posttoday

"สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" พระเถระผู้มีคุณแก่แผ่นดิน

09 ธันวาคม 2564

ประวัติและปฏิปทา "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" หรือ "สมเด็จช่วง" ทายาทธรรม "หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ" พระเถระผู้สร้างคุณประโยชน์นานัปการแก่แผ่นดิน

โดย...สมาน สุดโต

พ่อมิ่ง แม่สำเภา สุดประเสริฐ ชาวบ้าน ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2468 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู แล้วตั้งชื่อบุตรชายว่า "ช่วง"

เมื่อเติบใหญ่ถึงเกณฑ์ จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา จบประถมปีที่ 4 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสังฆราชา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2482 ขณะอายุ 14 ปี แต่เป็นผู้ใฝ่ใจในการเรียน จึงมาเรียนบาลีที่วัดปากน้ำ สอบ ป.ธ.3 ได้ขณะเป็นสามเณร

เมื่อสอบได้ชั้น ป.ธ.7 หลวงพ่อสด เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ หวังจะให้เป็นทายาทปกครองวัดปากน้ำต่อไป และต้องการให้เรียนสูงๆ จึงนำมาฝากกับเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร หรือสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 14 พร้อมทั้งพยากรณ์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสมเด็จฯ

ทายาทของหลวงพ่อสดรูปนั้น คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จ ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

ท่านนับเป็นหนึ่งในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะ รัตตัญญู ทรงคุณธรรม แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นเสาหลักแห่งคณะสงฆ์ไทย เคยดำรงตำแหน่งสูงสุด คือ ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (มาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535)

อีกทั้งเป็นผู้ที่สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ตามที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ คาดหวัง แล้วยังมีชื่อขจรขจายอยู่ในกลุ่มพระมหาเปรียญเก่ง 5 รูปที่ น.อ.แย้ม ประพัฒน์ทอง (ป.ธ.9 ศิษย์เก่าวัดภคินีนาถ) ปรมาจารย์ภาษาบาลี จัดไว้ในชุดเบญจภาคี ได้แก่ “เกี่ยว นิยม พลอย ช้อย ช่วง”

1.“เกี่ยว” คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ (ป.ธ.9 พ.ศ. 2497)

2.“นิยม” คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม (ป.ธ.9 พ.ศ. 2498)

3.“พลอย” คือ พระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ วัดเทพธิดา (ป.ธ.9 พ.ศ. 2496)

4.“ช้อย” คือ พระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี วัดมหาธาตุ ราชบุรี (ป.ธ.9 พ.ศ. 2500)

5.“ช่วง” คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ (ป.ธ.9 พ.ศ. 2497)

ในฐานะทายาทจึงได้กลับมาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี 2499 และได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี 2508 สร้างสำนักเรียนวัดปากน้ำให้มีชื่อเสียงว่าเป็นสำนักเรียนที่สอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นสนามสอบบาลีชั้นประโยค ป.ธ.5 ในภูมิภาค

นอกจากนี้ ในส่วนตัวของเจ้าประคุณสมเด็จนั้น มีความแตกฉานทางภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง สามารถสนทนาภาษาบาลีได้อย่างยอดเยี่ยมรูปหนึ่งในวงการสงฆ์ไทย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อปี 2539 ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงตำแหน่งทางการปกครอง การเผยแผ่ และการศึกษา ว่าท่านได้รับความไว้วางใจสูงขนาดไหน กล่าวกันว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) มีบารมีดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งด้วยกัน

นอกจากดำรงฐานะสูงส่งในสังฆมณฑลแล้ว ยังมีความเมตตาต่อชนทุกชั้น จึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งของบรรดาชาวพุทธ สมกับที่ประชาชนชาวพุทธยกให้ว่า “ชีวิตนี้มีแต่ให้”

