posttoday

พระราชวิจิตรปฏิภาณ พระนักเทศน์นำสมัย

25 มกราคม 2553

“พระราชวิจิตรปฏิภาณ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ นับเป็นพระดาวเด่นอีกรูปหนึ่งในบรรดาพระนักเทศน์เลื่องชื่อ....

“พระราชวิจิตรปฏิภาณ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ นับเป็นพระดาวเด่นอีกรูปหนึ่งในบรรดาพระนักเทศน์เลื่องชื่อ....

โดย...ธัชอร คุณธรรม

“พระราชวิจิตรปฏิภาณ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ นับเป็นพระดาวเด่นอีกรูปหนึ่งในบรรดาพระนักเทศน์เลื่องชื่อที่เหล่าสมาชิกนักฟังธรรมปฏิบัติธรรมเฝ้าติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่นตลอดมา ด้วยลีลาบรรยายธรรมที่สนุกสนานเป็นกันเอง และมุขตลกที่สอดแทรกเป็นระยะๆ แถมนักฟังเทศน์รายใดที่ไม่สามารถติดตามเข้าฟังธรรมะดีๆ แบบต่อหน้าท่านได้ ก็ยังสามารถติดตามฟังท่านได้อีกจากช่องทางธรรมนำสมัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ (www.katitham.com) โทรทัศน์ และวิทยุ เป็นต้น

พระราชวิจิตรปฏิภาณ พระนักเทศน์นำสมัย พระราชวิจิตรปฏิภาณ

เส้นทางสายธรรม

พระราชวิจิตรฯ หรือที่ศิษยานุศิษย์รู้จักกันในนาม “เจ้าคุณพิพิธ” (อดีตท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิพิธธรรมสุนทร) นามเดิม สุนทร นามสกุล ฤกษ์เกษตร ฉายาญาณสุนทโร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 19 มี.ค. 2500 ณ ต.ชายนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะมีอายุครบ 11 ขวบ ได้บรรพชา ณ วัดเจ้าเจ็ดนอก ในจังหวัดบ้านเกิด โดยมีพระครูเขมาภิรัต เป็นพระอุปัชฌาย์

ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และอุปสมบทเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2521 ณ วัดสุทัศนเทพวราราม เขตพระนคร โดยมีพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริมหาเถร) เป็นพระอุปสมบท ท่านศึกษาจนได้นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 5 ประโยค และได้เป็นมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ท่านเคยเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค 4 ตั้งแต่ปี 2522 แต่ปัจจุบันลาออกแล้ว เช่นเดียวกันกับตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ก็ได้ลาออกแล้วเช่นกัน นอกจากนั้นท่านเป็นประธานก่อตั้งโครงการเปิดพระอารามภาคกลางวัน และกลางคืน วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นประธานก่อตั้งศูนย์ท่องเที่ยว วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ และเป็นประธานก่อตั้งโครงการร่มโพธิ์ (โครงการส่งพระนิสิตไปสอนหนังสือตามสถาบันการศึกษา)

เผยแผ่ธรรมเป็นอาจิณ

เมื่อปวารณาตัวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เจ้าคุณพระราชวิจิตรปฏิภาณ เดินหน้าเผยแผ่พระธรรมคำสอนเรื่อยมา เป็นนักเทศน์ นักปาฐกถา และนักอภิปรายธรรมที่ได้รับการยอมรับ เคยได้รับเชิญให้บรรยายธรรมออกอากาศทางโทรทัศน์หลายครั้ง อาทิ รายการลีลาชีวิต ธรรมรสธรรมรัฐ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT รายการพุทธิธรรมนำทาง สถานีโทรทัศน์ช่อง 9

จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านได้รับรางวัลจากกรมประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพใช้ภาษาไทย ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ ประจำปี 2548 และรางวัลสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทยได้มอบถวายรางวัลสื่อมวลชนดีเด่น ปี 2541

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ เป็นนักเขียนบท เป็นที่ปรึกษางานเขียนบทโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ ไม่เท่านั้น ท่านยังใช้เว็บไซต์ www.katitham.com เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย

กิเลสกลับกลอก

ช่วงปีใหม่ที่เพิ่งผ่านมา พระราชวิจิตรปฏิภาณ ในฐานะที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ที่บริษัท ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ให้เกียรติมาบรรยายธรรมเบิกโรงรับปี 2553 ในหัวข้อ “กิเลสกลับกลอก” ซึ่งได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนนับร้อยที่ตั้งใจมาฟังธรรมและร่วมปฏิบัติธรรม

