช้แพลตฟอร์มกว่า 5 ล้านราย ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนใน 6 ประเทศ รวมกันกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อนหน้านี้

ขณะที่การเข้ามาลงทุนของแอนท์ไฟแนนเชียล ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ทั้งเรื่องของการพัฒนาบริการให้เหมาะสมกับลูกค้า เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเอไอและบล็อกเชน เข้ามาเพิ่มความสามารถของทรูมันนี่ให้ดีขึ้น และตอบโจทย์การใช้งานโมบายเพย์เมนต์

แอสเซนด์ กรุ๊ปย้ำผู้นำ วอลเล็ตเพย์เมนต์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนต่อเนื่องทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากร รวมทั้งยังลงทุนด้านสื่อสารการตลาดหนักมาก เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าชาวไทยที่มีการใช้จ่ายผ่านมือถือมากขึ้น ด้านจำนวนลูกค้าคาดว่าในปีหน้าจะมีลูกค้าที่ใช้งานประจำเพิ่มเป็น 5-6 ล้านราย ด้วยฟีเจอร์ใหม่ที่บริษัทสร้างความคุ้นเคยในการใช้งานแก่ลูกค้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจอี-เพย์เมนต์ ยังคงดุเดือด ยิ่งการสนับสนุนของภาครัฐและภาคธนาคารในการใช้พร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ด ยิ่งทำให้การแข่งขันปีหน้าไม่ว่าจะแบงก์หรือนันแบงก์ ทำให้บริษัทต้องหาฟีเจอร์และกิจกรรมทางการตลาดที่จะเข้าถึงการใช้จ่ายของลูกค้า

ทั้งนี้ กระแสบิตคอยน์ที่กำลังมาแรงในไทยนั้น ทางระบบยังไม่เปิดรับให้แลกหรือใช้จ่ายบิตคอยน์ผ่านระบบทรูมันนี่ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ รวมทั้งการซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะมูลค่าที่สูงเกินจริง แต่บริษัทสนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เข้ามาช่วยตรวจสอบเรื่องของการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย รวมทั้งต้นทุนต่ำ

ในส่วนของการระดมทุนของสตาร์ทอัพในรูปแบบไอซีโอก็ยังน่ากลัว เพราะไม่มีหลักประกันว่าการซื้อขายหุ้นนั้น ถ้านักลงทุนไม่มีความเชี่ยวชาญพอย่อมที่จะมีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินใดก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทจะลงทุนในโอมิเสะ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ให้บริการเพย์เมนต์ แต่โอมิเสะมีระบบที่น่าเชื่อถือและตอบโจทย์การให้บริการของบริษัท จึงมองว่ามีความแข็งแรงในระยะยาว

ในปี 2561 นี้ ธุรกิจเพย์เมนต์ถือว่าน่าจับตามองอย่างมาก เพราะธนาคารหลายรายเองก็สู้กันดุเดือด แต่ใครจะอยู่รอดได้ ก็คงต้องรอดูว่าบริการของใครใช้ง่ายและตอบโจทย์ชีวิตได้มากกว่ากัน