posttoday

ความแตกต่างและประทับใจในพม่า

06 มีนาคม 2554

โดย...พระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉนฺทวิชฺโช ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย วัดราชาธิวาสวรวิหาร

โดย...พระครูวินัยธรธีรวิทย์ ฉนฺทวิชฺโช ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา แห่งประเทศไทย วัดราชาธิวาสวรวิหาร

ประเทศพม่า นับถือพระพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าศึกษาตามประวัติศาสตร์แล้วทั้งสองประเทศมักทำสงคราม เป็นคู่รักคู่แค้นกันมาหลายยุคหลายสมัย มีหลายเรื่องที่คาใจกันอยู่ แต่หากเรายังหลงผูกพันกับอดีตที่ขมขื่น ทั้งๆที่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคของการอยู่ร่วมกันของสังคมโลกแล้ว ก็จะทำให้เราก้าวไปไหนไม่ได้ เหมือนคนบางกลุ่มพยายามจะเอาอดีตอันเจ็บปวดของตนมาปลุกระดมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รับรู้ แล้วนำมาเป็นเงื่อนไขในการที่จะแยกบ้านแยกเมือง หรือทวงคืนเอกราชตามที่ตนต้องการ หากวันนี้ไทยกับพม่ายังอยู่ในมิติของความขัดแย้งในอดีต เราคงอยู่กันอย่างไม่เป็นสุขแน่นอน

ความแตกต่างและประทับใจในพม่า

เมื่อพูดถึงมิติที่เราน่าจะศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและส่วนรวม ต้องนึกถึงบทประพันธ์ของหลวงพ่อพุทธทาสที่ว่า “เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย...”

การมาเยือนพม่า 7 วันของคณะเราประกอบด้วยพระ 3 รูป ฆราวาส 4 คน ได้เดินทางไปยังเมืองและรัฐสำคัญๆ ของพม่าดังนี้คือ เมืองย่างกุ้ง เมืองพะโค (หงสาวดี) รัฐมอญ เมืองบากัน (พุกาม) เมืองมัณฑะเลย์ เมืองสะกาย และรัฐฉาน

เรื่องที่ได้ฟังสิ่งที่ได้เห็นทำให้เปลี่ยนความคิดหลายอย่างที่มีต่อพม่าในอดีตได้มากทีเดียว โดยเฉพาะที่มองว่าพม่าเป็นประเทศที่ปิดตนเองไม่ยอมรับมติของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทำให้มองว่าเป็นประเทศที่ตกขบวนของการเข้าสู่โลกยุคใหม่ดังเช่นอารยประเทศต่างๆ กำลังดำเนินอยู่

แต่ทันทีที่ได้เหยียบลุ่มแม่น้ำอิรวดี (ชาวพม่าจะเรียกว่าเอยาวดี) จึงรู้ว่าพม่าไม่ใช่ว่าเขาจะปิดรับทุกอย่างโดยสิ้นเชิง เพียงแต่มีการกลั่นกรอง และเลือกใช้ในสิ่งที่คิดว่าจำเป็นกับประเทศต่างหากจะเห็นสนามบินเม็งกะลาดง (ย่างกุ้ง อินเตอร์เนชันแนล แอร์พอร์ต) ที่ถูกพัฒนาพร้อมรับการขยายตัว และการเติบโตของประเทศนี้ เมื่อไปดูสนามบินนานาชาติของเมืองมัณฑะเลย์ก็ยิ่งเห็นได้ถึงการเตรียมที่จะตื่นตัวขึ้นมาของยักษ์ของเอเชียคือพม่าที่หลับมานาน

เรื่องที่จะเขียนเล่าสำหรับผู้อ่าน เป็นสิ่งที่ได้พบเห็น และข้อมูลที่ได้พูดคุยกับมัคคุเทศก์ หรือคนในพม่า ซึ่งอาจจะตรงหรืออาจจะคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่ได้ศึกษาบ้าง ก็เอาเป็นว่าเรามองพม่าจากสายตาคนพม่า นำเสนอโดยคนไทยก็แล้วกัน

คณะของเราก็คงคล้ายๆ กับคณะอื่นๆ คือจะต้องไม่พลาดสถานที่สำคัญที่ถือว่าเป็นหัวใจทางพระพุทธศาสนาของชาวพม่า และชาวพุทธทั่วทิศานุทิศ นั่นคือพระธาตุอินทร์แขวน ที่ตั้งของพระธาตุนี้มีความมหัศจรรย์จนกระทั่งทำให้เชื่อว่าพระอินทร์ได้มีส่วนร่วมในการสรรหาก้อนหินและนำมาวางไว้บนยอดเขาเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งภูเขานี้ตั้งอยู่ในเมือง ไจ้โถ่ มีลักษณะเป็นเจดีย์องค์เล็กๆ สูงเพียง 5.5 เมตรบนก้อนหินกลมๆ ที่ตั้งอยู่บนยอดผาอย่างหมิ่นเหม่ดูแล้วให้หวาดเสียวว่าจะกลิ้งตกลงไปยังก้นหุบเขาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ชาวพม่ามักยืนกรานว่าไม่มีทางตก เพราะพระเกศาธาตุที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์นั้น ย่อมยังหินก้อนนี้ให้ทรงตัวอยู่ได้อย่างสมดุลเรื่อยไป

