posttoday

ธรรมจักรบูชา ธรรมยาตรา สู่มาฆบูชาโลก ณ ชมพูทวีป (๖)

07 กุมภาพันธ์ 2553

การจัดงานมาฆบูชาโลกในครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปให้คืนกลับมาให้ดำรงอยู่

การจัดงานมาฆบูชาโลกในครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปให้คืนกลับมาให้ดำรงอยู่

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโส

ดิฉันได้ทราบมาว่า ในเดือนก.พ.นี้จะมีงานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ๒ งานใหญ่ คือ งานปฏิบัติกรรมฐาน ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ในวันที่ ๑ ก.พ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๕ ก.พ. ๒๕๕๓ แล้วต่อด้วยธรรมยาตรา สู่เมืองราชคฤห์ ในวันที่ ๖ ก.พ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๙ ก.พ. ๒๕๕๓ ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของหลวงพ่อ

นอกจากนี้ จะมีงานมาฆบูชาโลกซึ่งถือเป็นงาน “รวมพลังชาวพุทธสู่ความเป็นหนึ่ง เนื่องในวันมาฆบูชา” จัดโดยมหาโพธิสมาคมของอินเดียในวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๒๘ ก.พ. ๒๕๕๓ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์

ขอกราบเรียนหลวงพ่อเมตตาให้ความกระจ่างชัดว่า ทั้งสองงานนี้มีความเป็นมา และมีความสำคัญในทางธรรมอย่างไร สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสไป จะได้มีส่วนร่วมในมหากุศลนี้อย่างไร

กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่ง

จันทร์เพ็ญ ตูเทศานันท์

วิสัชนา : ซึ่งชาวพุทธเราเรียกวันดังกล่าวอีกชื่อหนึ่งว่า “จาตุรงคสันนิบาต” อันประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ

เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ อยู่ในมาฆฤกษ์

ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

ภิกษุที่ร่วมประชุมล้วนเป็นพระอรหันตขีณาสพ 

ผู้ได้อภิญญา ๖
 ภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา

(พระพุทธเจ้าประทานให้บวชด้วยพระองค์เอง)

โดยนัยความสำคัญในการประชุมครั้งนี้ นอกจากพระพุทธองค์จะได้ทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์แล้วนั้น พระพุทธองค์ยังได้ทรงสถาปนาพระสารีบุตรเถรเจ้าและมหาโมคคัลลานะเถรเจ้าเป็น “คู่อัครสาวก” ในพระพุทธศาสนา ดังนั้นความสำคัญของวันมาฆบูชาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการประกาศสถาปนาความมั่นคงแข็งแรงของพระพุทธศาสนา เพื่อความสืบเนื่องต่อไป ตามพระพุทธประสงค์ มีการจัดวางระเบียบแผน รวมถึงหน้าที่ บทบาท ของคณะสงฆ์ให้ชัดเจน เข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป เพื่อการดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งของพระพุทธศาสนาสืบต่อไปเบื้องหน้า ซึ่งลักษณะการประชุมของสงฆ์เช่นนี้ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ของเราพระองค์นี้มีเพียงครั้งเดียว คือในปีแรกหลังจากตรัสรู้ ๙ เดือน ด้วยความหมายธรรมใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่ว่า

“ขันติเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันสูงสุด

ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าสมณะ

การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑

การทำจิตให้ผ่องใส ๑

นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑

ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑

ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑ ที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑

การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย...”

จากสามพระคาถากึ่งโอวาทปาฏิโมกข์ ที่แปลมาเป็นภาษาไทยให้สาธุชนทั้งหลายได้พิจารณาโดยแยบคาย หากจะมองอย่างพินิจก็จะนำไปสู่ความเข้าใจในเจตนาธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ สันติธรรม สันติสุข ในหมู่ประชาสัตว์ในโลกนี้ ดังนั้นเจตนาธรรมของการประกาศหลักธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปในหมู่ชาวโลกนั้น ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจและยินดีที่จะน้อมนำมาปฏิบัติ ด้วยความเป็นศาสนาสากลของพระพุทธศาสนา ย่อมนำมาซึ่งความสุขสงบแห่งโลกนี้ ตามที่ทุกๆ ท่านเรียกร้องและปรารถนากันมากในสังคมโลกปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณาให้ถ่องแท้อย่างละเอียดจากความหมายธรรมดังกล่าว ก็จะต้องยอมรับว่า “พุทธศาสนานั้นเป็นหลักสันติธรรมที่จะนำไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง จึงควรอย่างยิ่งที่จะมีประชามติออกมาจากชาวพุทธทั่วโลก เพื่อให้วันมาฆบูชาเป็นวันสันติภาพแห่งโลก เพื่อสืบสานเจตนาธรรม โดยการเผยแพร่พระโอวาทปาฏิโมกข์ หลักพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นศาสนสากลให้แพร่หลายไปในสังคมโลก เพื่อจะได้เกิดความเห็นชอบ ความเห็นควร ที่จะน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ จัดระบบระเบียบสังคมกันใหม่ ตามแบบแผนวิธีพุทธ อันจะนำไปสู่การดำรงมั่นคงและสงบสุขของสังคมโลกได้สืบต่อไป...”

ดังนั้น ในการจัดงานมาฆบูชาโลกในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปลูกฝังรากฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงแข็งแรงสืบต่อไปแล้วนั้น ยังเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปให้คืนกลับมาให้ดำรงอยู่ โดยการสนับสนุนให้ชาวพุทธในอินเดียได้ออกมามีบทบาทเทียบเท่าชาวพุทธทั่วโลกแล้ว ประการสำคัญ คือ การสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยการเผยแผ่คุณค่าของพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระผู้มีพระภาค ที่ถูกต้องตรงพระธรรมวินัยให้กว้างขวางออกไปในหมู่ชนทุกเชื้อชาติ ทุกภาษา สมดั่งพระประสงค์ของพระพุทธองค์ที่ทรงประทานพระมหากรุณาธิคุณ อันไม่มีประมาณแก่ปวงสัตว์ หวังให้สัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสัจธรรม ที่ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132