posttoday

ยกโบสถ์ ลอดใต้ถุนโบสถ์อายุ 264 ปี วัดนาคปรก อัศจรรย์ ยิ่งนัก

12 มิถุนายน 2554

การบูรณะปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุทางศาสนา มีบางเรื่อง บางอย่าง

การบูรณะปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุทางศาสนา มีบางเรื่อง บางอย่าง

โดย....สมาน สุดโต

การบูรณะปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุทางศาสนา มีบางเรื่อง บางอย่าง เป็นเรื่องเหลือเชื่อ อย่างเช่นการยกพระอุโบสถสมัยกรุงศรีอยุธยา อายุ 264 ปี ของวัดนาคปรก ถนนเทอดไท แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ให้พ้นจากน้ำท่วม ที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ในขณะนี้

ลอดโบสถ์

ถ้าหากมองด้วยสายตาคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะอุโบสถสร้างด้วนอิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ส่วนพื้นเป็นพื้นคอนกรีต ปูหินอ่อน แต่ชื้นแฉะเพราะน้ำใต้ดินซึมขึ้นมาตลอด ในขณะที่ภายในยังมีพระประธานตั้งอยู่บนฐานชุกชีขนาดใหญ่ เพิ่มน้ำหนักขึ้นไปอีก แต่ด้วยความสามารถของช่าง และวิสัยทัศน์ของจ้าอาวาส พระครูวรกิตติโสภณ (หลวงพ่อเศรษฐกิจ) ทำให้พระอุโบสถที่เตี้ย ชุ่มแฉะ จะกลายเป็นพระอุโบสถ 2 ชั้น โดยไม่ต้องรื้อสร้างใหม่ (ถึงจะรื้อก็ทำไม่ได้ เพราะกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนวัดนาคปรกเป็นโบราณสถาน เมื่อ 13 ธันวาคม 2520)

ยกโบสถ์ ลอดใต้ถุนโบสถ์อายุ 264 ปี วัดนาคปรก อัศจรรย์ ยิ่งนัก

 

ก่อนที่จะดำเนินการยกอุโบสถนั้น ทางผู้รับเหมา ขุดเจาะฐานล่างอุโบสถ ลึกลงไปประมาณ 2 เมตร กลายเป็นโบสถ์มีใต้ถุนสามารถเดินลอดได้ ทำให้ผู้คนชาวพุทธที่ได้ยินกิตติศัพท์ว่าลอดใต้ถุนโบสถ์ ได้บุญ หมดเคราะห์หมดโศก จึงมาซื้อดอกไม้ธูปเทียนเป็นพุทธบูชาเดินลอดโบสถ์กันตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 พระครูวรกิตติโสภณ (หลวงพ่อเศรษฐกิจ) เจ้าอาวาสวัดนาคปรก ได้เมตตาพาผู้เขียนเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของช่างพร้อมทั้งพาลอดใต้ถุนโบสถ์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

ทางช่างได้สร้างตอหม้อ เทพื้นและคานรองรับ ใต้ถุนโบสถ์ และโดยรอบเพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัว ขณะที่เครื่องไดรโว สูบน้ำที่ซึมตลอด โดยหลวงพ่อว่าถ้าไม่ใช้เครื่องสูบ น้ำจะท่วม ถึงพื้น ท่านพระครูเล่าว่าก่อนที่จะตัดสินใจยกนั้น พื้นโบสถ์แฉะ นั่งไม่ได้

ยกโบสถ์ ลอดใต้ถุนโบสถ์อายุ 264 ปี วัดนาคปรก อัศจรรย์ ยิ่งนัก

พิธีการยกโบสถ์เป็นปฐมวาระ จะดำเนินการวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 เวลา 16.30 น.ตามแผนการแล้วจะยกสูงจากพื้น 5เมตร ใช้งบจ้างผู้รับเหมา 5 ล้านกว่าบาท คาดว่าจะใช้เวลายกประมาณ 8 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ

หลวงพ่อพาชมการเตรียมการยกโบสถ์ พร้อมกับชี้ดูสภาพโบสถ์ที่เตี้ยลงไป เทียบกับซุ้มพัทธสีมาที่ปกติแล้วจะสูงไม่ต่ำกว่า 1.50 เมตร แต่ขณะนี้ซุ้มพัทธสีมากับพื้นอยู่ในระดับเดียวกัน

หลวงพ่อว่าสภาพโครงสร้างโบสถ์แต่เดมิเป็นท้องเรือสำเภา ตามสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อยกขึ้นไปจะทำให้เป็นท้องสำเภาเหมือนเดิม

จากนั้นหลวงพ่อพาเข้าไปในอุโบสถเพื่อกราบพระประธาน และชมภาพฝาผนังที่เขียนเป็นเครื่องตั้งบูชาแบบจีน เต็มทุกด้าน และมีพิเศษที่ด้านหลังพระประธาน เหนือภาพเขียนเครื่องตั้งบูชาเป็นภาพเขียนเทวดา หรือเซียนแบบจีน

