posttoday

หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอน...ชาติภูมิที่สามผาน

26 ธันวาคม 2553

เรื่องการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ และมีศีลนี้ ไม่เพียงยึดถือมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสแต่ได้นำมาสอนลูกศิษย์ที่มีอาชีพค้าขายอยู่เสมอๆ....

เรื่องการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ และมีศีลนี้ ไม่เพียงยึดถือมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสแต่ได้นำมาสอนลูกศิษย์ที่มีอาชีพค้าขายอยู่เสมอๆ....

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

พระอาจารย์ฟัก เกิดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2478 ณ บ้านเลขที่ 1 หมู่ 4 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เป็นบุตรคนโตของคุณพ่อสังข์ คุณแม่เจน พูลกสิ มีน้องสาวคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุได้เพียง 9 ขวบ

“ตอนเด็ก ท่านอ้วนขาวเหมือนลูกฟัก เลยถูกเรียกว่า ฟัก แต่พ่อแม่จะเรียกท่านว่า ‘หนู’ มีน้องสาวหนึ่งคนชื่อ แฟง เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 5 ขวบ ท่านเลยกลายเป็นลูกโทนไปโดยปริยาย” คุณยายเวง เพื่อนรุ่นพี่ของท่านพระอาจารย์ สมัยเป็นฆราวาส กล่าวถึงที่มาของนามพระอาจารย์ฟัก

ครอบครัวพูลกสิ เป็นครอบครัวชาวสวนเล็กๆ ที่ไม่ร่ำรวยแต่ไม่ขัดสน หากแต่อบอุ่นอยู่ท่ามกลางญาติฝ่ายคุณพ่อสังข์ เพราะคุณแม่เจนพื้นเพเป็นคน ต.ศรีพญา เมื่อออกเรือนจึงย้ายมาอยู่กับคุณพ่อสังข์ที่ ต.สองพี่น้อง

หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ตอน...ชาติภูมิที่สามผาน

พระอาจารย์ฟัก บอกเล่าถึงบุคลิกของโยมพ่อไว้ว่า คุณพ่อสังข์เคยเป็นเสนารักษ์เก่า ค่อนข้างดุ ใจร้อน ปากไวแต่ไหวพริบดี “เจ้าปัญญา” เวลาพูดโต้ตอบกับผู้คน มีจิตใจดี เมตตาสัตว์ เป็นคนอยู่ในศีลในธรรม มักโน้มน้าวลูกและเพื่อนๆ ลูกให้ถือศีลห้าอยู่เสมอ

เมื่ออายุครบเกณฑ์ได้รับการศึกษา โยมบิดาได้นำไปฝากเรียนที่โรงเรียนวัดสามผาน จนจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใน พ.ศ. 2490 ความที่เป็นคนฉลาด ความจำเป็นเยี่ยม เรียนเก่งมาก จึงสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์

ครูขจร หรรษาพันธ์ ผู้เคยสอนหนังสือพระอาจารย์ฟักเคยเล่าไว้ว่า โรงเรียนวัดสามผานนั้นมีห้องเรียนคือ ใต้ถุนและศาลาการเปรียญวัดสามผาน

“ท่านเป็นเด็กที่มีนิสัยเงียบขรึม พูดน้อยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสะอาด มีระเบียบวินัยตั้งใจเรียน ไม่เคยทำความยากลำบากให้กับ|ครูผู้สอน ครูจำท่านได้ดีเพราะท่านสนใจตั้งใจเรียน ชอบนั่งแถวหน้า มีความสามารถในการเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีเยี่ยม ครั้งหนึ่งครูให้นักเรียนในชั้นทดลองทำโจทย์คณิตศาสตร์ข้อหนึ่ง ซึ่งนับว่ายากมาก ปรากฏว่าท่านหาคำตอบได้เพียงคนเดียว”

ความสามารถทางคณิตศาสตร์ดังว่านี่เอง ทำให้เวลาใครจะซื้อขายที่ดินหรือต้องการคำนวณที่ดินมักมาหาท่าน เพื่อให้ช่วยคำนวณว่าถ้าแปลงเนื้อที่จากที่วัดเป็นวามาออกเป็นไร่จะได้เท่าไหร่อยู่เนืองๆ

