posttoday

วัดปากน้ำญี่ปุ่นที่พึ่งคนไทยในยามยาก

05 เมษายน 2554

ประชาชนมีความทุกข์ เมื่อมีวิกฤตทางธรรมชาติ วัดปากน้ำญี่ปุ่น ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดับทุกข์นั้น สมเจตนารมณ์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่เต็มไปด้วยเมตตาธรรมยิ่งนัก....

ประชาชนมีความทุกข์ เมื่อมีวิกฤตทางธรรมชาติ วัดปากน้ำญี่ปุ่น ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดับทุกข์นั้น สมเจตนารมณ์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่เต็มไปด้วยเมตตาธรรมยิ่งนัก....

โดย...สมาน สุดโต

ในช่วงที่ญี่ปุ่นเกิดวิกฤตเพราะแผ่นดินไหว สึนามิ และกัมมันตรังสีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล ผู้คนที่รอดชีวิตจำนวนมากก็อพยพหนีภัย ในจำนวนนั้นมีคนไทยนับร้อยคนที่ทำงาน เรียนหนังสือ หรือมีครอบครัวในญี่ปุ่นก็อพยพด้วย แต่ก่อนที่คนไทยจะมาถึงไทยนั้นได้พักพิงที่วัดปากน้ำญี่ปุ่นก่อน สถานที่นี้จึงได้รับการพูดถึงมากที่สุดจนทำให้มีคนอยากรู้จัก ผมจึงพยายามหาข้อมูลวัดนี้มาเผยแผ่ บังเอิญได้หนังสือชื่อ การเผยแผ่ หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัด ปากน้ำ ม.ส.จ. พิมพ์เพื่อมุทิตาสักการะ ที่พระเถระวัดปากน้ำ พระเถระผู้คุ้นเคยวัดปากน้ำ พระเถระในเขตปกครองหนเหนือได้รับพระราชทานเลื่อน-ตั้งสมณศักดิ์ 5 ธ.ค. 2553 จึงนำบางส่วน บางตอนมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน

การมีวัดปากน้ำญี่ปุ่นนั้น เป็นผลมาจากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดปากน้ำในต่างประเทศ ที่เริ่มมาตั้งแต่หลวงพ่อพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่มีปณิธานแรงกล้าในการส่งพระธรรมทูตวัดปากน้ำไปประกาศศาสนาในนานาอารยประเทศ แม้แต่ตัวหลวงพ่อสดเองเคยให้การอุปสมบท ศ.วิเลียม ออร์กัสต์ เปอร์เฟิสต์ ชาวอังกฤษที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา มาขออุปสมบทที่วัดปากน้ำและหลวงพ่อได้อุปสมบทให้กลาย เป็นชาวอังกฤษคนแรกที่หลวงพ่อสดเป็นผู้อุปัชฌาย์ และอุปสมบทให้ที่วัดปากน้ำ

ใน พ.ศ. 2497 ท่านรูปนี้เดินทางกลับสหราชอาณาจักรเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา เมื่อกลับมาไทยมีผู้ติดตามเพื่อขออุปสมบทอีก 3 คน แต่ละคนมีการศึกษาระดับปริญญาตรี ต่อมาโครงการนี้ระงับเมื่อหลวงพ่อสดมรณภาพ

 

วัดปากน้ำญี่ปุ่นที่พึ่งคนไทยในยามยาก อุโบสถวัดปากน้ำ

ระยะเวลาทิ้งห่างมานานจนกระทั่งพระธรรมธีรราชมหามุนี หรือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำในปัจจุบัน เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2526 มีประชาชนชาวไทยในสหรัฐเรียกร้องให้มีพระและมีวัดในรัฐที่พวกเขาอยู่ หลวงพ่อเห็นชอบ จากนั้นประชาชน กลุ่มดังกล่าวเดินเรื่องขอตั้งวัดแบบองค์การกุศลที่ไม่แสวงหากำไร มีชื่อว่าวัด มงคลเทพมุนี ที่เมืองเยนซาเล็ม สหรัฐ อเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2527 วัดนี้จึงเป็นสาขา วัดปากน้ำวัดแรกในต่างประเทศ จากนั้นก็มีวัดปากน้ำสาขาในสหรัฐอเมริกาอีกหลายวัด ซึ่งวัดล่าสุดในสหรัฐอเมริกาคือวัดปากน้ำมิชิแกน ที่มีพระมหาพิมล ญาณวิมโล ป.ธ. 9 เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งได้เปิดตัวเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2553

