posttoday

อี-วอลเล็ต-โลจิสติกส์เดือด แข่งมัดใจขาช็อปออนไลน์

17 มีนาคม 2560

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยิ่งนับวันยิ่งเติบโต จากพฤติกรรมคนไทยเริ่มช็อปปิ้งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย 

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยิ่งนับวันยิ่งเติบโต จากพฤติกรรมคนไทยเริ่มช็อปปิ้งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจอี-วอลเล็ตและโลจิสติกส์คอมเมิร์ซเริ่มแข่งขันช่วงชิงพื้นที่ที่่ยังไม่มีใครเป็นผู้นำตลาดอย่างจริงจัง

สมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ผู้ให้บริการเติมเงินออนไลน์บุญเติม เปิดเผยว่า ภาพรวมการแข่งขันอี-วอลเล็ตแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่น ปัจจุบันในตลาดมีด้วยกัน 22 แอพ เป็นกลุ่มนันแบงก์ 10 แอพ อาทิเพย์สบาย ทรูมันนี่

ดังนั้น กลยุทธ์หลักที่จะทำให้คนดาวน์โหลดและใช้งาน คือการทำสงครามโปรโมชั่นเพราะผู้บริโภคไม่มีความภักดีและสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้งานได้ฟรี เมื่อเห็นราคาหรือของแถมจูงใจก็พร้อมจะใช้กระเป๋าเงินนั้นจ่ายซื้อสินค้าทันที

สำหรับบริษัทมองว่า จุดแข็งของอี-วอลเล็ตต้องตอบโจทย์การใช้งาน ง่ายและสะดวก และคีย์หลักๆ คือต้องมีบริการชำระเงินเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากกว่า

ขณะที่กลยุทธ์หลักของบริษัทจะมุ่งต่อยอดจากการมีฐานลูกค้าเติมเงินมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และมีตู้เติมเงิน 1.2 แสนตู้ไปสู่ บี-วอลเล็ต หรือกระเป๋าเติมเงินบนแอพพลิเคชั่นของบริษัท เนื่องจากคนไทยมีอัตราครอบครองโทรศัพท์มือถือ 1.76 เครื่อง หรือ 82.8 ล้านเบอร์ คิดเป็น122% ของประชากรทั้งหมด และเริ่มการซื้อสินค้าบนโทรศัพท์มือถือของคนไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

“บี-วอลเล็ตเริ่มขยายบริการเพิิ่มจาก 60 รายการ เป็น 100 รายการในสิ้นปีนี้ ต้องเป็นบริการมากกว่าแค่พื้นฐานของการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ บริษัทเริ่มด้วยการปูพื้นให้ลูกค้าคุ้นชินกับการซื้อเครื่องดื่มผ่านตู้จำนวน1,000 เครื่องของบริษัท โดยผู้ใช้งานซื้อเครื่องดื่มผ่านทางคิวอาร์โค้ด” สมชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคาร เพื่อให้ลูกค้าโอนเงินมายังบี-วอลเล็ตเพิ่มความสะดวกช่องทางเติมเงิน โดยวางเป้าหมายมีผู้ใช้งานบี-วอลเล็ตเพิ่มจาก 2,000 ราย เป็นมากกว่า 1 หมื่นราย 

ด้านยุทธศาสตร์ของเพย์พัลในไทยก้าวแรกคือการผลักดันให้ร้านค้าอี-คอมเมิร์ซที่ทำธุรกิจซื้อ-ขายในตลาดต่างประเทศเปิดเพย์พัลใช้งานก่อน จากปัจจุบันผู้บริโภคที่ใช้เพย์พัลส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าต่างประเทศมากกว่าจะซื้อสินค้าภายในประเทศ

สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการเพย์พัล ประจำประเทศไทย กล่าวว่าพฤติกรรมคนไทยมีแนวโน้มการซื้อขายออนไลน์ข้ามประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยความสะดวกสบาย ประหยัดเงินมากกว่าการซื้อของเงินสดและมีสินค้าให้เลือกมากมาย ทำให้คาดว่าการซื้อขายออนไลน์ข้ามประเทศปีนี้จะเติบโตถึง 84% จากยอดการซื้อสินค้าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การใช้งานเพย์พัลสำหรับการซื้อสินค้าภายในประเทศยังไม่แพร่หลายมีร้านค้าใช้ระบบเพย์พัลยังไม่มาก เพย์พัลจึงต้องมีความพยายามผลักดันให้ร้านค้าต่างๆ หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซใช้เพย์พัลบริการซึ่งเมื่อร้านค้ามีการให้บริการก็จะผลักดันให้ผู้บริโภคใช้งาน ซึ่งเป็นสเต็ปต่อไปของเพย์พัลในไทย

“เราคงไม่ใช่หวังแค่การซื้อขายระหว่างประเทศเท่านัั้น ความเฟื่องฟูโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยมีโอกาสที่เฟซบุ๊กเข้ามาบริการชำระเงินแบบบุคคลต่อบุคคล (P2P)ผ่านแอพพลิเคชั่น เมสเซนเจอร์ เหมือนเช่นอเมริกากับยุโรปก็มีความเป็นไปได้” สมหวัง กล่าว

เมื่อมองถึงระบบโลจิสติกส์เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ นับเป็นอีกหนึ่งตลาดที่ยังมีช่องว่างอีกมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ทุกรายหันมาชูการแข่งขันบริการส่งด่วนถึงมือผู้รับในวันถัดไปในตลาดต่างจังหวัด

ชาร์ลส์ บรูเออร์ ประธานกรรมการบริหาร ดีเอชแอลอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจในกลุ่มบริษัท ดอยช์ โพสต์ ดีเอชแอล กล่าวว่า แนวโน้มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกลุ่มซีทูซีและบีทูซี ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีผู้ประกอบการราวกว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ และคาดว่าอีก 3-5 ปี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่เพิ่ม 3 หมื่นราย โดยเฉพาะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งเป็นตลาดใหญ่และยังโต 30-35%

ทั้งนี้ ดีเอชแอลได้ขยายการให้บริการรับส่งสินค้าถึงที่ รองรับการใช้บริการอี-คอมเมิร์ซในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในอนาคตจะขยายครอบคลุมต่างจังหวัด อีกทั้งยังมีบริการส่งสินค้าระหว่างประเทศหลังมีเอสเอ็มอีที่ส่งสินค้าไปต่างประเทศ 33% และปลายปีจะเปิดบริการขนส่งสินค้าถึงมือผู้รับต่างจังหวัดในวันถัดไป

ชานนท์ กล้าหาญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเน้นการให้บริการส่งสินค้าตามระยะเวลาที่ต้องการเจาะกลุ่มเอสเอ็มอี ล่าสุดได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ภายใน 1 วันในไทย ทำให้ส่งสินค้าได้เร็วกว่าระบบเดิมใช้เวลา 2-3 วัน ด้วยอัตราการขนส่งเริ่มต้น 50-60 บาทขึ้นไป รวมทั้งเปิดบริการเอพีไอ หรือเชื่อมต่อจากบริษัทอี-คอมเมิร์ซ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าระบบจะเชื่อมต่อมาที่บริษัทขนส่งสินค้า ตั้งเป้าหมายการบริการอี-วอลเล็ตคงจะแข่งกันที่ฟีเจอร์ การใช้งานที่ตอบโจทย์ครบทุกด้าน ส่วนโลจิสติกส์คงเป็นการแข่งขันส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว สุดท้ายมีบริการง่าย ครบครัน รวดเร็ว รับรองครองใจขาช็อปคนไทยแน่นอน