posttoday

มาฆบูชาโลกครั้งที่ ๒ ณ ชมพูทวีป (อินเดีย) ตอน ๕

07 มีนาคม 2554

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่ออารยะวังโสที่เคารพ

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่ออารยะวังโสที่เคารพ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงพ่ออารยะวังโสที่เคารพ

ได้มีโอกาสไปร่วมงานมาฆบูชาโลกที่อินเดีย มีหลายเรื่องที่ได้พบเห็นและน่าสนใจอย่างยิ่งต่อการนำมาบอกกล่าวให้ชาวไทยได้รับทราบ ทั้งที่นครนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ และที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ รัฐพิหารในปัจจุบัน

ในการเฉลิมฉลอง ๒,๖๐๐ ปี การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทางอินเดีย โดยมหาโพธิสมาคมได้จัดให้มีขึ้นในปีนี้นั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปให้กว้างขวางในหมู่ชาวโลกผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งคงจะเกี่ยวเนื่องกับการจัดงานมหาบูชามาฆปุรณมีที่ผ่านมา

ดิฉันใคร่ขอให้หลวงพ่อได้ช่วยสรุปเล่าเรื่องราวพร้อมสาระธรรมเพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสาร และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ชาวไทย และแผ่นดินไทย ผ่านทาง “ธรรมส่องโลก” และใคร่ขออนุญาตไว้ล่วงหน้าในการนำบทความเรื่องดังกล่าวใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ จากคอลัมน์ธรรมส่องโลกไปเผยแพร่ต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้มีโอกาสร่วมจัดงานมาฆบูชาโลก ปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ณ ประเทศอินเดีย

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร

รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วิสัชนา : การจัดกระบวนการให้ความรู้ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ หรือพระธรรมวินัย ซึ่งสืบเนื่องอยู่ในวันมาฆบูชา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรดำเนินการกันต่อไป และก็น่ายินดี เมื่อชาวพุทธในอินเดียทุกกลุ่มตอบรับ ให้ความสนใจ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับ “วันมาฆบูชา” ดังที่ได้แห่แหนออกมารวมตัวกัน และร่วมเวียนเทียน (Candle March) ที่ดิกซาภูมี นครนาคปุระ เมื่อคืนวันที่ ๑๒ ก.พ. ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการฟังธรรมบรรยายอย่างต่อเนื่องมาทั้งวัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๙ น.เป็นต้นมา ท่ามกลางมหาชนจำนวนหลายหมื่นคนที่พร้อมใจกันแต่งชุดขาวออกมาร่วมงานตั้งแต่เช้าจดค่ำ จนสิ้นสุดงานเฉลิมฉลองเทศกาลมาฆบูชา

จากการจัดงานมาฆบูชาโลกครั้งที่ ๒ โดยชาวพุทธในชมพูทวีปครั้งนี้ ณ ดิกซาภูมี นครนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการนำความสำคัญของแก่นธรรม หลักปฏิบัติกลับมาสู่หัวใจของชาวพุทธในชมพูทวีป ซึ่งได้กล่าวขานกันมากต่อความสำคัญอย่างมีสาระจากการจัดงานมาฆบูชาในครั้งนี้ และยังเรียกร้องให้มีการจัดอย่างต่อเนื่องไปยังเมืองต่างๆ หมุนเวียนเปลี่ยนเจ้าภาพจัดงานกันไปในทุกๆ ปี ซึ่งอาตมาก็มีความเห็นชอบด้วย เพื่อการขยายเครือข่ายที่มีคุณภาพไปยังกลุ่มชาวพุทธให้ทั่วทั้งชมพูทวีป

ในการประสบความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือ การเปิดโอกาสให้ชาวพุทธในอินเดียร่วมกันตั้งคณะกรรมการจัดงานมาฆบูชาโลกประจำปีขึ้น และจัดหาเงินบริจาคเพื่อการจัดงาน จากกลุ่มชาวพุทธในอินเดียเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นไปตามแผนงานทุกประการ ยังให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นพุทธศาสนิกชนของชาวชมพูทวีปที่ทัดเทียมชาวพุทธนานาชาติ และคงจะเข้มแข็งมากขึ้นไปตามลำดับ เมื่อพวกเขาได้ศึกษาปฏิบัติพระธรรมคำสั่งสอนอย่างจริงจัง ดังที่ปรากฏเป็นแม่บทของพระธรรมวินัยที่แสดงอยู่ในรูปของ “พระโอวาทปาฏิโมกข์” ซึ่งบัดนี้ชาวพุทธใหม่ในอินเดียได้รู้จักและเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญแล้ว

การทำให้ “พระโอวาทปาฏิโมกข์” หลักธรรมในวันเพ็ญเดือนสามที่เรียกว่า วันมาฆปุรณมี กลับคืนสู่หัวใจชาวพุทธในชมพูทวีปได้อย่างแท้จริง โดยมีการสืบการจัดงานมหาบูชา เนื่องในวันมาฆบูชาในปีต่อๆ ไปได้ เพื่อเผยแผ่คำสั่งสอนให้กว้างขวางออกไปในหมู่มหาชนชาวชมพูทวีปได้ จึงควรแก่การกล่าวได้ว่า “บัดนี้ การปักธงธรรมจักรในชมพูทวีปได้กระทำสำเร็จแล้ว ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง กับภารกิจสำคัญของการสืบอายุพระพุทธศาสนา และการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้คืนกลับสู่ชมพูทวีป อันเป็นแผ่นดินเกิดของพระพุทธศาสนา” ซึ่งสอดคล้องกับเสียงกล่าวขานของชาวพุทธในชมพูทวีปหลังการจัดงานมาฆบูชาโลก ณ ดิกซาภูมี นครนาคปุระ รัฐมหาราษฏระว่า “พระพุทธศาสนาจะต้องกลับมายิ่งใหญ่ในประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่งสมดังความฝันความตั้งใจของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์ ที่เคยกล่าวไว้อย่างแน่นอน...”