การศึกษาทางโลกของท่านยุติลงที่ชั้น ป.4 เหมือนคนอื่นๆ ในสมัยนั้น ซึ่งถือว่าเรียนแค่นั้นก็พอแล้ว เพราะถ้าจะเรียนต่อต้องเดินทางเข้าไปเรียนในตัวจังหวัด ซึ่งการเดินทางในยุคนั้นลำบากมาก เว้นแต่จะย้ายไปอยู่ในตัวจังหวัด

เป็นที่รู้กันในหมู่ญาติมิตรว่า สมัยเป็นเด็กนั้น ท่านเป็นคนกลัวผีมาก มักจะบอกใครๆ ว่าเห็นผีเสมอเวลาไปไหนค่ำๆ มืดๆ จึงต้องหาเพื่อนไปด้วยตลอด แต่พอถามไปถามมาจึงรู้ว่า เวลาเห็นอะไรที่เป็นเงาตะคุ่มๆ อยู่ในความมืดนั้น ท่านก็ว่าเป็นผีอยู่ร่ำไปตามประสาคนกลัวผี

แม้จะกลัวผี แต่ก็มีกิจกรรมยามค่ำอย่างหนึ่งซึ่งท่านนิยมมากในวัยเด็กนั่นคือ การจับปลายามค่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดใจกับโยมพ่อในเรื่องนี้อยู่เสมอ

เวลาจะจับปลาในยามค่ำ ท่านจะออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่มืดเพื่อไปชักชวนญาติ และเพื่อนๆ อย่าง คุณยายเวง, ก๋งสวัสดิ์ หรือกำนันเวก ซึ่งเป็นญาติทางฝ่ายพ่อและเป็นเพื่อนรุ่นเด็กกว่าท่าน 4-5 ปี ให้พวกเขาไปเป็นเพื่อน

“เวลาไปก็จะจุดไต้นำทางเดินกันไปยังทุ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็คือด้านหน้าทางเข้าวัดเขาน้อยนั่นแหละ ผมเองก็ไม่ค่อยอยากไป เพราะเป็นพวกกลัวผีเช่นกัน ท่านจับปลาเก่งมาก มักจะได้ปลาทุกงวดมากบ้างน้อยบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะได้ไม่น้อย ผมไม่ค่อยได้กับเขาหรอกแต่ท่านก็จะแบ่งให้เสมอ ปลาที่ได้ก็ไม่ได้เอาไปขายมักมาแจกกันในหมู่ญาติ” กำนันเวก เล่า

ภายหลังบวชแล้วรู้ว่าโยมพ่อยังเก็บอุปกรณ์ตกปลาไว้หลังบ้าน ได้ขอให้โยมบิดาเอาไปเผาทิ้งให้หมด เมื่อท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดเขาน้อยแล้ว คราวใดท่านนึกได้ถึงกรรมนี้ ท่านจะให้คนไปซื้อปลาเป็นๆ ในตลาดที่กำลังรอฆ่า แล้วนำมาปล่อยเสมอพร้อมบอกบุญนี้ให้กับคณะผู้เคยร่วมทำกรรมนั้น ร่วมกันมาให้ปัจจัยซื้อปลาคนละเล็กละน้อยเสมอ

กิจกรรมยามกลางคืนที่ทำให้ชาวคณะกลัวผียอมฝ่าความมืดออกจากบ้านอีกประการหนึ่งได้คือ การออกไปดูลิเก แต่โยม|บิดาจะอนุญาตให้ออกไปดูลิเกได้ก็ต่อเมื่อคุณยายเวงซึ่งเป็นญาติเดินมารับท่านเท่านั้น ขากลับเมื่อลิเกเลิกแล้ว คุณยายเวงหรือญาติๆ ก็ต้องมาส่งที่บ้านและรอให้โยมมารดาเจน ถือตะเกียงออกมารับจึงลากลับได้ เห็นได้ว่าทั้งบิดามารดาดูแลเอาใจใส่ท่านมาก ทั้งเข้าใจในความรู้สึกกลัวผีของลูก ทั้งยังห่วงระวังไม่ให้ไปเที่ยวกับคนที่ไม่รู้จัก

พระอาจารย์ฟักเป็นผู้ที่มีปัญญาตั้งแต่เด็กๆ กำนันเวกสหายรุ่นน้องในช่วงเยาว์วัยเล่าว่า ท่านชอบชวนไปเก็บผลไม้บนเขาน้อย ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่รกร้างไม่มีเจ้าของ มีผลหมากรากไม้ขึ้นเองหลากชนิด และแต่ละชนิดมีผลดกมาก เช่น ลูกสำรอง ลูกคุย เป็นสถานที่โปรดปรานสำหรับเด็กๆ ในหมู่บ้าน

