posttoday

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ตั้งเด่นเป็นสง่ามา150ปี

26 ธันวาคม 2553

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ เป็นคริสตจักรแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เจริญนคร ซอย 59 เยื้องกับโรงพักสำเหร่ ที่สร้างมา 150 ปี....

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ เป็นคริสตจักรแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เจริญนคร ซอย 59 เยื้องกับโรงพักสำเหร่ ที่สร้างมา 150 ปี....

โดย...สมาน สุดโต

150 ปีแห่งสิ่งปลูกสร้างถือว่าเป็นเวลาที่เนิ่นนานจนถือเป็นโบราณสถาน แต่ถ้าเป็นการเผยแผ่คำสอนแห่งศาสนาให้เป็นที่ยอมรับของคนที่นับถือศาสนาต่างกันไม่ถือว่านานเกินรอ โดยเฉพาะการเข้ามาแห่งคริสต์ศาสนาสู่ราชอาณาจักรสยามที่ใช้สันติวิธี ผ่านการศึกษาและอารยธรรมที่แตกต่าง

ก่อนวันคริสต์มาส 4 วัน ผมเดินทางไปหาข้อมูลที่คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ซึ่งเป็นคริสตจักรแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่เจริญนคร ซอย 59 เยื้องกับโรงพักสำเหร่ ที่สร้างมา 150 ปี โดยคาดหวังว่าหากพบเจ้าหน้าที่ก็จะขอสัมภาษณ์และขอถ่ายรูป|โบสถ์เก่าแก่แห่งนี้ แต่ไม่พบใครเลยนอกจากคนงานที่กำลังบูรณะโบสถ์ หอระฆัง และถมดิน

ที่หน้าบันโบสถ์มีจารึกตัวเลขอาระบิกว่า 1860 และ 1910 ส่วนที่หอระฆังมีตัวเลขจารึกว่า 1912 ตัวเลขดังกล่าวบอกปีที่สร้างและบูรณะ

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ตั้งเด่นเป็นสง่ามา150ปี

สถาปัตยกรรมของโบสถ์ หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าวสีแดง หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่สร้างสิ่งประดับใดให้ลานตา ไม่ว่าภายนอกและภายใน เน้นความเรียบง่าย ห้องโถงในโบสถ์กว้างและลึก ขณะที่ผมไปดูนั้นคนงานกำลังขะมักเขม้นตกแต่งผนังและคิ้วเสารอบนอก ส่วนภายในคนงานก็เร่งมือตกแต่งฝ้าและเพดาน เมื่อดูข้างล่างเห็นเป็นใต้ถุนโล่ง คนงานคุยให้ฟังว่าแต่เดิมโบสถ์เตี้ย น่าจะเจอปัญหาน้ำท่วม จึงยกพื้นสูงขึ้นกว่าเดิม 2.6 เมตร ซึ่งขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว ยังเหลืออยู่แต่หอระฆังที่ช่างใช้รอกกว้านเพื่อยกขึ้นให้ได้ระดับเดียวกันกับตัวโบสถ์ ซึ่งคงใช้เวลาพอสมควร เพราะการจะกว้านขึ้นแต่ละเซ็นนั้นยากมากๆ ต้องใช้ทั้งฝีมือและความชำนาญและเทคนิคอย่างมาก งานที่ยากเช่นนี้ บริษัทประดิษฐ์ธนานุรักษ์ เป็นผู้รับเหมามาตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 และจะสิ้นสุดสัญญาในเดือน ม.ค. 2554

ส่วนบริเวณที่เคยเป็นลานเตียนโล่งนั้น บัดนี้กำลังถูกถมดินให้สูงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ซึ่งเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ โบสถ์แห่งนี้จะดูโดดเด่นเป็นสง่ายิ่งขึ้น

