posttoday

ยุค 4 แพลตฟอร์ม ครองสังเวียนอี-คอมเมิร์ซ

14 มีนาคม 2560

การเฟื่องฟูของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในเมืองไทย เป็นยุคของการต่อสู้ 4 แพลต ฟอร์มใหญ่

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

การเฟื่องฟูของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในเมืองไทย เป็นยุคของการต่อสู้ 4 แพลต ฟอร์มใหญ่ ได้แก่ มาร์เก็ตเพลสแบรนด์ดอทคอม โซเชียลคอมเมิร์ซ และโมบายคอมเมิร์ซ

ณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยู ผู้ให้บริการบริหารร้านค้าเทพช็อป เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในปีนี้เป็นยุคของการสร้างรากฐานแพลตฟอร์มของตัวเองให้แข็งแกร่งและชัดเจนยิ่งขึ้น รองรับกับพฤติกรรมการยกระดับการซื้อทั้งจาก มาร์เก็ตเพลส แบรนด์ดอทคอม โซเชียลคอมเมิร์ซ โมบายคอมเมิร์ซ ซึ่ง 4 แพลตฟอร์มนี้ผลักดันให้อี-คอมเมิร์ซมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี

สำหรับแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส (E-Marketplace) หรือเว็บไซต์สื่อกลางการติดต่อซื้อ-ขาย แหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ในการรวบรวมข้อมูลผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้าและบริการธุรกิจร้านค้าจำนวนมาก พฤติกรรมของผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าส่วนใหญ่เป็นตลาดแมส ราคาเป็นปัจจัยการตัดสินใจซื้ออันดับแรกๆ ส่งผลให้ตลาดดังกล่าวแข่งขันกลยุทธ์ราคาอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทโดยผู้เข้ามาทำตลาด อย่าง ลาซาด้า อีเลฟเว่นสตรีท เป็นต้น

ในส่วนแบรนด์ดอทคอม หลายคนมองว่าจะทำตลาดยากขึ้น แต่ยังสามารถอยู่ในตลาดและแข่งขันกับมาร์เก็ตเพลสได้ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแบรนด์ดอทคอมยกระดับมากขึ้น ปัจจัยการตัดสินใจซื้อไม่ได้มองที่ราคา ผู้ซื้อสินค้ากลุ่มนี้จะรู้ถึงความต้องการของตัวเอง ว่าซื้อสินค้าอะไร จึงเลือกซื้อแบรนด์ดอทคอมหรือเว็บไซต์ที่ขายสินค้าเฉพาะเจาะจง

“โดยมากแบรนด์ดอทคอมให้ความสำคัญกับการออกแบบเว็บไซต์ เน้นสร้างประสบการณ์ช็อปปิ้งให้เหนือชั้นกว่ามาร์เก็ตเพลส มีรูปสินค้าหมุน 360 องศา หรือเป็นวิดีโอ เมื่อเทียบรายการสินค้าก็มีให้เลือกหลากหลายมากกว่ามาร์เก็ตเพลส จึงคาดว่าแบรนด์ดอทคอมจะเติบโตในไทยได้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการสร้างแบรนด์ดอทคอมจริงจังเหมือนประเทศอื่นๆ”ณัฐวิทย์ กล่าว

ธนานันท์ อรุณรักษ์ติชัย หัวหน้าฝ่ายบีทูซี อี-คอมเมิร์ซ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสวีเลิฟ กล่าวว่า โซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญและอยู่ในอี-คอมเมิร์ซไทยได้อีกนาน จากพฤติกรรมคนไทยที่เคยชินกับการซื้อสินค้าในช่องทางดังกล่าวแล้วในปีนี้รูปแบบการขายสินค้าร้านค้าหันมาไลฟ์วิดีโอหรือถ่ายทอดสด เพื่อให้ลูกค้าสามารถเห็นสินค้าและเพิ่มอรรถรส

ภาพรวมธุรกิจโมบายคอมเมิร์ซ หรือการสั่งซื้อและขายสินค้าและบริการต่างๆบนแอพพลิเคชั่น เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มต้องจับตามอง จากการคาดการณ์ว่าปี 2564จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มจาก 50 ล้านเครื่อง เป็น 80 ล้านเครื่อง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย 44 ล้านคนในช่วง 1 วัน ราว 6.4 ชม. เป็นปัจจัยหนุนทำให้มีแอพพลิเคชั่นสำหรับการช็อปปิ้งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามด้วย เช่น Shopee Sudtook ShopSpot เป็นต้น

เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช็อปปี้ ผู้ดำเนินธุรกิจซื้อขายสินค้าบนโทรศัพท์มือถือ กล่าวว่า ในไทยมีแนวโน้มการซื้อขายสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นเติบโตและเป็นตลาดใหญ่กว่าการซื้อสินค้าออนไลน์บนเดสก์ท็อป เหมือนเช่นในญี่ปุ่น ปัจจัยเติบโตมาจากกลุ่มเจเนอเรชั่นแซดเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ประกอบกับอัตราเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของคนไทยเติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่กลยุทธ์ตลาดของผู้ประกอบการจะทำโปรโมชั่นช่วยกระตุ้นการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้น และสร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักหลากหลายช่องทาง เพราะแอพพลิเคชั่นในปัจจุบันเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือเป็นประจำ 4-5 แอพพลิเคชั่น และจะมีแอพพลิเคชั่นมากที่สุด 8-10แอพพลิเคชั่น ดังนั้นเมื่อลูกค้าดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นโอกาสจะซื้อสินค้าก็มีสูง

ด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ปีนี้มาร์เก็ตเพลสมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทแพลตฟอร์มดังกล่าวเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% อย่างแน่นอน สำหรับแบรนด์ดอทคอมแม้ว่าเป็นตลาดไม่ใหญ่ แต่รอวันพฤติกรรมผู้บริโภคแยกซื้อสินค้า โดยตลาดนี้มีสินค้าอุปกรณ์กีฬา สินค้าสุขภาพและความงาม นาฬิกา เป็นตัวขับเคลื่อนให้กับตลาด ขณะที่เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งาน 44 ล้านคน/เดือน ยังไม่รวมกับอินสตาแกรมหรือทางไลน์ ซึ่งความน่าสนใจของแพลตฟอร์มนี้ คือ การไม่หยุดนิ่งพัฒนาเครื่องมือใหม่ออกมานำเสนอตลอดเวลา

การฟาดฟันของ 4 แพลตฟอร์มบนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ผลักดันให้ตลาดปีนี้มีมูลค่ามากกว่า 2.9 แสนล้านบาท คีย์หลักๆในการแข่งขันเป็นเรื่องของกลยุทธ์ราคา การบริการชำระเงิน ส่งสินค้า และการสร้างความชัดเจน ความมีเอกลักษณ์แต่ละแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน