posttoday

ระลึกถึงพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ดาวเหนือที่ไม่มีวันดับ

18 มกราคม 2553

พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย นักพัฒนาชนบท นักการศึกษา พระเถรานุเถระทั้งอรัญวาสี คามวาสี ทั้งสายธรรมยุตและมหานิกายจะมาชุมนุมใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงความอาลัยพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลเถระ)

พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย นักพัฒนาชนบท นักการศึกษา พระเถรานุเถระทั้งอรัญวาสี คามวาสี ทั้งสายธรรมยุตและมหานิกายจะมาชุมนุมใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงความอาลัยพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลเถระ)

โดย...สมาน สุดโต

พุทธศาสนิกชนทุกเพศทุกวัย นักพัฒนาชนบท นักการศึกษา พระเถรานุเถระทั้งอรัญวาสี คามวาสี ทั้งสายธรรมยุตและมหานิกายจะมาชุมนุมใหญ่ที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อแสดงความอาลัยพระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสลเถระ) ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานพระราชทานเพลิงศพ เวลา 17.00 น.วันที่ 18 ม.ค. 2553 ณ เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์ วัดเจดีย์หลวงฯ เชียงใหม่

ระลึกถึงพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ดาวเหนือที่ไม่มีวันดับ พระพุทธพจนวราภรณ์

การที่มหาชนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ก็เพราะชื่อเสียงเกียรติคุณของพระพุทธพจนวราภรณ์ หรือหลวงปู่ รองสมเด็จพระราชาคณะแห่งล้านนารูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมาหลายทศวรรษ ในฐานะพระนักพัฒนาชนบท นักเขียน นักเผยแผ่ และกวี ที่เป็นศรีแห่งล้านนา ทุ่มเททำงานเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนเกือบตลอดชีวิตของท่าน

สมเด็จพระญาณวโรดม ได้เขียนถึงพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปีพ.ศ. 2552 (หลังจากนั้น 2 เดือนสมเด็จฯ มรณภาพ) ว่า พระเถระรูปนี้มีความสำคัญต่อวงการพระพุทธศาสนามาก โดยเฉพาะทางภาคพายัพ เป็นพระเถระที่มีชื่อโด่งดังในการปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแพร่สาธารณูปการ โดยเฉพาะสาธารณะสงเคราะห์ ท่านตั้งโรงเรียนเมตตาศึกษา โรงเรียนฝึกอาชีพผู้หญิงให้ทำงานเย็บปักถักร้อยผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ เสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนผู้ชายให้ทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น ชุดน้ำชา เป็นต้น ท่านจะทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้เขามีความรู้ ให้มีอาชีพ วัดที่ท่านสร้างใหม่นั้นก็เต็มไปด้วยศิลปะงดงามสง่า ท่านทำพระพุทธบาทสี่รอยก็ไม่เหมือนใคร บางครั้งท่านทำเพื่อผู้อื่น โดยการเขียนการพูด การทำ จนอาพาธท่านก็ยังไม่หยุด

ท่านเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนา แก่ประชาชนโดยแท้ ยากที่จะหาคู่เสมอเหมือน ผู้เขียนเคยร่วมงานกับท่านมานาน ตอนเป็นเลขาธิการของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 25 ปี ตอนเป็นเลขาธิการคณะธรรมยุต 26 ปี ได้ร่วมงานอันมาก ท่านไม่เคยขาดประชุมเลย ทุกครั้งที่มีการประชุม แม้การประชุมจะจัดที่ไหน ทางใต้ ทางเหนือ ทางอีสาน ท่านไปทุกครั้ง

ท่านเกิดมาเพื่อทำงานเพื่อผู้อื่นจริงๆ ยากที่จะทำได้ ผลงานของท่านมีมาก ยากต่อการที่จะบรรยายมาก ท่านถือคติว่าคนเกิดมาแล้วก็ตาย แต่ก่อนจะตายนั้น ควรสร้างผลงานสังคม เขาได้ประโยชน์บ้างชีวิตจึงมีความหมาย มีค่า มีความสำคัญ ท่านถือคติว่า สัพพัง คุรุง ปัสสัง ธีโร ผู้รู้ย่อมหาครุได้รอบตัว