เมื่อเข้าไปดูในโบสถ์ ขณะที่คนงานกำลังตีฝ้าและเพดานอยู่เพื่อจะได้เห็นภาพความโบราณอย่างทั่วถึง แต่ไม่เห็นอะไรนอกจากแผ่นศิลาจารึกที่กำแพงด้านหน้าที่บอกเล่าอดีตว่าสร้างและซ่อมแซมเมื่อไหร่ ใครบริจาคบ้าง

ข้อความในจารึกว่า

เดิมวิหารนี้พวกครูอเมริกันคือ Rev. S.Mattoon, Rev.J Wilson Rev. S.R. House MD ช่วยกันสร้างขึ้น แต่ ณ ปีคริสต์ศักราช 1861 ถึงปีคริสต์ศักราช 1910 วิหารชำรุดลง จึงพวกศิษย์คริสเตียนสยามได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เพิ่มให้ยาวกว่าเดิม 6 ศอกเศษ

วิหารสถานก่อสร้าง สืบบรรพ์ ห้าสิบฉนำนานครัน ครบถ้วน เครื่องล่างเครื่องบลอัน ออกโซมพ่อ บ่อซ่อมจะเสียถ้วน เล่ห์ให้เลือกก่อน จึงอาทรทั่วซ้องศรัทธา พวกคริสต์ศาสนานับพร้อม สละทรัพย์ออกบูชา ฉลองพระคริสต์แฮ ปฏิสังขรณ์น้อม แน่ สร้างกุศล

รายชื่อผู้บริจาคมีหลายราย เช่น Wang Sung School (ตัวอักษรเลือนบางตัว) พูลศรี นายยอด คริสต์สัมพันธวงศ์ นายจิ้น แม่นาค แม่เหนียว แม่เนียน แม่เพียร แม่ทองอยู่ แม่ยี่สุ่น แม่หรุ่น แม่มาลี ครูจ้อย นายกิมเฉี่ยว เปลี่ยน แปลก เป็นต้น ส่วนจำนวนเงินที่บริจาคสูงสุด 1,005 ต่ำสุดคือ 10 (น่าจะเป็นเงินบาท)

ประวัติการได้ที่ดินจนกระทั่งสามารถสร้างโบสถ์ได้นั้น ในการฉลองคริสตจักรสำเหร่ 150 ปี คริสตจักรพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง นำเรื่องการได้ที่ดินมาพิมพ์ในหน้า 20-21 ว่า หลังจากตั้งโรงเรียนขึ้นในสถานที่ที่ในหลวงพระราชทานให้ โรงเรียนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัดว่าที่ดินแปลงนี้ไม่อาจขยายให้พอเพียงกับความเจริญได้ เหตุนี้ มร.ดี โอ คิง จึงให้ของขวัญปีใหม่เป็นที่ดินแปลงหนึ่งทางตอนใต้ของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.สำเหร่ ได้ปลูกสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นภายหลัง ในเดือน พ.ย. 1857 (พ.ศ. 2400) ได้ย้ายที่ทำการมิชชันนารีไปอยู่ที่ใหม่ ในสถานที่ใหม่นี้กิจการสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ได้เกิดขึ้นมาก และกิจการต่างๆ ของคริสเตียนได้ขยายติดต่อมาจนทุกวันนี้

ตารางวาละ 3 สลึง

หมอสมิธกล่าวถึงการได้ที่ดินผืนนี้ไว้ในหนังสือ The Golden Days in Bangkok ว่า มีพ่อค้าชาวอเมริกันคนหนึ่ง นายคิง (Mr. D.O King) ทำการค้าขายที่เมืองกวางตุ้ง ได้เดินทางมาเมืองไทยและต้องการซื้อที่ดินเพื่อขยายกิจการของเขาในกรุงเทพฯ แต่เขายังไม่มีสิทธิซื้อเพราะอยู่เมืองไทยยังไม่ครบ 10 ปี นายคิงจึงขอให้หมอแมตตูน (หมอมะตูน) เป็นผู้ซื้อที่ดินให้แก่ตน (หมอมะตูนอยู่ในสยามเกิน 10 ปีแล้วในขณะนั้น) โดยสัญญาว่าจะแบ่งที่ดินให้ส่วนหนึ่งเพื่อให้เป็นที่ทำการของคณะมิชชันนารี แต่น่าเสียดายการค้าของนายคิงล้มเหลว ภาระในการซื้อขายที่ดินจึงเป็นของหมอมะตูน ต่อมาที่ดินนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะมิชชันนารี

คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ตั้งเด่นเป็นสง่ามา150ปี

ส่วนราคาที่ดินนั้น หมอสมิธ ซึ่งซื้อที่อีกแปลงหนึ่ง (น่าจะใกล้ๆ กัน) บอกว่าราคาน่าจะอยู่ที่ตารางวาละ 3 สลึง

หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งคริสตจักรสำเหร่เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียน Samray Boys’ School นั้น แท้จริงไม่มีใครกล้ามาอยู่ เพราะเป็นแดนประหาร จึงซื้อได้ในราคาตารางวาละ 3 สลึง มีเรื่องการประหารเจ้าอนุเวียงจันทน์และขุนนางผู้หนึ่งที่ไปติดต่อกับฝ่ายใน ลูกขุนตัดสินให้ประหารชีวิต ณ บริเวณนี้

ในหนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ในปี 1853/2396 เกิดผู้นำคนสำคัญของคนไทย ในปีเดียวกันนี้ครอบครัวหมอมะตูนรับเด็กหญิงอายุ 9 ขวบ เป็นลูกของพราหมณ์ ชื่อจันทะ เป็นเด็กขี้โรคมาเลี้ยงไว้ ในปี 1857/2400 ครอบครัวมะตูนนำเด็กคนนี้ที่เปลี่ยนชื่อเป็นเอสเตอร์กลับไปสหรัฐ ได้รับการศึกษาเป็นพยาบาล เดินทางกลับสยามในปี 1861/2404 ขณะเดินทางกลับและอยู่บนเรือได้รับพระเยซูคริสต์

เอสเตอร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหมอเต๋อ มีความรู้ความสามารถในฐานะนางผดุงครรภ์สมัยใหม่ ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการประสูติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

ส่วนหมอเฮาส์ ซึ่งอยู่คณะเดียวกับหมอมะตูน ได้รับเด็กชายชื่อแน ที่ป่วยหนักมาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาได้แต่งงานกับนางเอสเตอร์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองคนแรกของคริสตจักรสำเหร่ มีหมอมะตูนเป็นศิษยาภิบาลคนแรก จนกระทั่งหมอมะตูนกลับมาตุภูมิ 1865/2408 เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม

หมอมะตูน

Rev. S.Mattoon ที่คนไทยเรียกชื่อว่าหมอมะตูน มีความสำคัญมาก หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี กล่าวว่า ท่านเป็นผู้ซื้อที่ดินสำเหร่ เป็นผู้ช่วยทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับทูตอเมริกัน ต่อมาได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลสหรัฐให้เป็นกงสุลอเมริกันคนแรกประจำประเทศสยาม และภรรยาหมอมะตูนเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในปี 1852/2395 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ตัวหมอมะตูนเองเรียนภาษาไทยและสามารถใช้ได้อย่างรวดเร็ว จึงออกแจกใบปลิวไปจังหวัดต่างๆ เช่น พิษณุโลก อยุธยา พระบาท (สระบุรี) ฉะเชิงเทรา และบางกอก จำนวน 534,500 แผ่น ใบปลิวเหล่านี้พิมพ์จากโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์และหมอสมิธ เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งต่างกับเหตุการณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่คณะมิชชันนารีประสบปัญหาต่างๆ มากมาย จนกระทั่งขอกลับหรือย้ายไปทำงานที่อื่น เช่น บอร์เนียว เป็นต้น แต่เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์เหตุการณ์ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เพราะพระองค์ทรงคุ้นเคยกับ มิชชันนารีหลายคน บางคนเป็นครูถวายพระอักษรภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะหมอบรัดเลย์ทรงสนิทสนมมากจนกระทั่งทรงเรียกว่าเป็นพระสหาย

