posttoday

รู้จัก 'เสียมลม' นวัตกรรมดูแลต้นไม้เมือง

09 กันยายน 2560

เมื่อไม่นานนี้ ศูนย์อาสาสมัคร Volunteers For Dad และกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามดูผลของการเปิดหน้าดินและพรวนดินต้นมะขามรอบท้องสนามหลวงจำนวน 12 ต้น

โดย สมแขก

เมื่อไม่นานนี้ ศูนย์อาสาสมัคร Volunteers For Dad และกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามดูผลของการเปิดหน้าดินและพรวนดินต้นมะขามรอบท้องสนามหลวงจำนวน 12 ต้น ด้วยการใช้เสียมลม (Air Spade) ที่ทดลองใช้ในพื้นที่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยพบว่าสภาพต้นมะขามมีความสมบูรณ์มากขึ้น เริ่มผลิใบ แตกยอดอ่อน และมีขนาดใบใหญ่ขึ้น แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ต้นมะขามได้รับความเสียหายจากการถูกเทน้ำ เทเศษอาหารลงโคนต้น รวมถึงถูกเหยียบย่ำจนดินอัดแน่น ทำให้บริเวณรากขาดอากาศ ใบเหี่ยวแห้งเกือบยืนต้นตาย

พล.ต.ธานี ฉุยฉาย ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงครั้งแรกของประเทศไทยกับการใช้เสียมลมเพื่อฟื้นฟูต้นมะขามในบริเวณท้องสนามหลวงที่มีอาการป่วยทางระบบราก ผนังกั้นรากไม่สัมผัสออกซิเจน เนื่องจากสภาพดินที่เป็นดินเหนียว ซึ่งได้รับปริมาณน้ำเกินความต้องการ ทำให้ต้นไม้บริเวณสนามหลวงเกิดวิกฤต อีกทั้งดินรอบสนามหลวงก็ถูกอัดแข็ง เป็นอุปสรรคต่อการยืนต้นรอดชีวิตของต้นมะขาม

รู้จัก 'เสียมลม' นวัตกรรมดูแลต้นไม้เมือง

ศ.กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) กล่าวถึงอาการของต้นไม้ป่วย ซึ่งจะมีกลไกการเอาตัวรอด โดยการแตกกิ่งบริเวณกลางลำต้น ซึ่งปกติแล้วจะแตกกิ่งบริเวณยอด การแตกกิ่งกระโดงคือการสะสมแหล่งอาหารจำพวกแมกนีเซียมและโปรตีน ซึ่งหากไม่มีความรู้ โดยทั่วไปมักจะตัดออก นั่นเท่ากับเป็นการตัดแหล่งอาหารของต้นไม้ ซึ่งหลังจากนั้นต้นไม้จะค่อยๆ ตายลงไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ศ.กิตติคุณ เดชา จึงร่วมกับศูนย์อาสาสมัคร (Volunteers for Dad) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงริเริ่มนำเสียมลมมาใช้ในงานฟื้นฟูระบบรากต้นมะขามบริเวณทิศเหนือของท้องสนามหลวง โดยร่วมกับ สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ อภิวรรณ เนียมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.)

โดย ศ.กิตติคุณ เดชา กล่าวว่า การทดลองใช้เสียมลมเปลี่ยนดินให้ต้นมะขามที่สนามหลวง ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้มานานแล้วในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เสียมลมช่วยเป่าดินเดิมออก โดยไม่ทำให้รากเสียหาย แล้วเติมดินและปุ๋ยที่อุดมสมบูรณ์ หวังว่าจะช่วยให้ปู่มะขามฟื้นตัว กระปรี้กระเปร่าสดชื่นในเร็ววัน

รู้จัก 'เสียมลม' นวัตกรรมดูแลต้นไม้เมือง

เสียมลม (Air Spade) มีลักษณะเป็นแท่งคล้ายเครื่องรดปุ๋ย มีวิธีใช้คล้ายกับเสียมธรรมดา คือใช้ในการขุดดิน การทำงานของเสียมลมทำได้ด้วยการใช้แรงดันอากาศขนาดสูงจากเครื่องอัดอากาศขนาดใหญ่ เพื่อใช้พรวนและขุด แต่ที่ดีกว่านั้นคือสามารถเจาะดินได้ ตัดหน้าดินได้ และที่ดีที่สุดเสียมลมจะไม่ทำให้รากกิ่งของต้นไม้เสียหาย

การใช้เสียมลมในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟื้นฟูดินให้ต้นไม้ประวัติศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา เยอรมนีใช้เสียมลมมากว่า 20 ปีแล้ว แต่สำหรับเมืองไทยมีการใช้เสียมลมครั้งแรกกับต้นมะขามที่สนามหลวง เพื่อฟื้นฟูดินเฉพาะต้นที่ยังอยู่ที่สนามหลวง

 การทำงานของเสียมลม คือการใช้แรงดันอากาศขนาดสูง จากเครื่องอัดอากาศขนาดใหญ่ เพื่อใช้พรวนขุดเจาะดิน โดยผู้ที่ใช้เครื่องมือนี้ควรจะมีความรู้ทางด้านชีววิทยา ด้านต้นไม้

เสียมลมนั้นเหมาะกับดินร่วนมากกว่าดินเหนียว แต่สภาพดินใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว จึงต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพดิน ซึ่งวิธีการใช้เสียมลม ซึ่งเป็นเครื่องอัดอากาศขนาดใหญ่ที่ใช้ในการเบาหรือขุดหน้าดิน เจาะดินเก่าออก แล้วเติมดิน ปุ๋ย ที่อุดมสมบูรณ์ แตกต่างจากการเปิดหน้าดินทั่วไปที่จะใช้เสียมตักจนอาจทำให้รากได้รับความเสียหายและอาจยืนต้นตาย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะต้นไม้ในเมือง

รู้จัก 'เสียมลม' นวัตกรรมดูแลต้นไม้เมือง

จากคำแนะนำของ ศ.กิตติคุณ เดชา ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงาน โดยเหล่ารุกขกรและเจ้าหน้าที่เกิดกระบวนการทำงานดังนี้

1.เริ่มจากการใช้เสียมลมเจาะหน้าดินรอบๆ ต้นมะขาม เพื่อให้ดินบริเวณนั้นร่วน ซึ่งพื้นดินส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ นั้นเป็นดินเหนียว 

2.ต่อจากนั้นใช้เสียมลมขุดหลุม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 ซม. ลึกประมาณ 50 ซม. เพื่อให้ต้นมะขามมีอากาศหายใจ

3.ใส่กาบมะพร้าวรองพื้นเพื่อฟื้นฟูสภาพดิน

4.ใส่ดินหมักผสมทรายเพื่อให้โครงสร้างดินเหนียวโปร่งขึ้น