วัดปากน้ำญี่ปุ่น

ส่วนวัดปากน้ำญี่ปุ่น หนังสือเล่มที่อ้างข้างต้นบอกว่าเป็นวัดในพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท และเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเนินเล็กๆ อยู่ในชุมชนที่เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา ด้านทิศเหนือติดถนนสาธารณะและแปลงเกษตรกรรมของชาวบ้าน ด้าน ทิศตะวันออกติดที่ดินเอกชน ด้านทิศใต้ติดที่ดินเอกชนและแปลงเกษตรกรรม ด้านทิศตะวันตกติดลำธารสาธารณะ ตั้งอยู่เลขที่ 294-1 ชุมชนอะซา เซนโดได นากาโน่ ตำบลไทเอะ อำเภอโกโตริ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น (294-1 Sendodai Nakano Taie-Machi Katori-Gun Chiba-Ken 287-0237 Japan) อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติโตเกียวใหม่ (New Tokyo International Airport) หรือสนามบินนาริตะ ประมาณ 11 กิโลเมตร เนื่องจากวัดมิได้ตั้งอยู่ใน ที่ชุมชนจึงไม่มีระบบคมนาคมสาธารณะ ที่บริการถึงวัด สถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุด คือ สถานีนาริตะ อยู่ห่างจากวัด 15 กิโลเมตร

พื้นที่และอาณาเขต

เมื่อครั้งจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2541 มีที่ดินเบื้องต้น 4 ไร่ ได้จัดซื้อเพิ่มเติมทางด้านทิศเหนือของวัดและใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอุโบสถอีก 3 ไร่ จึงเป็น 7 ไร่ ต่อมาได้ซื้อเพิ่มด้านทิศใต้เพื่อใช้เป็นที่จอดรถของสาธุชนที่มาทำบุญและผืนเล็กๆ อีก ทำเป็นสวนหย่อมและสระน้ำด้านพระอุโบสถ รวมซื้อที่ดิน 4 ครั้ง ปัจจุบันวัดมีพื้นที่ทั้งสิ้น 182 ซูโบะ (ซูโบะ เป็นมาตรวัดพื้นที่ของชาวญี่ปุ่น 1 ซูโบะ = 33 ตารางเมตร) หรือประมาณ 15 ไร่

มูลเหตุ การสร้างวัดไทยในประเทศญี่ปุ่นนั้น สืบเนื่องมาจากสัมพันธภาพอันดีงามระหว่างวัดปากน้ำกับชาวญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 สมัยที่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านยังมีชีวิตอยู่ ได้มีชาวญี่ปุ่นมาบวช เพราะสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติสมถวิปัสสนาเป็นจำนวนไม่น้อย ระยะนั้นหลวงพ่ออาพาธแล้ว ดังนั้น สมเด็จพระสังฆราชปุ่น ปุณณสิริมหาเถระ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมวโรดม จึงเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำพิธีอุปสมบทให้ชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น หลวงพ่อท่านเห็นว่ามีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่มีความตั้งใจมั่นที่จะศึกษา และปฏิบัติสมถวิปัสสนา แม้ว่าจะเดินทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังชักนำชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ ให้มาศึกษา และปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำสืบต่อกันมาเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงดำริจะประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นการถาวรในประเทศญี่ปุ่น โดยสร้างวัดไทยในชั้นแรก แต่หลวงพ่อท่านมรณภาพเสียก่อนในปี พ.ศ. 2502 โครงการของท่านจึงเป็นเพียงดำริเท่านั้น ยังหาได้เป็นรูปเป็นร่างแต่อย่างใดไม่

การพยายามสร้างวัดไทยในญี่ปุ่นเพื่อสานต่อโครงการเผยแผ่ธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ต้องอาศัยความอดทนและวิริยะอย่างสูง โดยใช้เวลา ไม่น้อยกว่า 30 ปี โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺญ มหาเถร ป.ธ. 9) พร้อมคณะต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นนับสิบครั้ง

ในที่สุดได้เซ็นสัญญาวางเงินงวดแรกในการซื้อที่ดินสร้างวัดไทยในญี่ปุ่นได้กระทำขึ้นในวันที่ 30 ต.ค. 2540 ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ลงนามกับฝ่ายญี่ปุ่น ท่ามกลางคณะศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ มีอาจารย์ตรีธา เนียมขำ เป็นต้น เป็นสักขีพยาน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญของการสร้างวัดไทยในญี่ปุ่น จากนั้นการดำเนินการต่างๆ จึงค่อยๆ ดำเนินไปตามลำดับ และการติดต่อประสานงานกับชาวญี่ปุ่นในเรื่องเอกสารและกฎหมายเป็นหน้าที่ของคุณอาทิตย์ (ฮิโตชิ) คุณใจ มัตทสุโมโต้ ที่มาช่วยเหลือด้วยความศรัทธา และในระหว่างนี้ ข่าวการสร้าง วัดไทยในญี่ปุ่นได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้สาธุชนผู้ศรัทธาหลั่งไหลกันมาร่วมอนุโมทนาบุญกันไม่ขาดสาย

