posttoday

อาลัยพระพรหมกวี

27 กุมภาพันธ์ 2554

การมรณภาพแบบไม่คาดคิดของพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ มีตำแหน่งทางปกครองเป็นเจ้าคณะภาค 10 เจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์

การมรณภาพแบบไม่คาดคิดของพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ มีตำแหน่งทางปกครองเป็นเจ้าคณะภาค 10 เจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ถือว่าเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของคณะสงฆ์

โดย...สมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบรมวงศานุวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชทานพวงหรีดหน้าโกศศพ พระพรหมกวี พร้อมกับรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน เพราะถือว่ามรณภาพในขณะปฏิบัติหน้าที่

การมรณภาพแบบไม่คาดคิดของพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ มีตำแหน่งทางปกครองเป็นเจ้าคณะภาค 10 เจ้าสำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม ถือว่าเป็นความสูญเสียของคณะสงฆ์ เพราะท่านมีผลงานที่ภาค 10 และส่งเสริมการศึกษาบาลีได้ยอดเยี่ยม

 

อาลัยพระพรหมกวี

โฆษกประกาศในงานรับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพว่า การมรณภาพของพระพรหมกวี ทำให้สังฆมณฑลหวั่นไหว เพราะท่านเป็นสังฆโสภณ ตัวท่านนั้นมีสมณสารูปงาม วัตรปฏิบัติน่ายกย่อง เช่น ไม่เคยขาดการลงฟังสวดพระปาติโมกข์โดยไม่จำเป็น ยกเว้นคืออาพาธ บางครั้งสวดพระปาติโมกข์เอง

สำนักอารักษ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เชิญหิรัญบัฏ และเครื่องประกอบอิสริยยศสมณศักดิ์ชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะมาตั้งหน้าโกศศพ เป็นการถวายเกียรติยศหลังจากรับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเสร็จ ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่จะเชิญหิรัญบัฏเครื่องประกอบอิสริยยศตามสมณศักดิ์ถวายในวันที่พระเถระรูปนั้นจัดงานสมโภชขึ้น แต่พระพรหมกวีนั้นยังไม่ได้จัดงานสมโภช เพราะเพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นรองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2553 ที่ผ่านมา

การได้รับการสถาปนาเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะของท่านนับว่าเป็นกรณีพิเศษอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานลงมา โดยที่ตัวท่านเองมาทราบเหลือเวลาอีก 3 วันจะเข้ารับพระราชทานพัดยศแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ก็ไม่ทราบเรื่องมาก่อนเช่นกัน ผู้ที่รู้และเข้าใจเหตุการณ์นี้เรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์ในวงการสงฆ์ ที่นานๆ ครั้งจะมีให้|อนุโมทนากันครั้งหนึ่ง เพราะพระเถระที่ได้รับการสถาปนาโดยโปรดเกล้าฯ ลงมาจึงถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติพิเศษจริงๆ

ตามประวัตินั้น พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2476 บิดาชื่อนายคำมา มารดาชื่อนางคำ ธรรมวรางกูร ที่บ้านหมู่ 9 ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ปี พ.ศ. 2496 ณ วัดอินทรแบก อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี มีพระวิสุทธิธรรมาจารย์ (ทรัพย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีสุธรรมมุนี เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ปี พ.ศ. 2523 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธี และในปี พ.ศ. 2539 ได้สมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพปริยัติสุธี ในปี พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปริยัติโสภณ และต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมกวี

วันรับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นประธานและเป็นผู้สรงน้ำหลวงสรงศพพระพรหมกวี เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2554 เวลา 17.00 น.

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2554 มหาเถรสมาคม (มส.) รับทราบ แสดงความอาลัยการมรณภาพแบบไม่คาดคิดของพระพรหมกวี ซึ่งที่ประชุม มส. ได้แสดงความเสียใจกับการสูญเสียพระนักการศึกษา มีผลงานเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันที่ประชุม มส. ได้แต่งตั้ง พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ในฐานะรองเจ้าคณะภาค 10 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 10 มีผลทันที โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 11 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