เนื่องจากพระธาตุอยู่ที่สูง คณะของเราได้เลือกวิธีขึ้นพระธาตุอินทร์แขวนโดยการเดินเท้าเป็นระยะทางประมาณ 3.6 กม. (ถ้าท่านใดไม่เดินก็มีเสลี่ยงไว้บริการ)

ตลอดทางมีทั้งชาวพม่าทุกวัยตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดง วัยรุ่น จนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวพุทธไทย จีนญี่ปุ่น ฯลฯ แม้แต่คนต่างศาสนาอย่างอเมริกันหรือยุโรป ก็มาเยือนสถานที่แห่งนี้ เพื่อมาชมอัศจรรย์แห่งพลังศรัทธาที่มีต่อองค์สมเด็จพระสัมมา|สัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังมีทิวทัศน์ที่งดงาม

รอบๆ บริเวณลานของพระธาตุอินทร์แขวนจะเห็นประชาชนชาวพุทธสวดมนต์ ภาวนา บูชาดอกไม้ธูปเทียน ปิดทององค์พระธาตุ โดยชาวพม่าเชื่อว่าผู้ที่มานมัสการพระธาตุต่อเนื่องกันตลอด 3 ปี จะเป็นมงคลในชีวิตอย่างยิ่ง เมื่อเสร็จการบูชาแล้วก็จะจับกลุ่มกันนั่งพักผ่อน บางคณะก็เอาข้าวปลาอาหารมารับประทานกัน เห็นแล้วก็ชื่นชมที่ชาวพม่าสืบทอดวิถีชีวิตเรียบง่ายสมถะ ต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน

นอกจากพระธาตุอินทร์แขวนแล้วยังมีพระมหาเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง(เมืองหลวงอันดับสองของพม่า) ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า ที่คนพม่าเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่ต่อเนื่องมาจากพุทธประวัติ นั่นคือพ่อค้าที่ชื่อว่า ตปุสสะกับภัลลิกะ ที่ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงแด่พระพุทธองค์ หลังการตรัสรู้ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานพระเกศาจำนวน 8 เส้นให้ทั้งสองคน ความเชื่อนี้เป็นอมตะนิรันดร์กาล ทำให้ชาวพม่าศรัทธาเลื่อมใสนำสิ่งของที่มีค่า มาเป็นเครื่องบูชาพระเจดีย์แห่งนี้ตลอด อีกทั้งชาวพม่าถือว่าการกราบไหว้บูชา เจดีย์ชเวดากองเป็นนิตย์ จะนำมาซึ่งบุญกุศล อันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล

ชาวพม่าบางท่าน บางคณะมานั่งทำสมาธิเจริญสติภาวนา นับลูกประคำ และบ้างก็ประทักษิณารอบองค์เจดีย์ วันที่คณะได้เดินทางมาถึงชเวดากอง พบว่ามีคลื่นมหาชนทั้งคนพม่าและคนต่างชาติต่างภาษา ที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสายเพื่อสักการ|บูชามหาเจดีย์

เราสามารถเห็นการบูชาดังที่กล่าวมาแล้วในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นพระมหามุนี ที่เมืองมัณฑะเลย์ และที่ทะเลย์เจดีย์ที่มีกว่า 3,000 องค์ ที่พุกาม หรือแม้แต่ในทะเลสาบที่ห่างไกลอย่างทะเลสาบอินเลย์ในรัฐฉาน ชาวบ้านทำการบูชาด้วยศรัทธาจริงๆ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

สิ่งที่เราได้ประสบก็คือความมั่นคงของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานบนดินแดนแห่งนี้มายาวนานหลายศตวรรษ ก่อนไทยจะมีอาณาจักรที่ชื่อว่าสุโขทัยเสียด้วยซ้ำไป

ความแตกต่างและประทับใจในพม่า

จากประสบการณ์ระยะสั้นๆ พอพูดได้ว่าโลกที่พม่าหมุนช้ากว่าประเทศไทยเรามาก เช่น พวกเราต้องแปลกใจในตอนเที่ยง ที่เราเห็นรถจอดเต็มหน้าโรงเรียน ถามมัคคุเทศก์ก็ได้ความว่าเขามารับบุตรหลานเพื่อกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านแล้วจะนำมาส่งใหม่ในช่วงบ่าย (โอ้โฮ.. ถ้ากรุงเทพฯ เราต้องปฏิบัติอย่างนี้นึกภาพไม่ออกจริงๆ)