วัดไทยแห่งแรกในดินแดนอาทิตย์อุทัย

วัดปากน้ำญี่ปุ่น อันเป็นนามประทานจากหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ และมีหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นเจ้าอาวาส นับได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่น เกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งศรัทธาปสาทะของคุณพิมใจ คุณอาทิตย์ คุณมัตทสุโมโต้ และคณะศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ นำโดยอาจารย์ตรีธา เนียมขำ พร้อมทั้งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ข้าราชการไทย และชาวไทยในประเทศญี่ปุ่น ได้มีศรัทธาร่วมกันเพื่อสร้างวัดไทยในประเทศญี่ปุ่น ถวายไว้เป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสถานที่พำนักสำหรับพระสงฆ์ เพราะมีความสงบร่มเย็น การคมนาคมมีความสะดวก และไม่ห่างไกลนักจากเมืองหลวง ประกอบด้วยอาคารต่างๆ ดังนี้ คือ

1.อาคารพระมงคลเทพมุนี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น หลังใหญ่ ใช้เป็นศาลาการเปรียญ

2.อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ชั้นละ 10 ห้อง รวมทั้งหมด 50 ห้อง ใช้เป็นสถานที่พัก

3.อาคารสามัคคีรังสฤษฏ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ชั้นละ 5 ห้อง รวมทั้งหมด 10 ห้อง ใช้เป็นกุฏิที่พักสงฆ์

4.อาคารพิมทิตยารักษ์ เป็นอาคารชั้นเดียวใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส

5.อาคารสัคคโสปาณ เป็นอาคารชั้นเดียวใช้เป็นสำนักงาน เป็นโรงครัว เป็นที่ฉันภัตตาหาร และเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล

6.อุโบสถวัดปากน้ำญี่ปุ่น เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยจตุรมุข ผนังบุหินอ่อนทั้งหลัง โดยหินอ่อนทั้งหมดนำไปจากประเทศไทย เครื่องหลังคา 3 ช้อน 3 ตับ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตัวอาคารกว้าง 6 เมตรครึ่ง ยาว 20 เมตร ครึ่ง มุขซ้าย-ขวายื่นออกไปด้านละ 5 เมตร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. อักษรพระนามาภิไธย ส.ก. และตราสัญลักษณ์ 72 พรรษา ประดิษฐานที่หน้าบันอุโบสถด้านเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ส่วนหน้าบันด้านทิศใต้ เป็นสัญลักษณ์ตราวัดปากน้ำญี่ปุ่น

การส่งคณะพระภิกษุไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดปากน้ำญี่ปุ่น

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้คัดเลือกพระภิกษุมาจำพรรษาและปฏิบัติศาสนกิจ ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนธรรมด้วยความอดทน และเสียสละมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จำนวน 7 รูป คือ 1.พระมหาชูพงษ์ สุชุติโก ป.ธ. 9 หัวหน้าคณะ 2.พระครูสุธรรมาภิมณฑ์ 3.พระมหาเกษม ปญฺญาเขโม 4.พระมหาชาญยุทธ อนุภทฺโท 5.พระวิวรรธน์ ทตฺตวฑฺฒโน 6.พระมหาประวิทย์ อธิวทู 7.พระมหาสมศักดิ์ ธมฺมสิทฺธิ

ปัจจุบันมีคณะภิกษุมาปฏิบัติศาสนกิจจำนวน 5 รูป 1.พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณ (วิวรรธน์ ทตฺตวฑฺฒโน) 2.พระมหาชุมพล ชุติพโล 3.พระมหาสร้อย พุทฺธานนฺโท 4.พระมหาเผด็จ จนฺทโชโต 5.พระมหาสุริยัน สุวณฺณวิสุทฺโธ

ประชาชนมีความทุกข์ เมื่อมีวิกฤตทางธรรมชาติ วัดปากน้ำญี่ปุ่น ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดับทุกข์นั้น สมเจตนารมณ์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่เต็มไปด้วยเมตตาธรรมยิ่งนัก