posttoday

พระธรรมสุธี แนะพระธรรมฑูตให้ศึกษาภาษาถิ่น

10 กรกฎาคม 2554

พระธรรมสุธี อธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ แนะพระธรรมทูต 33 รูป

พระธรรมสุธี อธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ แนะพระธรรมทูต 33 รูป

โดย...สมาน สุดโต

พระธรรมสุธี อธิบดีสงฆ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ แนะพระธรรมทูต 33 รูปที่จะไปปฏิบัติธรรมเชิงลึกในแดนพุทธภูมิเป็นเวลา 99 วัน ว่าต้องศึกษาวิธีการเผยแผ่ก่อนว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ผล อยู่ๆ จะไปเทศน์ เอาธรรมไปยัดใส่ปากเขาไม่ได้ ต้องมีวิธีการและขันติ เพราะต่างประเทศแตกต่างจากเมืองไทย ทั้งอากาศ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและบุคคล

...ต้องรู้ภาษาถิ่นและมีขันติ

การรู้ภาษาท้องถิ่นก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สำคัญ มิเช่นนั้น จะพูดกันไม่รู้เรื่อง หากรู้ภาษาถิ่น จะทำอะไรก็สะดวก สมมติว่าไปเป็นพระธรรมทูตประเทศอังกฤษ ถ้าไม่รู้ภาษาอังกฤษก็หมดทางที่จะสื่อกับคนท้องถิ่นได้ ท่านจึงแนะพระธรรมทูตว่าต้องให้ความสำคัญภาษาในแต่ละประเทศที่จะไป จะช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนได้ดี

ท่านยังบอกว่าเป็นพระธรรมทูตต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อปฏิบัติงาน เพราะต่างประเทศไม่เหมือนเมืองไทย ส่วนงานพระธรรมทูตเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเครื่องบิน เริ่มจากภาษาที่ต้องใช้ในการกรอกเอกสารเข้าเมือง ยิ่งไปประเทศอินเดียต้องทำใจหลายอย่าง อีกทั้งอากาศ อาหารการกินก็ไม่เหมือนเมืองไทย จะอยู่ได้ต้องอาศัยธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ขันติ ความอดทน หากขาดธรรมข้อนี้อยู่ไม่ไหว หากต้องกลับ จะทำให้เสียชื่อพระธรรมทูตไปด้วย

พระธรรมสุธี แนะพระธรรมฑูตให้ศึกษาภาษาถิ่น

นอกจากนั้นต้องอดทนกับกิริยาอาการของคนในประเทศนั้นๆ เพราะต่างชาติไม่รู้ว่าเครื่องแบบที่เราสวมใส่เป็นเพศที่ต้องเคารพ บางทีเขาจะเดินชนเอาด้วย ยิ่งกว่านั้นเห็นการนุ่งห่มจีวร คิดว่าเป็นสตรี จะเข้าห้องน้ำชาย เขาไม่ให้เข้า ต้องชี้แจงกันพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ท่านชมเชยโครงการอบรมพระธรรมทูต ที่ไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศต่างๆ นั้น จะทำให้พระสงฆ์ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างแน่นอน

...โครงการใหญ่

พระราชรัตนรังษี (เจ้าคุณวีรยุทธ์) หัวหน้าพระธรรมทูตไทย สายอินเดีย-เนปาล ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ กล่าวว่า โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหญ่ อะไรที่ใหญ่ต้องเตรียมเพื่อความพร้อม

ท่านพูดถึงคณะพระธรรมทูตที่เข้ารับการปฐมนิเทศก่อนเดินทางไปปฏิบัติธรรมเชิงลึกที่ประเทศอินเดียว่า ขอให้ภูมิใจ เพราะแต่ละท่านเป็นผู้มีสถานะพิเศษ เนื่องจากถูกคัดเลือกจากพระสงฆ์สมณศักดิ์ในระดับนักปกครอง แปลว่าแต่ละท่านอยู่ในสายตาของพระผู้ใหญ่ จึงถูกคัดเลือกมาให้สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ที่มี สุภชัย วีระภุชงค์ เป็นเลขาธิการ รับมาเป็นพระธรรมทูต นำไปถวายพระพุทธเจ้า ไปถวายพระศาสดา ยังแดนพุทธภูมิ