อีกเรื่องที่ช้ากว่าไทยคือ ปีพุทธศักราช พม่าช้ากว่าไทยอยู่ 1 ปี ส่วนวันสำคัญทางศาสนา เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชา หรืออาสาฬหบูชา ก็จะช้ากว่าเราอยู่ 1 เดือนด้วย

ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือตามวัดวาอารามต่างๆ ที่ได้ไปเยือนเราจะเห็นตู้รับบริจาคเงินเพื่อบำรุงรักษาวัดต่างๆ โดยปราศจากเครื่องป้องกันขโมยดังที่เราเห็นในเมืองไทย ที่เป็นเช่นนี้ได้คำตอบว่าที่พม่าไม่มีการลักขโมยเงินทำบุญ (เหมือนเช่นบางประเทศ) ตู้จะเต็มจะล้นอย่างไรก็อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะคนที่นี่เขากลัวบาปกลัวกรรมมากกว่ากลัวความลำบากของตนเอง
ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้นับถือพระพุทธศาสนา

ปัจจุบันประชากรของประเทศพม่า ประมาณ 50 ล้านคน มีพระสงฆ์อยู่ประมาณ 5 แสนกว่ารูป ยังไม่รวมแม่ชี ซึ่งที่นี่มีระบบดูแลแม่ชีกันอย่างจริงจังถึงขั้นมีสถานศึกษาเฉพาะแม่ชีต่างหาก ในขณะที่บ้านเรามีประชากรกว่า 60 ล้านคน แต่เรามีพระสงฆ์แค่เพียง 2 แสนกว่ารูปเท่านั้นเอง (ลองคิดสัดส่วนกันดูเถิด) ที่เป็นแบบนี้เพราะชาวพม่านิยมให้ลูกบวชเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุน้อยๆ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนนาน ไม่ได้บวชกันแค่ 3 เดือน หรือ 15 วัน 7 วัน หรือแค่บวชหน้าไฟเท่านั้น

ที่สำคัญและยิ่งใหญ่สำหรับชาวพุทธ พม่ากล้าที่จะประกาศว่าประเทศนี้มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่กล่าวเฉพาะวาจาเท่านั้น แต่พม่ายังได้ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในฐานะศาสนาประจำชาติ เมื่อปีพุทธศักราช 2504 และรัฐบาลพม่ายังได้ออกกฎหมายรับรองว่าเป็นศาสนาประจำชาติ และกฎหมายอื่นๆ อีกมากเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ไม่มีปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำของศาสนาอื่นๆ แต่อย่างใด

น่าสงสารที่บางประเทศประกาศว่าเป็นเมืองพุทธ แต่แค่ประกาศว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญก็ยังกระทำมิได้

ชาวพม่ายังเล่าให้ฟังว่า ท่านนายพลผู้นำของพม่า ครั้งคราใดที่จะต้องทำการอะไรที่สำคัญๆหรือเมื่อถึงวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านนายพลจะไปยังที่สำคัญๆ ของศูนย์รวมชาวพุทธในพม่าและจะเป็นประธานในการนำชาวพุทธสวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นพุทธบูชาตลอด

เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ทำให้ถึงบางอ้ออีกครั้งว่านี้ไงกุญแจของความเจริญของพระพุทธศาสนาในประเทศนี้ ที่ผู้นำท่านทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

สำหรับประเทศไทยแล้วเมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็อยากจะขอวิงวอนท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายได้ใช้เวลาเช่นนี้ปฏิบัติตนเป็นพุทธบูชา ให้สมกับเป็นเมืองพุทธบ้างก็ดีไม่น้อย และยังจะเป็นแบบอย่างให้คนในชาติ ลูกหลานของเราปฏิบัติตามอีกด้วย

การได้มาเยือนพม่าแม้จะเป็นเวลาแค่สัปดาห์เดียว แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงความเป็นไปของวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาจากพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็งได้ดี ทำให้ประเพณี วิถีชีวิตของคนที่นี่อยู่กับพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

ยังคาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่า ถ้าพม่าเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์เหมือนประเทศอื่นๆ จะสามารถดำรงพุทธวิถีเช่นนี้ได้อีกหรือไม่ จึงได้แต่หวังว่าพม่าจะเลือกสรรและนำสิ่งดีๆ มีสาระมาประยุกต์ใช้อย่างลงตัวกับวิถีชีวิต ไม่เช่นนั้นจะเหมือนหลายๆ ประเทศที่คนในประเทศลืมรากเหง้าของตน ลืมไปว่าชาติที่เขาอาศัยนั้น บรรพชนได้สร้างชาติมาจากอะไร และอะไรคือจิตวิญญาณของประเทศ ศาสนานิยม และชาตินิยมของพม่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์