posttoday

กฐินพระราชทาน...ณ วัดชลประชุมธาตุชนารามรัฐกลันตัน

26 ธันวาคม 2553

กฐินพระราชทานทอด ณ วัดในประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นที่รัฐกลันตันเป็นแห่งแรกเมื่อปี 3 ปีก่อน ก่อนที่ปีที่ 2 และ 3 จะทอดที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์....

กฐินพระราชทานทอด ณ วัดในประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นที่รัฐกลันตันเป็นแห่งแรกเมื่อปี 3 ปีก่อน ก่อนที่ปีที่ 2 และ 3 จะทอดที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์....

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

กฐินพระราชทานทอด ณ วัดในประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นที่รัฐกลันตันเป็นแห่งแรกเมื่อปี 3 ปีก่อน ก่อนที่ปีที่ 2 และ 3 จะทอดที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ ตามลำดับ จนมาปีนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 รัฐกลันตันก็มีโอกาสได้ต้อนรับกฐินพระราชทานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้นำไปทอด ณ วัดชลประชุมธาตุชนาราม อำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีอดีตอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สุรพงษ์ ชัยนาม ที่ปรึกษา รมต.ต่างประเทศ เป็นประธาน โดยโพสต์ทูเดย์ได้ไปงานนี้ด้วย โดยการอำนวยความสะดวกจากกระทรวงต่างประเทศและสถานกงสุลไทย ณ เมืองโกตาบารู จึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่ฟัง

กฐินพระราชทานที่รัฐกลันตัน

เกี่ยวกับการทอดกฐินพระราชทานบนดินแดนมาเลเซียนั้น เกิดขึ้นในยุคของกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู คนปัจจุบันที่ชื่อ “สุรพล เพชรวรา” ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ในเดือน มี.ค. 2554 นี้ โดยกงสุลใหญ่ผู้นี้เล่ามูลเหตุแห่งการนำกฐินพระราชทานมาทอดที่รัฐกลันตันเป็นครั้งแรกในดินแดนมุสลิมว่า เพราะเห็นว่าที่ประเทศอื่นๆ ทำได้ รัฐกลันตันก็น่าจะทำได้ อีกทั้งพระสงฆ์ของรัฐนี้ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระครูในหลายๆ วัดก็ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศไทย

กฐินพระราชทาน...ณ วัดชลประชุมธาตุชนารามรัฐกลันตัน

กงสุลใหญ่สุรพล กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้จึงได้ขอไปที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ดำเนินการขอกฐินพระราชทานมา|ทอด ทว่า ก่อนขอไปที่กระทรวง ได้ปรึกษากับผู้ใหญ่ที่เคารพในกระทรวงท่านหนึ่ง ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องดีและสามารถทำได้

“ผมได้ปรึกษาท่านเตช บุนนาค ซึ่งตอนนั้นเป็นที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการด้วย ท่านบอกเป็นเรื่องดี จึงได้ขอไปที่กระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการขอกฐินพระราชทานมาทอด แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเคารพที่รัฐกลันตันเป็นรัฐอิสลามที่เคร่งศาสนามากกว่ารัฐอื่น ผมจึงเข้าไปหามุขมนตรีรัฐกลันตัน และเรียนท่านว่าจะขอนำกฐินพระราชทานมาทอดในรัฐกลันตันเป็นครั้งแรก ท่านบอกว่าถ้าว่างจะไปร่วมงานด้วย พอถึงวันงาน ท่านไปร่วมงานที่วัดจริงๆ ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วประทับใจมาก” กงสุลใหญ่สุรพลเล่าย้อนถึงที่มาของการนำกฐินพระราชทานมาทอด ณ รัฐกลันตัน ก่อนที่ปีนังและ|กัวลาลัมเปอร์จะทำในปีต่อมาเป็นลำดับ

เผยแพร่พระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว

กงสุลใหญ่สุรพลบอกจุดประสงค์ของการนำกฐินพระราชทานมาทอดที่รัฐกลันตันว่า หลักๆ มี 3 ประการ คือนอกจากเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงแล้ว ก็เพื่อต้องการเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็นที่ปรากฏในรัฐกลันตัน เพราะคนไทยที่นี่มีความเคารพนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มาก

