posttoday

วัดสระเกศฯจัดพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุย้อนอดีตสมัยร.5

18 พฤษภาคม 2554

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2554 จะมีขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง หรือบรมบรรพต วัดสระเกศดังที่เคยจัดขึ้นเมื่อปี2442

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2554 จะมีขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง หรือบรมบรรพต วัดสระเกศดังที่เคยจัดขึ้นเมื่อปี2442

โดย...สมาน สุดโต

เวลา 19.00 น. วันที่ 17 พ.ค. 2554 จะมีขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง หรือบรมบรรพต วัดสระเกศ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเมื่อ วันวิสาขบูชา พ.ศ. 2442 หรือ 112 ปีมาแล้ว พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จึงเชิญชวนชาวพุทธให้มาร่วมงานเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะ 112 ปี ครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะได้ใกล้ชิดพระบรมสารีริกธาตุ สมัย ร. 5 พ.ศ. 2442

ภูเขาทอง

วัดสระเกศ ตั้งอยู่ปากคลองมหานาค เป็นวัดโบราณเดิมชื่อวัดสระแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่าวัดสระเกศ

ส่วนพระบรมบรรพตนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระปรางค์ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแต่ไม่สำเร็จ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงเป็นภูเขา ก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด มีระเบียงรอบเรียกว่าบรมบรรพต แต่พระเจดีย์ซึ่งเป็นทรงกลม สร้างเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5

ขนาดของภูเขาทองวัดโดยรอบ 500 เมตร (8 เส้น 5 วา) สูง 100 เมตร (1 เส้น 19 วา 2 ศอก) มีบันได 344 ขั้น เวียนขึ้น ด้านทิศเหนือและทิศใต้

วัดสระเกศฯจัดพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุย้อนอดีตสมัยร.5 ภูเขาทอง

การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงจัด 2 ครั้งแรก พ.ศ. 2420 โดยอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง และครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2442 เมื่ออุปราชแห่งประเทศอินเดียได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบที่เมืองกบิลพัสดุ์มาทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สมโภชและอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์บนยอดภูเขาทองนี้

ในการไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศอินเดียนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาสุขุมนัยวินิจ (ปั้น สุขุม ต่อมาเป็นเจ้าพระยายมราช) และหลวงพินิจอักษร เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุบางส่วนให้แก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เพื่อนำไปสักการบูชา ต่อมาใน พ.ศ. 2551 ทางทายาทเจ้าพระยายมราชได้อัญเชิญมาถวายแด่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เนื่องจากเห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุควรจะได้บรรจุรวมไว้ในที่เดียวกัน

ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งที่ทายาทของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ต้นราชสกุล ชุมสาย ที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับอุปราชอินเดีย ในการทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระราชทานให้ไว้บูชาส่วนหนึ่ง และเป็นทายาทของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ได้นำมาถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงได้อัญเชิญประดิษฐานพร้อมกัน

พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปประดิษฐานบนยอดภูเขาทอง วันที่ 17 พ.ค.นี้ จะทำพิธีเหมือนเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ทรงอัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อ 112 ปีที่แล้ว แต่จะมีลักษณะพิเศษ คือ ทางวัดจะบรรจุแบบใส ให้ประชาชนได้มองเห็นและสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่มีอายุ 2554 ปี ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เห็นความมหัศจรรย์ของหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้บรรลุ จนสามารถเปลี่ยนพระอัฐิธรรมดาให้กลายเป็นพระธาตุ

พบพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุที่อุปราชอินเดียทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ 5 นั้น หนังสือเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ ของกรมศิลปากร กล่าวว่า ในพุทธศักราช 2441 รัฐบาลอินเดียได้ขุดพบผอบพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับเครื่องบูชาบรรจุรวมอยู่ในหีบศิลาฝังอยู่ในพระสถูปที่หมู่บ้านปิปราห์วะ เมืองบาสติ มีจารึกอักษรพราหมี อายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 2-4 ระบุว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า

สิ่งของที่พบรวมอยู่ในหีบศิลาที่บรรจุผอบ เช่น แผ่นทองคำ รูปบุคคล แผ่นทองคำดุนเป็นรูปช้าง แผ่นทอง แผ่นเงินทำเป็นเครื่องหมายมงคล เป็นต้น

ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันเพ็ญวิสาขะ พ.ศ. 1 ครั้นล่วงมา 7 วัน บรรดาพุทธสาวก และมัลลกษัตริย์ แห่งกรุงกุสินารา ประชาชน ตลอดถึงเทพเทวาอารักษ์ ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์

หลังจากถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว มัลลกษัตริย์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ายังพระนครประดิษฐานเหนือบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ต่อมากษัตริย์และพวกพราหมณ์ในแว่นแคว้นต่างๆ ได้แก่ พระเจ้าอชาตศัตรู แห่งกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ กษัตริย์ลิจฉวี แห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี

กษัตริย์ศากยะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กษัตริย์ถูลิยะแห่งแคว้นอัลลกัปปะ กษัตริย์โกลิยะ แห่งแคว้นรามคาม พราหมณ์แห่งแคว้นเวฏฐทีปกะ และกษัตริย์มัลละแห่งนครปาวา มีความศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างแน่นแฟ้น ต่างก็ประสงค์ที่จะได้พระบรมสารีริกธาตุไว้สักการบูชา จึงส่งพระราชสาส์นมายังมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ในบ้านเมืองของตน

ฝ่ายมัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินาราก็อ้างสิทธิว่าพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิงในเมืองกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจึงควรจะเป็นของพระนครกุสินาราเท่านั้น กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 7 นครจึงยกกองทัพมาประชิดหมายจะชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุไปเป็นส่วนของตนบ้าง