ท่านเกิดมา ทั้งชีวิตของท่านมีความหมาย มีค่า มีความสำคัญ ควรเป็นแบบอย่างของอนุชนคนรุ่นหลัง เมื่อท่านสิ้นไปอย่างนี้ เท่ากับว่าดาวเหนือแสงสว่างแห่งชาวเหนือดับไปแล้ว เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อไหร่จะมีคนอย่างนี้มาเกิดอีก หรือดังที่พระธรรมกิตติเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 4567 (ธ) ซึ่งเป็นประธานในการจัดงานพระราชทานเพลิงศพ บอกว่า หลวงปู่เป็นพระนักพัฒนาชนบทยุคแรกๆ จัดเป็นยุคบุกเบิกก่อนที่ทางราชการจะเข้ามาทำงาน ทั้งๆ ที่การคมนาคมเพื่อไปพบปะประชาชนและชาวเขาในสมัยนั้นไม่สะดวก ท่านจึงต้องขี่ม้าไปพบประชาชน

ตามประวัตินั้น ท่านเริ่มงานด้านการพัฒนาปีพ.ศ. 2500 หลังจากพบปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาว่า นักเรียนจำนวนไม่น้อยที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองยากจน

ท่านจึงก่อตั้งมูลนิธิเมตตาศึกษา และขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเมตตาศึกษา ให้การศึกษาเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ
จากประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงเรียนเมตตาศึกษามาเป็นระยะเวลา 15 ปี ท่านได้เกิดความคิดขึ้นมาว่า การให้การศึกษาแก่นักเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ก็เป็นการสร้างโอกาสให้แก่เยาวชนที่ด้อยโอกาส แต่ในขณะเดียวกันสังคมชนบทส่วนใหญ่ยังมีปัญหาความยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา มีความรู้น้อย ขาดทุนทรัพย์ที่จะนำมาลงทุนประกอบอาชีพ และขาดผู้นำในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น ในปีพ.ศ. 2517 ท่านจึงได้ร่วมมือกับชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่มีศรัทธา และต้องการอุทิศตัวเองเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านชนบท จัดตั้ง “มูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท” ขึ้น และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนลำดับที่ 911 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ปีพ.ศ. 2518

งานพัฒนาของมูลนิธิได้ดำเนินก้าวหน้าขึ้นมาเป็นลำดับ ด้วยการพัฒนาแบบผสมผสานและครบวงจรในระดับหมู่บ้าน โดยขยายขอบเขตของพื้นที่ดำเนินงานอยู่ใน 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน มีความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้รู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา

ท่านไม่ได้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาชนบทเท่านั้น การศึกษาก็ไม่ยิ่งหย่อน นอกจากมูลนิธิเมตตาศึกษา โรงเรียนเมตตาศึกษาที่กล่าวแล้ว ท่านยังร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตั้งชื่อว่า สภาการศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

ผลงานด้านเขียนและบทกวีของท่านมีหลากหลายและมากมาย ล้วนแต่เป็นข้อคิดและธรรมะเตือนสติ เตือนใจ และปลุกจิตสำนึกให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี โดยท่านเริ่มเขียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2499 เรื่องรางวัลจากความดี ต่อมาก็เขียนรวมพิมพ์เป็นเล่มหลายเล่ม ที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้ก็มีถึง 9 เล่มด้วยกัน

การที่ท่านทำงานเพื่อมวลชนนั้น หนังสือมงคลชีวิต ประสิทธิ์พร ที่เจ้าภาพพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ระบุตอนหนึ่งว่า ท่านได้รับโล่เกียรติคุณ 8 ครั้ง ประกาศเกียรติคุณ 11 ครั้ง ปริญญาบัตร/ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จาก 6 สถาบัน ได้รับอาราธนาไปดูงาน/สัมมนาทั้งในเอเชีย อเมริกา และยุโรป รวมแล้ว 20 ครั้ง

