posttoday

คิวอาร์โค้ดดันพร้อมเพย์โต

18 พฤศจิกายน 2560

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้เวลาก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบแล้วเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

โดย จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในที่สุดประเทศไทยก็ได้เวลาก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบแล้วเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศให้ธนาคาร 5 แห่งผ่านการทดสอบบริการในวงจำกัด หรือที่เรียกว่าอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ โดยเมื่อออกจากแซนด์บ็อกซ์ก็ให้บริการทั่วไปในการใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐานชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านพร้อมเพย์ได้แล้ว

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มีผู้สมัครใช้พร้อมเพย์แล้ว 36 ล้านบัญชี 70% สมัครด้วยบัตรประชาชน 30% เบอร์โทรศัพท์ โดยเป็นนิติบุคคลกว่า 5 หมื่นบัญชี ตั้งแต่เปิดระบบมามียอดใช้บริการแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ยอดเฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาท/รายการ คาดว่าหลังคิวอาร์โค้ดมาตรฐานเปิดใช้ทั่วไป ยอดสมัครและใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์จะเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับร้านค้าที่ต้องการใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ให้ติดต่อธนาคารพาณิชย์ที่ตัวเองใช้บริการ ธนาคารจะพิมพ์คิวอาร์โค้ดมาตรฐานให้ไปติดในร้านค้า ส่วนลูกค้าใช้งานโดยเปิดแอพพลิเคชั่นในมือถือ ใส่รหัสผ่าน กดชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด แล้วนำมือถือมายิงคิวอาร์โค้ดที่ร้านค้า ใส่จำนวนเงินแล้วยืนยันรายการ ซึ่งก่อนยืนยันรายการควรตรวจสอบชื่อร้านค้าและจำนวนเงินให้ดี

นอกจากธนาคาร 5 แห่งที่ให้บริการทั่วไปได้ มีธนาคาร 3 แห่งและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นันแบงก์) อีก 1 แห่งทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต และบริษัท บัตรกรุงไทย ซึ่งคงทยอยออกจากแซนด์บ็อกซ์ตามมา โดยที่ออกจากแซนด์บ็อกซ์ช้ากว่า 5 รายแรกเพราะเวลายื่นขอทดสอบเข้ามาต่างกัน

หลังจากนี้ ธปท.จะเดินหน้าขั้นต่อไป ทดสอบให้บริการคิวอาร์โค้ดมาตรฐานชำระเงินค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต คาดว่าต้นปีหน้าคงใช้งานได้ทั่วไป ส่วนกลุ่มผู้ทำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ต) ที่ต้องการร่วมใช้คิวอาร์โค้ดมาตรฐานได้ ต้องเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ก่อน

คิวอาร์โค้ดดันพร้อมเพย์โต

"ธนาคารที่ผ่านการทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ให้บริการทั่วไปต้องแจ้งข้อมูลมากกว่าช่วงทดสอบ ต้องส่งข้อมูลปริมาณการใช้จ่ายพร้อมรายงานปริมาณธุรกรรมเพื่อให้รู้ว่าทำผ่านช่องทางใดบ้าง ข้อมูลเหล่านี้ส่งเป็นรายเดือน" สิริธิดา กล่าว

นอกจากคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ธปท. เปิดให้บริการระบบกลางบริการชำระบิลข้ามธนาคารวันที่ 18 พ.ย.นี้ บริการนี้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของระบบพร้อมเพย์ทำให้ร้านค้าที่ออกบิล รับชำระบิลแบบข้ามธนาคารได้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีไว้กับทุกธนาคาร ต่างจากการชำระบิลรูปแบบเดิมที่ลูกค้าจะชำระบิลได้เฉพาะธนาคารที่ปรากฏบนใบแจ้งหนี้ ส่วนภาคธุรกิจต้องไปเปิดบัญชีหลายธนาคารให้ลูกค้าสะดวกชำระเงิน

สิริธิดา กล่าวว่า ร้านค้าที่ต้องการใช้ระบบชำระบิลใหม่ให้ติดต่อธนาคารที่ร่วมโครงการ ส่วนประชาชนจะได้ใช้เมื่อใด รอผู้ออกบิลกับธนาคารทยอยแจ้งชื่อผู้ออกบิลที่รองรับ คาดว่าระบบนี้จะทำให้ยอดชำระบิลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้น โดย ธปท.กำหนดว่าหากชำระเงินให้องค์กรการกุศลจะไม่มีค่าธรรมเนียม ถ้าชำระให้ภาคธุรกิจด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท/รายการ ชำระผ่านสาขาธนาคารคิดไม่เกิน 20 บาท/รายการ

"ช่วงแรกคงเห็นการชำระบิล 2 ระบบ เพราะร้านค้าบางแห่งอาจยังไม่เข้าโครงการ ส่วนลูกค้าทำทุกอย่างเหมือนเดิม ทั้งนี้คาดว่าอาจเห็นธนาคารแข่งขันกันโดยคิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าเพดานที่ให้ ปัจจุบันมีธนาคารร่วมโครงการฝั่งให้บริการชำระบิล 10 แห่ง และฝั่งให้บริการแก่ผู้ออกบิล 10 แห่ง" สิริธิดา กล่าว

ด้าน บัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีอื่นทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ 4 รายการ เป็นเทคโนโลยีทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชน 3 รายการ อีกรายการเป็นเทคโนโลยีพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (ไบโอแมตริกซ์) ด้วยการสแกนม่านตา ส่วนจะได้ประกาศใช้ทั่วไปได้เมื่อไหร่ ธปท. คงต้องพิจารณาก่อนว่าได้มาตรฐานสากล ปลอดภัย เชื่อถือได้ ผู้ให้บริการพร้อมคุ้มครองผู้บริโภค และต้องดูความแพร่หลายของเครื่องมือ เช่น การสแกนม่านตา ปัจจุบันยังมีแค่สมาร์ทโฟนรุ่นราคาสูงๆ เท่านั้น

หากเทคโนโลยีทั้งหมดที่กล่าวมาทยอยใช้ปีหน้า จะพลิกโฉมการทำธุรกรรมในไทยให้ต่างจากอดีตอย่างสิ้้นเชิง เข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 อย่างแท้จริง