บทบาทโทณพราหมณ์

ยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า โทณะ เป็นอาจารย์ของบรรดาผู้ที่เกิดในวรรณะกษัตริย์แคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีป ดำริว่า “กษัตริย์ทั้งหลายนี้มากระทำซึ่งยุทธ์แก่กันและกันในที่ปรินิพพานแห่งพระศาสดาจารย์ฉะนี้บ่มิได้สมควร ต้องหาทางระงับ จึงได้ห้ามปรามกษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 นคร มิให้วิวาทกัน ตัวพราหมณ์รับอาสาที่จะเป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทุกนคร

ระหว่างที่โทณพราหมณ์กำลัง “ตวงพระธาตุ” บรรดากษัตริย์และพราหมณ์ที่ประชุมอยู่ในที่นั้นต่างพากันโศกเศร้ารำลึกถึงพระพุทธเจ้า โทณพราหมณ์เห็นเป็นโอกาสจึงลอบหยิบเอา “พระทาฒธาตุ” หรือพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวาซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ คัมภีร์พระปฐมสมโพธิกถา (2537 : 481-482) พรรณนาถึงเหตุการณ์ลำดับต่อไปว่า

“ส่วนสมเด็จอัมรินทราก็ทอดทัศนาด้วยทิพย์จักษุญาณพิจารณาว่า พระทักษิณทาฒธาตุเบื้องบนแห่งพระทศพลนั้น บุคคลผู้ใดนำเอาไป ก็ทรงเห็นแจ้งว่ามิใช่ใครผู้อื่น คือตัวโทณพราหมณ์ผู้แจกพระบรมธาตุนั้นลอบลักเอาพระทักษิณทาฒธาตุขึ้นซ่อนไว้ในระหว่างแห่งผ้าโพกของอาตมา จึงทรงพระจินตนาว่า พราหมณ์ผู้นี้บ่มิอาจกระทำสักการะวิธีสมควรแก่พระทาฒธาตุ ควรอาตมะจะนำมาบูชาในสุราลัยเทวโลก ทรงพระอาโภคดังนี้แล้ว ก็ลงมาถือเอาซึ่งพระทักษิณทันตทาฒธาตุนั้นจากผ้าโพกแห่งโทณพราหมณ์ ประดิษฐานในสุวรรณโกศแล้วก็อัญเชิญไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก บรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์”

วัดสระเกศฯจัดพิธีประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุย้อนอดีตสมัยร.5 พระวิจิตรธรรมาภรณ์

ครั้นโทณพราหมณ์ตวงพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายให้แก่พระนครต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ไม่พบพระทันตธาตุที่ตนซุกซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะจึงขอเอา “โทณะ” หรือทะนานทองที่ใช้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น นำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้สักการบูชา หลังจากโทณพราหมณ์แบ่งสันปันส่วนพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้วกษัตริย์มัลละแห่งนครกุสินารา ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แต่เนื่องจากพระบรมธาตุได้แจกจ่ายแก่เมืองต่างๆ ไปหมดแล้ว จึงมอบพุทธสรีรางคาร อันได้แก่เถ้าถ่านจากการถวายพระเพลิงให้ไปเป็นที่สักการะ

สถูปพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อกษัตริย์และพราหมณ์จากพระนครทั้งหลายได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุแล้วก็นำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ในที่ต่างๆ 8 แห่ง ได้แก่
พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

กษัตริย์ลิจฉวี ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี

กษัตริย์ศากยะ ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่กรุงกบิลพัสดุ์

กษัตริย์ถูลิยะ ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นอัลลกัปปะ

กษัตริย์โกลิยะ ทรงนำไปก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นรามคาม

พราหมณ์เวฏฐทีปกะ ก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่แคว้นเวฏฐทีปกะ

กษัตริย์มัลละ แห่งนครปาวา ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ในนครปาวา

กษัตริย์มัลละ แห่งนครกุสินารา ทรงก่อพระสถูปบรรจุไว้ที่นครกุสินารา

นอกจากพระสถูปทั้ง 8 แห่ง ยังมีพระสถูปที่สร้างขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุอีก 2 แห่ง คือ

กษัตริย์โมริยะ ทรงก่อพระสถูปบรรจุพุทธสรีรางคารไว้ที่โมรีนคร

โทณพราหมณ์ ก่อพระสถูปบรรจุทะนานทองที่นครกุสินารา

ต่อมาพระมหากัสสปเถระพิจารณาเห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุจะเป็นอันตรายพรัดพรายไปจึงทูลเกล้าฯ ขอให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทำ “ธาตุนิธาน” เพื่อเก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้ในสถานอันควรที่กรุงราชคฤห์ โดยพระมหากัสสปเถระได้รวมเอาพระบรมสารีริกธาตุจาก 6 นคร เว้นไว้แต่รามคามแห่งเดียว ไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูสร้างพระสถูปบรรจุเป็นการลับ มิให้มีผู้ใดล่วงรู้ ยังมีหลักฐานให้เห็นปัจจุบันที่กรุงราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ กล่าวตอนท้ายว่า การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาในสมัยรัชกาลที่ 5 มาประดิษฐานที่เดียวกันทั้งหมด ในพระเจดีย์บรมบรรพต นับเป็นมงคลยิ่ง นอกจากตรงกับวันวิสาขบูชา แล้ว ยังเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา และพระพุทธศาสนาขึ้นสู่ศตวรรษที่ 26 จึงเชิญชวนผู้ศรัทธามาบูชาสักการะและชมพระบรมสารีริกธาตุของแท้ได้ทุกวันเพื่อความเป็นสิริมงคลแห่งตน