ครั้งหนึ่งท่านชวนกำนันเวกไปเก็บลูกคุย ซึ่งมีผลสีขาว เมื่อสุกผลจะเป็นสีแดงออกเป็นช่อ ความที่กำนันเวกอายุอ่อนกว่าจึงมักยอมฟังท่านทุกเรื่อง ก่อนขึ้นต้นคุย พระอาจารย์ฟักได้ตกลงกับกำนันเวกเสียก่อนว่า “พวกที่เป็นช่อๆ ให้เวกเอาไปนะ พวกร่วงๆ นี่เราจะเอาเอง” ฟังดูเหมือนพี่ใหญ่เสียสละให้น้อง พอขึ้นไปเก็บเสร็จลงมาแบ่งกัน ท่านพระอาจารย์ฟักกลับได้เยอะมาก ส่วนกำนันได้ติดมือกลับไม่กี่ช่อ

กำนันเวกมาพิจารณาย้อนหลังจึงได้ความว่า “ต้นคุย” นี้สูงใหญ่มากเมื่อขึ้นไปเด็ดจะต้องโยนผลมันกลับลงมา พวงช่อที่เด็ดออกมาต้องระกิ่งไม้ลงมาเรื่อย กว่าจะถึงพื้นย่อมร่วงเกือบหมด เรื่องนี้คงอยู่ในใจกำนันไม่ลืม เมื่อพูดขึ้นมาให้ท่านพระอาจารย์ฟักฟังเมื่อไหร่ ท่านจะหัวเราะจนหน้าแดง พร้อมบอกว่า จำได้ๆ

เรื่องซุกซนในวัยเป็นเด็กอีกอย่างคือชอบเล่น “น้ำเต้าปูปลา”

“น้ำเต้าปูปลา” เป็นการพนันชนิดหนึ่งซึ่งมักมีเล่นในงานโอกาสพิเศษ เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และในงานขึ้นบ้านใหม่ของผู้ใหญ่ชุน ชนะสิทธิ์ ก็มีการแสดงลิเก และเล่นพนันน้ำเต้าปูปลาด้วย งานนั้นท่านอยู่ในวงน้ำเต้าปูปลา ขณะที่กำนันเวกกำลังดูลิเกเพลินอยู่ ขณะทุกคนต่างสนุกสนานอยู่นั้น จู่ๆ ตำรวจก็พรวดพราดมาจากไหนไม่ทันรู้ตัวกรูเข้ามารวบขาพนันทั้งหลาย รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านเจ้าของงานไปโรงพักท่าใหม่แบบยกก๊วน

ถึงโรงพักสอบสวนแล้ว ผู้กองบุญฤทธิ์ สมิท เห็นนามสกุล “พูลกสิ” เลยถามว่าเป็นอะไรกับนายสังข์ พอรู้ว่าท่านเป็นลูกของเพื่อน ผู้กองก็เมตตาเอาตัวออกมาไว้ในห้องรอให้บิดามารับตัวกลับ

ฝ่ายคุณพ่อสังข์เมื่อรู้ว่า ลูกถูกจับพนันก็โมโหมาก แต่ความรักและห่วงลูกมีมากกว่า จึงชวนพวกญาติๆ จุดไต้เดินออกจากบ้านไปโรงพักท่าใหม่ทันที คณะตามลูกเป็นกลุ่มใหญ่ ถือไต้เดินไปตามถนนจากเขาน้อยไปท่าใหม่ห่างกัน 10 กว่ากิโลเมตร ตั้งแต่เที่ยงคืนยันตี 3 ของวันใหม่จึงถึงโรงพัก ตลอดทางพ่อท่านด่าลูกรักไม่ขาดปากประมาณว่า นี่ถ้าผู้กองเขาจะจับขังก็จะขังให้เข็ดไม่ต้องรับออกมาเลย ปากตะโกนด่าลูกไปได้ยินกันทั่วถึง เท้าก็รีบจ้ำก้าวไปด้วยความห่วงลูกมาก ขากลับรับตัวลูกมาด้วยแล้ว ก็เอ็ดลูกเสียงดังมาตลอดทางจนสว่าง ใกล้ 6 โมงเช้าจึงถึงบ้าน