ตามประวัตินั้นท่านมีชื่อเดิมว่า จันทร์ นามสกุล แสงทอง เกิดวันจันทร์ที่ 26 พ.ย. ปีพ.ศ. 2460 ที่บ้านท่ากองิ้ว ต.ปากบ่อง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นบุตรคนที่ 6 (คนสุดท้อง) ของนายจารินต๊ะ นางแสง แสงทอง

เมื่ออายุ 8 เดือน บิดาถึงแก่กรรม มารดาอพยพครอบครัวมาอยู่ในตลาดเมืองลำพูนเพื่อค้าขาย ต่อมาอพยพครอบครัวไปอยู่บ้านแม่สาป่าแดด ต.เวียงยอง อ.เมือง จ.ลำพูน
ปีพ.ศ. 2474 มารดานำไปฝากเป็นศิษย์พระวัดป่าแดด วัดประจำหมู่บ้าน เพื่อจะบรรพชาตามพี่ชาย

เดือนพ.ค. ปีพ.ศ. 2475 เข้ามาอยู่วัดเจดีย์หลวงกับญาติที่เป็นสามเณร เรียนวิชาภาษาไทยเบื้องต้นชั้นเตรียมประถมอยู่ 4 เดือน จนอ่านออกเขียนได้ แล้วบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนต.ค. 2475 ปีพ.ศ. 2480 อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดเจดีย์หลวง พระครูมหาเจติยาภิบาล (แหวว ธมฺมทินฺโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณดิลก (พิมพ์ ธมฺมธโร ต่อมาเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ กรุงเทพฯ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพุทธิโศภน (ปั๋น) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา “กุสโล”

การศึกษานั้นสอบได้นักธรรมชั้นตรี ปีพ.ศ. 2476 สอบได้นักธรรมชั้นโท ปีพ.ศ. 2479 เมื่อปีพ.ศ. 2481 ไปอยู่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ปีพ.ศ. 2482 สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 4 ประโยค

ปีพ.ศ. 2483 กลับมาอยู่จำวัดเจดีย์หลวง แต่ไปสอบเปรียญธรรม 5 ประโยค ณ สำนักเรียนวัดบรมนิวาส
ได้รับพระราชทานโล่รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ
ได้รับการถวายรางวัลศิลปินแห่งชาติ ด้านวัฒนธรรมดีเด่น สาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน ประจำปี 2538

นอกจากนั้น เป็นที่ยอมรับความเป็นพระนักบริหาร จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ และวัดเจดีย์หลวงฯ เป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (ธ.) เป็นเจ้าคณะภาค 4567 (ธ.) อีกทั้งเป็นนักวางแผนนักพัฒนาและก่อสร้าง ปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามและอาคารเรียนต่างๆ หลายแห่ง จึงไม่ต้องแปลกใจที่ท่านได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ชั้นสามัญจนถึงเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ซึ่งยากนักที่พระเถระในภูมิภาคจะได้รับการยกย่องเช่นนี้

หลวงปู่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชน เป็นพระเถระรูปสำคัญของล้านนาที่บำเพ็ญศาสนกิจตลอดระยะเวลาแม้ในวัยชราภาพ

ดังนั้น แม้ท่านจะจากไป แต่คุณความดียังระบือไม่สิ้นสุด สอดคล้องกับกวีที่หลวงปู่แต่งว่า ตายเมื่อเป็น เหม็นมาก กว่าซากศพ เหม็นตลบ ด้วยคำฉิน หมิ่นหยาบหยาม เป็นเมื่อตาย วายชีพชื่อ กลับลือนาม ทุกเขตคาม กล่าวขวัญ สิ้นวันลืม

ขอวิญญาณท่านจงสถิต ณ สรวงสวรรค์เถิด