ไม่ต้องดูอื่นไกล ไปแค่พุทธมณฑล จ.นครปฐม จะเห็นถาวรวัตถุที่เจ้าประคุณมอบปัจจัยให้สร้างเพื่อพระพุทธศาสนาจำนวนมาก เฉพาะที่เด่นๆ ได้แก่ พระไตรปิฎกจารึกในแผ่นหินอ่อน พร้อมทั้งเจดีย์ วิหาร เพื่อธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน มูลค่าหลายร้อยล้านบาท นอกจากนั้น ได้แก่ หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นที่ประชุมกรรมการ มส.ทุกวันนี้

สำหรับในต่างจังหวัดที่ผู้เขียนพบเห็น ได้แก่ เสนาสนะและถาวรวัตถุในวัดท่าตอน จ.เชียงใหม่ และสร้างวัดพุทธานุภาพ จ.น่าน วัดธรรมานุภาพ จ.แพร่ และวัดสังฆานุภาพ จ.กำแพงเพชร

อย่างไรก็ดี มิใช่สร้างแต่นอกวัด ในวัดของตนเองก็สร้างเป็นแลนด์มาร์ค ได้แเก่ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล และพระพุทธรูปใหญ่ปางสมาธิ สูง 69 เมตร หน้าตัก 40 เมตร หล่อด้วยทองแดงบริสุทธิ์ 99.99 แต่ละชิ้นงานมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

"สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" พระเถระผู้มีคุณแก่แผ่นดิน

ผลงานในต่างประเทศที่ผู้เขียนพบเห็น ได้แก่ ศาลาปฏิบัติธรรม ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองธกา (Dhaka) ประเทศบังกลาเทศ ถาวรวัตถุหลายแห่งในประเทศศรีลังกา

ทั้งนี้ ไม่นับในประเทศญี่ปุ่น ที่วัดปากน้ำและคณะสงฆ์ในญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยมีชาวญี่ปุ่นมาขออุปสมบทและอยู่จำพรรษาที่วัดปากน้ำหลายรูป มีอยู่รูปหนึ่งชื่อ พระซาซากิ บวชอยู่จนสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ (จากหนังสือที่ระลึกสมโภชสุพรรณบัฏ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เดือน พ.ค. 2539)

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงด้านศาสนสัมพันธ์นั้น ท่านได้รับการยอมรับจากนานาประเทศที่เป็นชาวพุทธแม้จะต่างนิกายกันก็ตาม เพราะวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล นำไปสู่ความร่วมมือในการฟื้นฟูและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ขยายไปทั่วโลก

เนื่องด้วยคุณงามความดีเป็นที่ประจักษ์ของชาวพุทธนานาชาติเช่นนี้ จึงได้รับเกียรติจากทุกนิกายว่าเป็นเสมือนหนึ่งพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งของเขา บางประเทศได้ถวายสมณศักดิ์เกียรติคุณอย่างสูง อาทิ

พ.ศ. 2520 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศบังกลาเทศ ที่พระศาสนธชมหาปัญญาสาระ

พ.ศ. 2524 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระชินวรศาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณปาโมกขาจริยะ

พ.ศ. 2525 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระศาสนโชติกสัทธัมมวิรทวิมลกิตติสิริ และได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิริเตปิฏกวิสารโท

พ.ศ. 2526 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฏกบัณฑิตธัมมกิตติสสิริยติสังฆปติ

พ.ศ. 2526 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายธรรมธีรราชมหามุนีเถระ

พ.ศ. 2558 รัฐบาลเมียนมา ถวาย “อัคคมหาบัณฑิต” ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พ.ศ. 2560 สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาตั้ง เป็นประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือหมู่บ้านรักษาศีล 5

ส่วนสมณศักดิ์นั้น เริ่มจากเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี วันที่ 5 ธ.ค. 2499 จนกระทั่งคำพยากรณ์ว่าจะได้เป็นสมเด็จเป็นจริง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2538 ในราชทินนามว่า “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไพศาลหิตานุหิตวิธาน ปฏิภาณสุธรรมภาณีศรีสังฆโสภณ วิมลศีลาจารนิวิฐ ตรีปิฏกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี” สอดคล้องกับปฏิปทาในความเป็น "พระเถระผู้มีคุณแก่แผ่นดิน"