อาลัยพระพรหมกวี

พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส รองเจ้าคณะภาค 10 ซึ่งมหาเถรสมาคมมีมติให้รักษาการเจ้าคณะภาค 10 แทนพระพรหมกวีที่มรณภาพ กล่าวแสดงความเสียใจและอาลัยในการจากไปอย่างกะทันหันว่านึกไม่ถึงว่าท่านจะจากไปเร็วเช่นนี้ เพราะได้ทำงานร่วมกันมานาน 10 กว่าปี ได้รับความเมตตาจากพระพรหมกวีในทุกเรื่อง เริ่มตั้งแต่พาไปแนะนำตัวให้สังคมสงฆ์ในภาค 10 รู้จักเมื่อท่านได้เป็นรองเจ้าคณะภาคใหม่ๆ เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ทั้งนี้เพราะพระราชโมลีจากเมืองไทยไปปฏิบัติงานในฐานะพระธรรมทูตที่วัดธัมมาราม นครชิคาโก นานถึง 16 ปี จึงเป็นพระหน้าใหม่ สำหรับคณะสงฆ์ในเมืองไทย ท่านจึงให้ความเคารพนับถือเหมือนบิดาบังเกิดเกล้าคนหนึ่ง

 

อาลัยพระพรหมกวี พระราชโมลี

พูดถึงวัตรปฏิบัติ ท่านเล่าว่าพระพรหมกวีมีปฏิปทาน่าเคารพเป็นที่พึ่งของคณะสงฆ์ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ แม้กระทั่งวัตรปฏิบัติก็เป็นรูปแบบของพระเถระผู้ใหญ่ ที่ผู้พบเห็นสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ ในด้านความรู้ ก็เป็นที่รับรู้กันว่าท่านเป็นกวีเป็นนักประพันธ์ มีความรู้การบริหารคณะสงฆ์แน่นมาก ใครผู้ใดติดปัญหาอะไรท่านสามารถตอบได้ทุกเรื่อง

ส่วนการแต่งตั้งพระสงฆ์ให้เป็นผู้ปกครองในภาค 10 ท่านก็ทำด้วยความหวังดีต่อคณะสงฆ์เป็นส่วนรวม แม้จะมีบางท่านนินทาว่าแต่งตั้งข้ามหัวไปบ้าง แทรกแซงบ้าง แต่ในที่สุดก็ยอมรับในเจตนาดีของท่าน เพราะพระพรหมกวีท่านมองการณ์ไกล เดินตามนโยบายของท่าน จะไม่มีปัญหาตามมา

ในฐานะผู้นำ ท่านไม่ได้ทำงานคนเดียว จะกระจายงาน และก่อนจะตัดสินใจทำอะไร จะปรึกษารองเจ้าคณะภาค 2 รูปก่อน เปิดโอกาสให้รองเจ้าคณะภาคทำงานแสดงฝีมือโดยท่านเป็นผู้สนับสนุน ดังนั้นเมื่อเจ้าคณะภาคขอให้ปฏิบัติงานแทน จะไปทำด้วยความเต็มใจแม้จะต้องทิ้งงานที่ทำอยู่ก็ต้องทำ ทุกคนตั้งใจทำให้สำเร็จ ท่านทำให้เรารัก เราก็รักท่าน

รองเจ้าคณะภาค 2 รูป คือ พระราชโมลี วัดจักรวรรดิราชาวาส และพระราชวชิรโสภณ วัดสวนพลู บางรัก

ด้านอัธยาศัยไมตรีนั้น ท่านห่วงผู้ร่วมงานเสมอแม้กระทั่งอาหารจะถามว่าพอไหม อร่อยไหม แต่ตัวหลวงพ่อพระพรหมกวีไม่เคยห่วงเรื่องอาหารแต่ห่วงคนอื่นมากกว่า

ในฐานะผู้นำในการทำงาน ท่านแนะนำว่าเป็นหัวหน้าคนก็เหมือนเป็นแม่ทัพ จะอ่อนแอไม่ได้ เป็นคำที่ซึ้งมากคำนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าท่านไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยให้ได้ยินตลอดเวลาที่ทำงานร่วมกัน 10 กว่าปี

เกี่ยวกับเรื่องศูนย์ภาค 10 ที่ จ.อุบลราชธานี เป็นความคิดริเริ่มของพระพรหมกวี แต่ยังมีงานที่คั่งค้างที่ศูนย์ภาค 10 ที่เป็นงานใหญ่คือการสร้างมหาเจดีย์ปฏิบัติธรรม และโครงการซื้อที่ดินเพิ่มเติมด้านหน้าศูนย์ที่มีผู้เสนอขาย 3 ไร่ ราคา 2 ล้านบาท พระพรหมกวีเคยให้นโยบายว่า หากเขาลดเหลือ 1.5 ล้านบาทก็ซื้อ