กฐินพระราชทาน...ณ วัดชลประชุมธาตุชนารามรัฐกลันตัน

เพราะเท่าที่สังเกตในคราวเยี่ยมเยียนประชาชนและร่วมกิจกรรมในงานต่างๆ ด้วย ก็จะเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในบ้านด้วย

“นอกจากนี้ เพื่อต้องการส่งเมสเซจให้พี่น้องในสามจังหวัดภาคใต้ของเราได้เห็นว่าพุทธและมุสลิมสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน เพราะขนาดรัฐกลันตันเป็นรัฐอิสลามเคร่งศาสนา ผู้นำรัฐยังไปแห่กฐินเข้าวัดร่วมกับพุทธได้ อันนี้แสดงให้เห็นว่าพุทธและมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้”

กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวต่อว่า ประการสุดท้าย เพื่อสื่อให้คนไทยเหล่านี้ได้รับรู้ถึงความรู้สึกว่าพวกเขายังได้รับการคิดถึงจากพี่น้องคนไทยที่ประเทศไทยเสมอ และนอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนที่มีจิตใจดีเหล่านี้หันมาสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังและเป็นเอเยนต์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่คนเชื้อชาติต่างๆ เช่น อินเดีย จีน ในมาเลเซียต่อไป โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ

คนไทยกลันตันเทิดทูนในหลวง

จะเห็นว่าคนมาเลเซียเชื้อสายไทย หรือคนสยามที่อาศัยอยู่ในรัฐกลันตันนั้น เป็นชนชาติที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐกลันตันมานาน สันนิษฐานว่าน่าจะมากกว่า 600 ปี ปัจจุบันคนเหล่านี้อยู่รัฐกลันตันมีประมาณ 1.5 หมื่นคน จาก 30 หมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ 6 อำเภอ นับถือพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งทางจิตใจ

กฐินพระราชทาน...ณ วัดชลประชุมธาตุชนารามรัฐกลันตัน

คนเหล่านี้แม้จะเป็นคนมาเลเซียไปแล้ว แต่ความรู้สึกภายในยังบอกตัวเองเสมอว่าเขาคือคนไทย ยังรักความเป็นไทย รักวัฒนธรรมไทย เช่น วันหยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะให้ลูกไปเรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยที่วัด ภาษาที่ใช้ถ้าในชุมชนพุทธด้วยกันจะใช้ภาษาไทยถิ่นใต้ สำเนียงตากใบ หรือที่เรียกว่า “ภาษาเจ๊ะเห” ซึ่งใช้พูดกันในบางส่วนของจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี แต่เมื่อออกไปข้างนอกจะใช้ภาษามาเลย์สื่อสารกับคนมาเลเซีย และคนเชื้อชาติอื่นในมาเลเซีย

นอกจากนี้ คนเหล่านี้ยังรักษาประเพณีไทยเป็นอย่างดี โดยจะมีการจัดงานประเพณีไทยตามโอกาสที่มาถึง เช่น เทศกาลลอยกระทง เทศกาลสงกรานต์ และในวันสำคัญทางศาสนาก็จะมาร่วมทำบุญที่วัดอย่างเนืองแน่น

ที่สำคัญ คนเหล่านี้เคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก โดยเกือบทุกหลังคาเรือนจะต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานอบู่บนเรือน ทั้งนี้จากคำยืนยันของ น.ส.วรรณา และ น.ส.วาณี เสริมประพันธ์ ผู้ทำหน้าที่เก็บข้อมูลในการทำหนังสือ “บันทึกมรดกวัดไทย” โดยพวกเธอกล่าวว่า คนไทยพุทธที่กลันตันเคารพบูชาในหลวงเหมือนกับคนไทยในประเทศไทย เนื่องจากได้เห็นท่านทางโทรทัศน์ (ที่นี่ดูโทรทัศน์ช่องของไทยได้) ที่ทรงออกไปช่วยเหลือราษฎรในที่ต่างๆ ลุยน้ำลุยโคลนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

“ยอมรับว่าเกือบทุกหลังคาเรือนจะต้องมีรูปของท่าน บางคนมีปฏิทินเป็นรูปของท่าน โดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่พอเดินทางไปเมืองไทยก็จะเอามาฝากเป็นจำนวนมาก บางคนไปเมืองไทยก็ซื้อมา คนที่ไม่ได้ไปก็ฝากซื้อแล้วเอามาใส่กรอบบูชา” สองสาวเล่าด้วยสำเนียงไทยชัดเจน