เรื่องนี้เป็นที่โจษจันเลื่องลือของชาวบ้านแถวนั้นมาก และเป็นเหตุให้ท่านพระอาจารย์ฟักกระซิบข้างหูกำนันเวกว่า “คงต้องเลิกแล้วละ พ่อด่าเหลือเกิน”

แม้จะซุกซนไปบ้างตามวัย แต่การได้รับการอบรมจากโยมบิดา ซึ่งมักจะพร่ำสอนเรื่องศีลห้าอยู่เป็นประจำนั้น ทำให้พระอาจารย์ฟักมีนิสัยซื่อตรง ไม่เอารัดเอาเปรียบใครและพยายามครองตนอยู่ในศีลในธรรมมาตลอด

ครั้งหนึ่ง ท่านไปพำนักอยู่กับน้าเขยซึ่งมีอาชีพฆ่าหมู

ท่านว่าวันนั้นเขาจะฆ่าหมู ตัวท่านเองก็ทราบ แต่แกล้งทำเป็นหลับไม่ยอมตื่น เพราะไม่อยากจะมีส่วนในเรื่องนี้

“ได้ยินเสียงหมูมันร้องแล้วสงสารมาก”

กระทั่งเขาเชือดเสร็จท่านจึงค่อยทำทีตื่นลงมาช่วย ถึงโดนน้าดุว่า ขี้เกียจ แต่อย่างไรเสียท่านก็ไม่อยากเชือดหมู

สมัยหนุ่มๆ ถึงแม้จะมีเพื่อนฝูงทั้งดีและเกเรบ้าง แต่ท่านเองไม่ดื่มเหล้าเพียงแต่สูบบุหรี่เก่ง และไม่ชอบมีเรื่องมีราวกับใคร ไม่เอาธุระเรื่องชกต่อย หากแต่เป็นคนมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อญาติมิตรอยู่เสมอ

ท่านเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า สมัยก่อนไม่ได้ร่ำรวย ใส่เสื้อหลังขาด ขี่จักรยานไปตลาดกับเพื่อนคนหนึ่ง พอไปถึงเจอเพื่อนฝูง ถึงไม่มีเงินในกระเป๋าก็บอกให้เพื่อนๆ นั่งรอ ส่วนท่านเองขี่จักรยานไปยืมเงินมาเลี้ยงพวกเขา

ท่านขยันทำมาหากิน ประหยัดอดออม และซื่อสัตย์อย่างยิ่ง

ก๋งสวัสดิ์รุ่นพี่ที่สนิทกับท่านพระอาจารย์ฟัก เพราะภรรยาก๋งเป็นญาติทางโยมพ่อโยมแม่ รู้ว่ามีงานที่ไหนมักจะชอบชวนญาติรุ่นน้องผู้นี้ไปทำงานด้วยเสมอ เพราะเห็นว่า ขยันและนิสัยดี

กำนันเวกเล่าว่า ก่อนบวช พระอาจารย์ฟักทำงานตลอดปีไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง หมดจากงานในสวน ถ้าเป็นหน้าผลไม้ ท่านและกำนัน หรือบางทีก็จะเป็นพวกญาติๆ มักจะพากันถีบจักรยานคันใหญ่ที่ใช้บรรทุกผลไม้ใส่ลังวางซ้อนไว้ด้านหลังได้เที่ยวไป ตระเวนเข้าไปเหมาผลไม้จากเจ้าของสวน โดยใช้เครื่องชั่งแบบโบราณที่เป็นแขนมีตุ้มถ่วงเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก ซื้อคราวละเป็นสิบๆ กิโลกรัมต่อเที่ยว แล้วนำมาวางรวมกันในจุดขายใหญ่ๆ เช่นที่ตลาดสามผาน เพื่อรอพ่อค้าคนกลางมาเหมาใส่รถบรรทุกไปขายยังกรุงเทพฯ หรือ อ.ท่าใหม่

“บางทีก็ถีบรถเข้าไปซื้อขายขี้ยางด้วยวิธีเดียวกัน ท่านเป็นคนละเอียดมาก เวลาไปรับซื้อของตามสวนซึ่งไปกันหลายคน จะมีเงินไปเป็นพันบาท พอกลับมาทำบัญชีถ้าพบว่าเงินขาดไปแม้แต่สลึงเดียวก็ต้องหาให้เจอว่าใครเอาไปซื้อใช้อะไร ซื้อขนมที่ไหนต้องบอกหมด

