posttoday

อันดับโลกไทยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารปี60ขยับดีขึ้น

15 พฤศจิกายน 2560

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเผยอันดับด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารของไทยขยับจาก 82 มาอยู่ที่ 78 ของโลก

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเผยอันดับด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารของไทยขยับจาก 82 มาอยู่ที่ 78 ของโลก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้เปิดตัวรายงานประจำปีเรื่องมาตรวัดสังคมสารสนเทศ 2017 (Measuring the Information Society 2017) ซึ่งจะมีการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT Development Index หรือ IDI) ของปี 2560 จาก 176 ประเทศทั่วโลกเพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อของประเทศต่าง ๆ โดยดัชนีดังกล่าวจะประเมินจากดัชนีย่อย 3 กลุ่ม คือ 1.ดัชนีย่อยด้านการเข้าถึงไอซีที (Access sub-index) 5 ตัว 2.ดัชนีย่อยด้านการใช้งานไอซีที (Use sub-index) 3 ตัว และ 3.ดัชนีย่อยด้านทักษะความสามารถด้านไอซีที (Skills sub-index) 3 ตัว ผลปรากฏว่า ประเทศไทยขยับอันดับดีขึ้นโดยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก จากเดิมเมื่อปี 2559 อยู่ที่อันดับ 82

นายฐากร กล่าวว่า การที่อันดับของประเทศไทยในปี 2560 ขยับขึ้นจากปี 2559 เป็นผลจากจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่และการเปิดให้บริการ 3G/4G ครอบคลุมการให้บริการ ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีที่ใช้ในการประเมินเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินการในปี 2561 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล เมื่อโครงการ USO เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ และโครงการUSO เพื่อให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นห่างไกล ของสำนักงาน กสทช. รวมทั้งโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการแล้วเสร็จ ประชาชนในพื้นที่ 74,000 กว่าหมู่บ้าน จะเข้าถึงบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง นอกจากนี้ กสทช. จะจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง รวมถึงการดำเนินการเพื่อสนับสนุน IoT (Internet of Things) ตามที่ กสทช. ได้ประกาศให้ใช้คลื่นเพื่อรองรับการใช้งานด้านนี้แล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงไอซีทีได้มากยิ่งขึ้น

นายฐากร กล่าวว่า ความท้าทายของประเทศไทยที่จะต้องดำเนินการ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนแล้ว กสทช. จะพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีทีของประชาชน ทั้งนี้เมื่อศูนย์ USO NET ของ กสทช. เริ่มเปิดให้บริการจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อให้ความรู้ในการใช้งานกับประชาชน รวมทั้งโครงการเพื่อฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านการใช้งานไอซีทีให้กับประชาชนทั่วประเทศจำนวนจำนวน 500,000 คน ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของแผน USO

“ผมเชื่อว่าการดำเนินการทั้งหมดจะส่งผลให้ดัชนีย่อยทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งดัชนีย่อยด้านการเข้าถึงไอซีที (Access sub-index) ดัชนีย่อยด้านการใช้งานไอซีที (Use sub-index) และดัชนีย่อยด้านทักษะความสามารถ

ด้านไอซีที (Skills sub-index) พัฒนาขึ้น ส่งผลให้อันดับของประเทศไทยขยับขึ้น ในการประกาศการจัดอันดับดัชนีชี้วัดด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ ITU ครั้งต่อๆ ไป”นายฐากร กล่าว