กิเลสกลับกลอกที่พระราชวิจิตรปฏิภาณได้กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องของ “กิเลสวัฏฏ์” กล่าวคือ กระบวนการนี้เกิดขึ้นแล้วเป็นตัวก่อให้เกิดกิเลสตัวต่อไป แล้วยังเวียนไปสู่ตัณหาอุปาทานที่หนาแน่นขึ้น แล้วก็เกิดทิฐิมานะส่งให้เกิดมานะทิฐิ ดั่งกระบวนมิจฉาทิฐิ ก่อให้เกิดมิจฉาสังกัปปะ จนถึงมิจฉาสติ แล้วก็ส่งผลร้ายมาสนับสนุนมิจฉาทิฐิให้หนาแน่นขึ้นไปอีก

พระราชวิจิตรปฏิภาณให้อรรถาธิบายว่า มานะจะเกิดและกำเริบเพราะการยุยงส่งเสริม การสั่งสอน พูดกรอกหู ประจบสอพลอ เหิมเกริมในสถานภาพของตัว กลัวคนอื่นไม่เห็นความสำคัญ กลัวคนอื่นเท่าทันตน ข่มคนอื่นให้ด้อยกว่า

“มานะ คือ ความถือตัวในสังขาร บริขาร หน้าที่การงาน สถานภาพ สถานที่อยู่ ภูมิภาค คุณภาพ ศักยภาพ บาป–บุญ ยศ ตำแหน่งต่างๆ ความถือตัวมี 3 ระดับ คิดว่าตนเองดีกว่าเขา คิดว่าตนเองเสมอเขา คิดว่าตนเองด้อยกว่าเขา ซึ่งมานะทั้งสามระดับนี้ก่อให้เกิดสภาวจิตและผลผลิตทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คือ คิดว่าตนเองเหนือผู้อื่นจะเกิดอาการดีใจและลืมตัว หวั่นไหวว่าจะมีคนเหนือกว่าตัวแล้วก็จะกดหัวผู้อื่น แต่ถ้าคิดว่าตนเองเสมอผู้อื่นก็เกิดอาการพอใจแล้วหาทางโค่นล้มผู้ที่เหนือกว่า หรือทะยานหนีผู้ที่จะมาเทียบชั้น แต่ถ้าคิดว่าตนเองต่ำกว่าผู้อื่นก็จะเกิดอาการเจียมตัวว่าด้อย น้อยใจ ไม่อยากให้ใครพบหน้า และสมน้ำหน้าตนเอง เป็นต้น”

เมื่อมานะเกิด ทิฐิก็เกิดตามมา...

“ทิฐิของผู้ที่คิดว่าตนเองสูงกว่าผู้อื่น จะเป็นผู้ที่ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ยืนยันแต่ความคิดเห็นของตน ไม่อดทนต่อคำวิจารณ์ เดือดดาลเมื่อมีผู้อื่นทักท้วง ชอบล้วงลูกงานคนอื่นมาทำ ใช้คำหยาบคำโต ชอบอวดโก้ด้วยวัตถุอุปโภค–บริโภค อยู่ในโลกแห่งความลุ่มหลง ทิฐิของผู้ที่คิดว่าเสมอกันจะยอมรับผู้ที่มีสถานภาพสูงกว่าและรักษาน้ำใจของผู้เสมอกัน ทิฐิของผู้ที่ด้อยกว่า จะเป็นคนเชื่อง่าย ไม่รู้จักคิด” พระราชวิจิตรปฏิภาณ กล่าว

วิธีแก้ “มานะ” จะต้องแก้ที่ “ทิฐิ” ก่อน แล้วจึงจะมีผลทำลายตัณหา–อุปาทาน ซึ่งวิธีแก้ทิฐิก็คือจะต้องตระหนักรู้ว่าทุกคนเกิดมาเสมอกันโดยธาตุ 4 เสมอกันโดยความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอกันโดยความเป็นผู้มีสิ่งปฏิกูลในร่างกาย เสมอกันโดยเชื่อว่าตายแล้วธาตุแปรปรวน แต่สิ่งที่ทำให้คนต่างกันคือบาปบุญ ความรู้และความสามารถ

“คนเรายอมรับซึ่งกันและกันได้โดยคุณธรรม หากเข้าถึงกฎไตรลักษณ์อันเป็นสุดยอดปฏิปักษ์ของมานะ ทิฐิ ตัณหา และอุปาทานได้ ก็จะแก้ทิฐิมานะได้” พระราชวิจิตรปฏิภาณ กล่าวทิ้งท้าย