“ด้วยความที่ท่านเป็นคนซื่อสัตย์มาก เวลาท่านไปรับซื้อยางจากสวนนายอี่ แล้วมาขายได้ราคาดีจากนายใช้ ที่ตลาดท่าใหม่ ท่านก็จะแบ่งกำไรส่วนที่ได้มากเกินปกตินั้นคืนให้กับนายอี่เจ้าของสวน เพื่อไม่เอากำไรเกินควร คนอื่นไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าท่านขายได้ราคาเองก็ควรเก็บไว้ แต่ท่านว่าแบบนี้มันเห็นแก่ตัวเกินไป ถ้าแบ่งกำไรกัน คราวหน้าใครๆ ก็อยากขายให้ท่าน

“แม้แต่การรับซื้อเงาะเจ้าของสวนจะเหมาขายกันเป็นพันๆ ลูก ถ้าเกินเศษนิดหน่อย เขาก็จะแถมให้แต่ท่านมักจะคำนวณคืนเขาไปเสมอ แต่พอบางครั้งถ้าท่านพลาดไปซื้อขี้ยางที่เขาพันหินซุกไว้ โดยท่านไม่รู้ พอเอาไปขาย คนซื้อไปก็นำมาคืน ท่านต้องเอากลับมาคัดหินออกทั้งหมด โดยไม่ยอมหลอกขายต่อเพื่อเอาตัวรอด” กำนันเวก เล่า

เรื่องการค้าขายด้วยความซื่อสัตย์ และมีศีลนี้ ไม่เพียงยึดถือมาแต่ครั้งเป็นฆราวาสแต่ได้นำมาสอนลูกศิษย์ที่มีอาชีพค้าขายอยู่เสมอๆ เช่นคราวหนึ่ง ท่านถามโยมมาว่า “ค้าขายต้องโกหกไหม?”

เขาว่า “ต้องโกหกซีปู่ ไม่งั้นขายไม่ได้”

ท่านพระอาจารย์ฟักจึงสมมติเรื่องขึ้นว่า ถ้าองค์ท่านขายพุทราคนซื้อมาถามว่าพุทรามีหนอนไหม? ท่านจะตอบว่า “น่าจะมีแต่ฉันจะเลือกให้”

ท่านว่า “ในเมื่อเราไม่โกหก แทนที่เขาจะซื้อน้อยจะขายได้มากกว่าตอบไม่จริง”

จะว่าไปหลักการตลาดสมัยใหม่ก็ว่าไว้เช่นนี้ และอยู่ในหลักสุจริตธรรมดังที่พระอาจารย์ฟักได้ปฏิบัติและพร่ำสอนมานานแล้ว
พอหมดหน้าผลไม้ หรือหน้ายาง ท่านจะไปทำงานช่างไม้ โดยเริ่มฝึกงานกับช่างปิ๋น ซึ่งเป็นช่างฝีมือดีที่สุดของหมู่บ้านในสมัยนั้น และเป็นช่างผู้สร้างโบสถ์วัดสามผาน ทำให้ท่านกลายเป็นช่างไม้ที่ฝีมือดีได้รับค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 25 บาทต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงมากในสมัยนั้น ซึ่งช่างตัดเสื้อได้ค่าแรงเพียงวันละ 3 บาท

นอกจากนี้ ท่านยังมีฝีมือในเรื่องสานตอก ทำตะแกรง ทำกระด้งได้อีกต่างหาก

ฉะนั้น จึงเป็นคนมีงานตลอดทั้งปีและไม่เคยว่างอย่างกำนันเวกว่า

เมื่อรุ่นหนุ่มเป็นที่รู้กันในหมู่ญาติว่า ท่านชอบพอกับสาวคนหนึ่งเป็นคนท่าใหม่ กะบวชให้โยมบิดาสัก 7 วันแล้วออกมาแต่งงานกับสาวคนนั้น แต่หลังจำเนียรกาลผ่านไปหลายสิบพรรษาแล้ว ท่านก็ยังว่าท่าน “ไม่เคยบวชครบ 7 วันสักที”

สุภาพสตรีท่านนั้นได้แต่งงานไปแล้ว เธอเคยพาสามีมากราบทำบุญกับท่าน ท่านก็ได้ทักทายว่ามาจากไหน เธอจึงถามท่านกลับว่า จำกันไม่ได้หรือ ท่านนิ่งคิดไปนานมาก ถึงจะระลึกได้

อะไรๆ ที่ไม่ติดอยู่ที่ใจก็มักจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเป็นธรรมดา