สุดท้ายพระราชโมลีสัญญาว่าจะสานงานที่พระพรหมกวีทำไว้จนถึงที่สุด

พระสงฆ์ภาค 10 สานต่อโครงการ

ส่วนพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ที่ได้ร่วมงานใกล้ชิดกับพระพรหมกวีมานานนับสิบปี ตั้งแต่พระพรหมกวีเป็นพระราชาคณะชั้นราช เป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 10 ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ป.ธ.9) วัดมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะภาค ส่วนตัวพระเทพวรมุนีนั้นเป็นเพียงพระมหา มีตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนครพนมเท่านั้น

ในการทำงานร่วมกันท่านบอกว่าพระพรหมกวีถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ให้ด้วยความเมตตา ทั้งความรู้ด้านการปกครอง และการศึกษาของคณะสงฆ์

ปี พ.ศ. 2522 ขณะที่พระพรหมกวีเป็นรองเจ้าคณะภาค 10 ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น เมื่อท่านจัดโครงการพัฒนาพระสังฆาธิการ ภาค 10 ให้พระสังฆาธิการมาอบรมและจำพรรษาที่วัดมหาธาตุเป็นเวลา 3 เดือน รุ่นแรกมีผู้เข้าอบรม 38 รูป ตัวพระเทพวรมุนี เมื่อยังเป็นพระมหาในฐานะเลขานุการเจ้าคณะจังหวัด ขออาสาสมัครเข้ามาฝึกอบรมเพราะต้องการเพิ่มเติมความรู้ ท่านประทับใจในเวลา 3 เดือนนั้นมาก เพราะได้ความรู้รอบด้าน ทั้งเรื่องการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนา ได้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ นอกจากนั้นท่านยังพาผู้เข้าอบรมไปฟังโอวาทจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา และพระมหาเถระอื่นๆ อีกหลายรูป

หลังจากอบรมวิชาการต่างๆ 3 เดือนจบแล้วให้เข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐานต่ออีก 1 เดือน โดยเจ้าคุณโชดกในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาเป็นผู้อบรมและสอบอารมณ์ด้วยตนเอง

การอบรมวิปัสสนากรรมฐานครั้งนั้นทำให้ท่านนำไปสอนและอบรมพระและประชาชนในท้องที่ และต่อมาได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะภาค 10 ให้เป็นผู้สอนฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่ศูนย์ภาค 10 โดยมีพระราชโมลีเป็นผู้อำนวยการ ตัวท่านเป็นรองผู้อำนวยการ ทำการอบรมปีละ 2 รุ่น ได้ผลเหนือความคาดหมาย

พระเทพวรมุนีนั้นรักและเคารพในพระพรหมกวีเป็นอย่างยิ่ง นอกจากถ่ายทอดวิชาการและความรู้ต่างๆ ให้แล้ว พระพรหมกวียังให้กำลังใจในการทำงานตลอด เช่นเมื่อท่านพลิกฟื้นวัดร้างแห่งหนึ่งให้เป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาที่นครพนม คือวัดมรุกขนคร พระพรหมกวียังเดินทางไปดูและไปพักด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับความสะดวกเท่ากับพักที่วัดพระธาตุพนม

เมื่อท่านที่เป็นเคารพเหมือนญาติผู้ใหญ่จากไปกะทันหันเช่นนี้ ตัวท่านพร้อมกับพระสงฆ์ในจังหวัดเขตปกครองภาค 10 จึงตั้งปณิธานว่าจะช่วยสานงานที่ท่านริเริ่มไว้แต่ยังไม่แล้วเสร็จให้เดินหน้า จนสำเร็จตามโครงการ เช่น การสร้างพระมหาเจดีย์ ขนาดฐาน 45 เมตร สูง 49 เมตร ด้านในแบ่งเป็น 3 ชั้น จุคนได้นับพันคนที่ศูนย์ภาค 10 ที่คั่งค้างให้สมบูรณ์

ความอาลัยในการจากไปของพระมหาเถระ ถูกแปรให้เป็นรูปธรรม ดังนี้แล