สำหรับหมอมะตูนนั้น ได้รับการโปรดปรานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เช่นกัน เมื่อทำหน้าที่กงสุลอเมริกันประจำประเทศสยาม

ก่อนที่หมอมะตูนจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา หลังจากทำงานในสยามมา 12 ปี ท่านได้รับของขวัญเป็นเครื่องเงินชุดน้ำชามีมูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ จากชาวอเมริกันในสยาม

ในช่วงหลังท่านเดินทางกลับมาเมืองสยามอีก โดยอยู่อีก 6 ปี จึงเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

หมอเฮาส์

Rev. S.R. House MD หรือที่คนไทยเรียกว่าหมอเหา อยู่ในคณะเพรสไบตีเรียน เช่นเดียวกับหมอมะตูน เดินทางมาสยามพร้อมกันเมื่อปี 1847/2390 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หนังสือ 150 ปี คบเพลิง บีซีซี ยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาแผนใหม่ ทั้งๆ ที่คุณสมบัติทางการศึกษานั้นจบศัลยแพทย์ เมื่อมาปฏิบัติงานในเมืองสยามจึงกลายเป็นศัลยแพทย์คนแรกของประเทศนี้

เมื่อปฏิบัติงานได้ระยะหนึ่ง ซึ่งมีความสะดวกหลายประการในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 บิดาท่านให้เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ไม่มีเงินต้องหยิบยืมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อใช้เป็นค่าเดินทาง ขณะอยู่ที่อเมริกาพบและแต่งงานกับแหม่มแฮร์เรียต แหม่มคนนี้เป็นครู เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงเปิดโรงเรียนสอนนักเรียนหญิง คือโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ต่อมาคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีปฏิสันถารกับหมอเฮาส์เมื่อกลับมาถึงสยาม ตอนหนึ่งพระองค์ตรัสถามว่า ไหนว่าจะไม่แต่งงาน คราวนี้ทำไมเอาเมียมาด้วย หมอเฮาส์ตอบว่าเกล้ากระหม่อมเพิ่งฉลาด ส่วนเงินที่หมอเฮาส์ยืมไป 1,000 เหรียญสหรัฐ พระองค์ทรงรับคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย ยังทรงพระกรุณาให้หมอเฮาส์กับภรรยาสร้างบ้านพักในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้วย

หมอเฮาส์ใช้เวลาในสยาม 29 ปี ส่วนภรรยา 20 ปี ซึ่งมีทุกข์และลำบากมากกว่าความสบาย หากแต่ท่านอดทนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้สร้างผลงานด้านการศึกษาสมัยใหม่ให้แก่สยามตราบเท่าทุกวันนี้

การมาประกาศศาสนาพระเยซูคริสต์ของคณะโปรเตสแตนต์ในประเทศสยามเริ่มปี 1824/2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผ่านมา 36 ปี จึงมีที่ดินสร้างโบสถ์หรือคริสตจักรสำเหร่ที่ 1 ส่วนการสร้างโรงเรียนสำหรับกุลบุตร-ธิดาในสยามนั้น เมื่อผ่านมาได้ 28 ปี เริ่มปี 1852/2395 หรือ 13 ก.ย. 2395 อันเป็นวันเกิดของบีซีซี ซึ่งเป็นวันที่แหม่มมะตูนเปิดโรงเรียนสอนนักเรียนแห่งแรกที่หมู่บ้านมอญ และ 30 ก.ย. ปีเดียวกัน หมอเหาเปิดโรงเรียนประจำชายข้างวัดแจ้ง มีนักเรียน 27 คน

ทั้งหมดนี้เป็นคุณูปการเพียงส่วนหนึ่งคณะมิชชันนารีคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกา ในยุคต้นแห่งรัตนโกสินทร์ โดยมีโบสถ์คริสตจักรสำเหร่ที่ 1 เป็นสัญลักษณ์