ยกโบสถ์ ลอดใต้ถุนโบสถ์อายุ 264 ปี วัดนาคปรก อัศจรรย์ ยิ่งนัก

ที่บานประตูอุโบสถเคยเป็นรูปมังกรจีน ยังมีรอยให้เห็นแต่ถูกทาสีทับลงไป หลวงพ่อพระครูว่าช่างกรมศิลปากรเห็นแล้วสามรถเขียนให้กลับเหมือนเดิมได้

จากนั้นพาชมวิหาร ที่ประดิษฐานพระนาคปรกองค์ใหญ่ที่หล่อด้วยนวโลหะแทนองค์เก่าที่ปั้นด้วยปูน ส่วนองค์พญานาคก็สร้างขึ้นใหม่

รอบ ๆ พระวิหารได้สร้างพระพุทธรูปประจำราศีปีเกิด พร้อมรูปจำลองเทวดาให้ผู้ที่เกิดปีนั้น ๆ ได้บูชาเพื่อความเป็นศิริมงคล พระพุทธรูปประจำราศีปีเกิดนี้ สร้างตรงตามตำราที่มีมาแต่โบราณ พร้อมกับคาถาบูชาจารึกไว้แต่ละองค์ด้วย

จากวิหารไปชมมณฑป ที่ชั้นล่างกำลังสร้างที่เก็บอัฐิ ที่เป็นตู้กระจก ปิดทองสวยงาม ณ ใต้มณฑปนี้เคยเป็นบ่อน้ำมนต์ที่หลวงปู่ชู เจ้าอาวาสองค์ก่อนสร้างไว้ให้ประชาชนมาตักไปอาบไปดื่ม เพราะหลวงปู่ชูท่านมีชื่อเสียงเรื่องทำน้ำมนต์มาก เมื่อสิ้นหลวงปู่ชู บ่อน้ำมนต์ใต้มณฑปก็กลายเป็นบ่อน้ำที่คนเอาเต่ามาปล่อยบ้าง การถ่ายเทน้ำไม่ดี ทำให้สกปรก จึงแก้ปัญหาด้วยการถมปรับพื้นที่ให้สูงขึ้น สร้างคอนโดเก็บอัฐิเป็นช่อง ๆแต่ละช่องทางวัดจัดโถเบญจรงค์ลายวัดนาคปรกสำหรับใส่อัฐิให้ด้วย ช่องใหญ่ราคา 1 ล้านบาท ช่องเล็กราคา 50,000 บาท ถ้าหากมีคนจองทั้งหมด จะได้เงินประมาณ 10 ล้านบาท

ด้านบนมณฑป เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่ชู และอดีตเจ้าอาวาส แวดล้อมด้วย พระประจำวันเกิด และรูปปั้นเทวดาส่วนพระประจำราศีเดือนเกิดจะสร้างไว้รอบ ๆ อุโบสถ (รอบ ๆ วิหารเป็นพระประจำราศีปีเกิด)

ประวัติวัดนาคปรก

ข้อมูลของวัดบอกว่า วัดนาคปรกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2291 รัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ (ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา 19 ปี) เป็นช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย

เป็นวัดที่ชุมชนร่วมกันสร้างขึ้น มีชื่อเดิมว่าวัดปก เนื่องจากตั้งอยู่กลางสวน เหมือนป่าปกคลุม หรือปกไว้ ต่อมาเสื่อมโทรมโดยเฉพาะอุโบสถ เมื่อถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เจ้าสัวพุก แซ่ตัน (พระบริบูรณ์ธนากร) และภรรยาซึ่งเป็นคนไทย ได้บูรณะอุโบสถ ให้ช่างฝีมือจากเมืองจีน เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเครื่องมงคลจีน และเครื่องไหว้ต่าง ๆ เป็นศิลปะจีนแบบมหายาน พร้อมกับขอพระราขชทานพระพุทธรูปสุโขทัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงให้รวบรวมจากหัวเมืองต่าง ๆ มาเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิม

พระพุทธรูปองค์นี้ มีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าเจ้าสัว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่มีความงดงามยิ่ง

หลังจากสมัยเจ้าสัวพุก การบูรณะพระอุโบสถมาดำเนินการอีกครั้งราว พ.ศ. 2506-2525 ในช่วงที่พระครูศรีพัฒนคุณ เป็นเจ้าอาวาส ช่วงนั้นมุงหลังคาใหม่ ซ่อมฝาผนัง และปูพื้นหินอ่อน และครั้งนี้ พ.ศ. 2554 ในสมัยพระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ) เป็นการบูรณะแบบพลิกโฉม หากแต่คงลักษณะของโบราณไว้ นั่นคือยกสูขึ้น 5 เมตร กลายเป็นโบสถ์ 2 ชั้น ซึ่งดำเนินการทั้งหมด ได้รับความเห็นชอบจากกรมศิลปากร

อบรมธรรมะ

วันที่ผมไปวัดนาคปรก พระคูวรกิตติโสภณ เป็นประธานเปิดอบรมนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 จากโรงเรียนซางตาครูซ คอนแวนต์ ซึ่งนอกจากความเมตตาแล้ว ลีลาและศิลปะการถ่ายทอดทำให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ฟังเรื่องที่พระคูวรกิตติโสภณ อย่างตั้งอกตั้งใจ