พระราชรัตนรังษีว่า พระธรรมสุธี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ ที่เป็นประธานพิธีเปิดปฐมนิเทศ และให้โอวาทธรรมไปก่อนหน้านั้น คาดหวังพระธรรมทูตชุดนี้ว่าจะเป็นตัวแทนของวัด และของพระสงฆ์ที่เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ จึงไม่ควรให้ท่านผิดหวัง

การไปประเทศอินเดีย แดนพุทธภูมิต่างจากการเดินทางไปประเทศอื่นๆ ไปประเทศอื่นๆ จะพบสัตว์ที่เป็นตัวแทนประเทศนั้น แต่ไปประเทศอินเดียจะพบเห็นศาสดาและศาสนาจำนวนมาก ด้วยว่าอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา ก็ถือกำเนิดในประเทศนี้ การไปฝึกฝนในประเทศนี้จึงเป็นการไปฝึกฝนชั้นเชิงเพื่อเผยแผ่ในเชิงรุก เหมือนนักมวย ก่อนขึ้นเวที ต้องฝึกฝนชั้นเชิงต่างๆ ก่อนขึ้นชก พระธรรมทูตก็เหมือนกัน ต้องมีลีลา และชั้นเชิง เป็นพระธรรมทูตในระดับที่ Export ได้ จึงต้องได้รับการฝึกหัดที่งดงาม

พระธรรมสุธี แนะพระธรรมฑูตให้ศึกษาภาษาถิ่น

พระราชรัตนรังษีให้ความสำคัญในการอบรมพระธรรมทูตที่ไปอินเดียมาก เพราะไปประเทศที่พระบรมศาสดาประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธปรินิพพาน

สายตาชาวพุทธทั่วโลกจะมองไปยังสถานที่ที่พระธรรมทูตไปอยู่ในสายตาผู้สุจริตในธรรมตลอดเวลา ส่วนคณะกรรมการผู้บริหารสถาบันโพธิคยาฯ เป็นผู้ใหญ่และสนับสนุนโครงการ ต่างตั้งความหวังว่าพระธรรมทูตจะเป็นตัวแทนที่ดีของท่าน

การไปอินเดีย ก็เหมือนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ต้องเตรียมพร้อม ไม่ใช่ว่าไปกราบพระพุทธเจ้าอย่างเดียว แต่ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าด้วย ญาติโยมที่สนับสนุนตั้งใจและเสียสละในโครงการนี้ เป็นญาติโยมที่เคยผ่านขบวนการต่างๆ และเคยบวชมาแล้ว ทั้งคุณชัช ชลวร หรือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายที่เป็นเนื้อนาบุญจงยกระดับให้งามยิ่งขึ้น คณะญาติโยมก็จะอนุโมทนา

พระธรรมทูตชุดที่ 3 นี้ จะมีโครงการปลูกต้นไม้ที่มีกล่าวถึงในพุทธประวัติหลายชนิด ที่วัดเชตวัน ประเทศอินเดีย ในวันต้นไม้แห่งชาติ หรือวันเข้าพรรษาปีนี้เป็นกรณีพิเศษด้วย

ต้นไม้ที่นำไปปลูก ได้จากไทยก็มี จากพม่าก็มี เช่นต้นกรัก ที่สมัยโบราณนำมาใช้ย้อมสีจีวรของพระ ต้นจิก ต้นราชายตนะ ต้นกากะทิง ต้นหว้า หรือชมพู ต้นมะรุม ต้นกุ่มบก และต้นสมอ เป็นต้น

ส่วนพระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ประธานโครงการส่งเสริมพระสงฆ์รุ่นที่ 3 กล่าวถึงบทบาทพระธรรมทูตที่ไปอบรมเชิงลึกว่า การที่มีโครงการนี้จะทำให้คุณภาพพระธรรมทูตเพิ่มขึ้น ทั้งด้านวิชาการและประสบการณ์ การรู้จักพุทธสถานจากสถานที่จริง รู้จักสังเวชนียสถานในแดนพุทธภูมิอย่างลึกๆ จะทำให้ซาบซึ้งข้อธรรม หรือพระสูตรที่ตรัสในที่นั้นๆ ว่า มีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไร เมื่อกลับมาจะได้นำหลักธรรมที่ศึกษามาประกาศเพื่อเพิ่มพูนศรัทธาและปัญญาแก่มวลชนทุกหมู่เหล่า ตลอดถึงเยาวชน เพื่อจะได้เป็นคนมีคุณภาพ เป็นทายาทดูแลพระพุทธศาสนาต่อไป

