posttoday

จีนปฏิวัติหุ่นยนต์ขนส่ง รับออเดอร์โถม อี-คอมเมิร์ซผงาด

19 พฤศจิกายน 2560

2ยักษ์ใหญ่ด้านค้าออนไลน์ของจีนลุยพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยหุ่นยนต์ตอบรับออเดอร์สั่งของออนไลน์ที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

อี-คอมเมิร์ซแดนมังกรกำลังเติบใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้การนำของ “อาลีบาบา” และ “เจดีดอทคอม” 2 ยักษ์ใหญ่ด้านค้าออนไลน์

ในวันคนโสดเมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเติบใหญ่ดังกล่าวแล้ว โดยเพียงแค่อาลีบาบาเพียงเจ้าเดียวก็สามารถกวาดยอดขายไปมากถึง 2.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.3 แสนล้านบาท) ทุบสถิติใหม่และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 39%

ยอดค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ดึงให้ยอดจำนวนพัสดุที่ต้องขนส่งปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ต่างดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การแนะนำลูกค้าระหว่างตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ไปจนถึงการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยเหลือในการขนส่ง

อาลีบาบาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการช่วยแนะนำสินค้าให้กับผู้ใช้ โดยเลือกสรรจากประวัติการช็อปปิ้งของลูกค้าในอดีตโดยเมื่อลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้แล้ว คำสั่งซื้อจะส่งตรงไปยังหุ่นยนต์ที่คอยแพ็กและเตรียมพร้อมจัดส่งสินค้าโดยอัตโนมัติในโรงงานที่ใกล้ที่สุด

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า อาลีบาบาใช้หุ่นยนต์ราว 200 ตัว ในโรงงานบริษัท ไช่เหนี่ยว ธุรกิจขนส่งของอาลีบาบา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองเสิ่นเจิ้น สำหรับการทำหน้าที่ดังกล่าว โดยการย่นระยะเวลาการขนส่งจะช่วยให้อาลีบาบาสามารถเลือกสรรสินค้าและส่งกับลูกค้าบางส่วนได้ภายในวันเดียว

“หุ่นยนต์ 200 ตัวนี้ สามารถจัดการพัสดุได้ 1 ล้านชิ้น/วัน มากกว่าปฏิบัติด้วยมนุษย์ถึง 3 เท่า และพักชาร์จไฟเพียง 1 ชั่วโมง หลังการทำงานทุก 6 ชั่วโมง” หลี่หยาคุน พนักงานของโรงงานดังกล่าว ระบุ

ในขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่างเจดีดอทคอม กำลังพัฒนาการใช้หุ่นยนต์ในการขนส่ง เริ่มทดสอบในมหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวควบคุมจากระยะไกลที่ 40 กิโลเมตร และยังให้บริการขนส่งด้วยโดรนในทางตะวันตกของเมืองซีอาน และทางตะวันออกของสู้เชียน มณฑลเจียงซู

การพัฒนาหุ่นยนต์ของจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้นโยบาย “เมด อิน ไชน่า 2025” ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การสนับสนุนผู้ผลิตหุ่นยนต์ในประเทศเข้าซื้อกิจการต่างชาติ เช่น ฟานัค จากญี่ปุ่น และอะเดฟท์ เทคโนโลยี จากแคลิฟอร์เนีย

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ส รายงานว่า ในปัจจุบันรัฐบาลจีนยังคงเข้มงวดด้านการจราจรทางอากาศอยู่ ซึ่งทำให้ยากต่อการนำโดรนออกขึ้นบิน โดยในปัจจุบันมีบริษัทไม่กี่แห่งที่ได้รับใบอนุญาตให้บินโดรนจากรัฐบาลจีน