ก่อนที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่แฝงคติธรรมคำสอน และประวัติของวัด พระครูวรกิตติโสภณ ได้นำนักเรียน ซึ่งเรียนในโรงเรียนศาสนาคริสต์ ไหว้พระ สวดมนต์ และสมาทานศีล 5 ซึ่งนักเรียนทำได้สมบูรณ์ตามประเพณีชาวพุทธที่ดีได้เยี่ยมยอดมาก

พระครูวรกิตติโสภณ ซึ่งเป็นนักสอนกรรมฐาน สอนนักเรียนวันนั้นก็เป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ฟังแล้วจำไม่รู้ลืม เช่นท่านบอกว่านักเรียนชุดนี้เป็นรุ่นแรก ก็ควรเป็นด็อคเตอร์กันทั้งหมด เมื่อถามว่าใครอยากเป็นด๊อกเตอร์ นักเรียนชายหญิงตอบพร้อมกันว่าอยากเป็น หลวงพ่อจึงบอกวิธีง่าย ๆ ว่าถ้าอยากเป็นด๊อกเตอร์ต้องมีคาถาไว้เสก แล้วบอกให้เด็กนักเรียนพูดตามว่า เด็กดี คือเด็กไม่ดื้อ เด็กดื้อ คือเด็กไม่ดี พ้อมกับบอกให้นักเรียนนำไปเสกให้ตนเองทุกเช้าทุกเย็นโดยใช้ 2 มือลูบหน้าแล้วเสกคาถาเด็กดี คือเด็กไม่ดื้อ จะทำให้เด็กมีตนเป็นพึ่งของตน ตรงกับพุทธภาษิตว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน

ท่านได้อธิบายความหมายของเด็กดีว่าต้องเชื่อฟังที่ครูอาจารย์สอน ส่วนที่คนอื่น ๆ พูดนั้นฟังไว้ก่อนโดยไม่ต้องเชื่อเสียทั้งหมด เพราะบางคนนั้นปากหวานใจขม ดังมีข่าวว่าสตรีคนหนึ่งพูดดีกับแม่ของเด็กแล้วอุ้มลูกหนีไปเลย จัดว่าเป็นพวกปากหวาน ใจขม

จากนั้นพระครูเล่า ความความหมายของนาคปรกตามพุทธประวัติว่ามีพระยานาคชื่อมุจรินทร์มาแผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าให้พ้นจากฝนที่ตกตลอด 7 วัน ในขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข ต่อมาจึงความนิยมสร้างพระพุทธรูปที่มีพญานาค 7 เศียร แผ่พังพานเหนือเศียรพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่าพระนาคปรก

เมื่อท่านเล่าว่าเจ้าสัวพุก บูรณะวัดเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยาที่เป็นคนไทย จึงเล่าถึงที่มาของคำเจ้าสัวว่า น่าจะมาจากคำว่าจ๋อบวกกับสัว จ๋อ แปลว่านั่ง สัว แปลว่าภูเขา จ๋อสัว แปลว่านั่นพิงภูเขา มั่นคงดี แต่นักการเมืองแปลความหมายว่า นั่งบนภูเขา อิ่มเหมือนทะเล (เพราะโกงกิน)

หลวงพ่อเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวัดว่า มาไหว้พระวัดนี้ มีอานิสงส์ ได้รับความคุ้มครองจากคุณพระรัตนไตร ผู้ไหว้จะไม่ได้รับความทุกข์ความโศกและอุปสรรค ดังที่ศิษย์ของหลวงพ่อที่เป็นชาวสิงคโปร์ กับครอบครัว เคยเรียนวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อที่สหรัฐอเมริกา มาที่วัดไหว้หลวงพ่อนาคปรก กลับไปทำงานหากมีปัญหาและอุปสรรคจะอธิษฐานถึงหลงพ่อนาคปรก ปัญหาก็หมดไป

หลวงพ่อมีลูกศิษย์มาก เพราะไปสร้างวัดต่างประเทศไว้แยะ ที่อเมริกา นิวซีแลนด์ (2 วัด) และที่อินเดียก็ได้ไปช่วยไว้หลายวัด

พระราชรัตนรังษี (เจ้าคุณววีรยุทธ์) พระธรรมทูตมีชื่อเสียงโด่งดังในอินเดีย เนปาลนั้น เคยเป็นพระประจำที่วัดนี้มาก่อน

ในฎีกาโฆษณาเชื้อเชิญประชาชนมาร่วมทำบุญยกโบสถ์จึงมีชื่อพระราชรัตนรังษี เป็นประธานในงานยกโบสถ์ และเป็นประธานศรัทธาและสะพานบุญนำคณะศิษย์สายบุญจากพุทธภูมิมาร่วมลงขันทำบุญยกโบสถ์เก่า รับบุญใหม่ เพื่อกายพ้นภัย ใจพ้นทุกข์