พระธรรมทูตชุดนี้จะเดินทางไปปฏิบัติที่อินเดียตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-15 ต.ค. 2554 สนับสนุนโดยวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980

...สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980

พระธรรมสุธี แนะพระธรรมฑูตให้ศึกษาภาษาถิ่น

ชมรมโพธิคยาวิชชาลัย 980 เกิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินภารกิจหนุนเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนา โดยมีคุณชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานชมรมฯ คุณสุภชัย วีระภุชงค์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยนครพัฒนา เป็นเลขาธิการชมรม และนำมูลนิธิวีระภุชงค์เข้าร่วมสนับสนุนงานอีกแรงหนึ่ง

โครงการส่งเสริมพระสงฆ์ไทยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมเชิงลึก ณ แดนพุทธภูมิ จัดมาเป็นรุ่นที่ 3 โดยการสนับสนุนของกลุ่มพระนวกะที่เดินทางมาบรรพชาอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิในโครงการบรรพชาอุปสมบทเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ประเทศอินเดีย

นอกจากนั้น คุณฉันทวัธน์ วรทัต ผู้อำนวยการหลักสูตร ได้นำคณะ บ.ย.ส. รุ่นที่ 12-15 เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมโพธิคยาฯ ในระยะต่อมา

...หลักสูตรพุทธภูมิศึกษา

คณะพระธรรมทูตที่ไปปฏิบัติธรรมเชิงลึกต้องศึกษาอบรมหลักสูตร ที่เน้นไปที่การศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก เน้นวิเคราะห์หลักพระธรรมคำสอนเพื่อนำไปใช้ในการเผยแผ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย โดยนำไปสู่การศึกษาเชิงปฏิบัติการในสถานที่จริงในพุทธประวัติ ตามแนวทางใน “หลักสูตรพุทธภูมิศึกษา” ของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 โดยมีการเดินทางไปศึกษาเชิงปฏิบัติการในพุทธสถานต่างๆ ดังนี้

ครั้งที่ 1 เดินทางไปอุทยานลุมพินีวัน สถานที่ประสูติและพุทธสถานในเนปาล เช่น กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงเทวทหะ และรามคาม เป็นต้น

ครั้งที่ 2 เดินทางไปกรุงสาวัตถี พระเชตวันมหาวิหาร และสถานที่สำคัญตามพระสูตร เช่น เจดีย์ยมกปาฏิหาริย์ สถูปพระสารีบุตร วัดบุปผาราม เป็นต้น

ครั้งที่ 3 เดินทางไปพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ กรุงราชคฤห์ นาลันทา และสถานที่สำคัญตามพระไตรปิฎก เช่น ถ้ำสัตตบรรณคูหา สถานที่กระทำสังคายนาครั้งที่ 1 วัดป่ามหานครวัน นครไพสาลี เป็นต้น

ครั้งที่ 4 เดินทางไปพาราณสี สักการะสถานที่ปฐมเทศนา ชมพิพิธภัณฑ์สารนาถ เจาคัณฑีสถูป และแม่น้ำคงคา เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางสถาบันยังจัดให้มีรายวิชาอื่นๆ ที่ช่วยหนุนเสริมให้การอบรมพระธรรมทูตในครั้งนี้ครบประโยชน์ยิ่งขึ้น

พระธรรมทูตที่ได้รับการคัดเลือกมาจากภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน กทม. มีพรรษา 5 อย่างต่ำ และอายุ 30 ปีขึ้นไป ความรู้อย่างต่ำปริญญาตรี น.ธ.เอก มีน้ำใจ และเสียสละ มีประสบการณ์ด้านการเผยแผ่มาแล้ว

สิ่งที่ชมรมโพธิคยาฯ 980 คาดหวังคือ พระสงฆ์ไทยที่เดินทางไปศึกษา ปฏิบัติและเห็นของจริง เมื่อเดินทางกลับมาแล้ว จะได้นำความรู้ดังกล่าวมาสั่งสอนพุทธศาสนิกชน และผู้สนใจในประเทศไทยให้รักและหวงแหนพระพุทธศาสนาต่อไป