posttoday

แสงธรรมในแสงเทียน ชีวิต...หลังกำแพง(๒)

15 มกราคม 2553

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสภิกขุ

กระผมนายสีจัน ตาเป้า ในนามชมรมแสงแห่งธรรม ขอกราบขอบพระคุณที่ให้การสนับสนุนสงเคราะห์ในเรื่องของหนังสือธรรมะ พวกผมชาวชมรมแสงแห่งธรรมได้รับหนังสือธรรมะจำนวนมากจากคณะศิษย์ของพระอาจารย์ พวกผมชาวชมรมแสงแห่งธรรมจะใช้หนังสือให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะช่วยกันรักษาให้เป็นอย่างดี... หนังสือทั้งหมดจะเป็นสมบัติส่วนรวม ผู้ต้องขังทุกคนมีสิทธิที่จะมายืมอ่าน...สุดท้ายนี้ชมรมแสงแห่งธรรม ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง...

กระผมนายสีจัน ตาเป้า มีคำถามจะถามพระอาจารย์เพื่อให้หายขัดข้องใจ ผมเริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังตั้งแต่เข้าพรรษา จนถึงทุกวันนี้รวมประมาณ ๕ เดือน ในช่วงเข้าพรรษาผมรักษาศีล ๘ และตอนนั้นผมได้อ่านหนังสือ รตฺนสีลํ ของพระอาจารย์ ผมรู้สึกว่าการรักษาศีล ๘ ของพระอาจารย์เคร่งมาก หนังสือบางเล่มไม่เคร่ง ถือศีล ๘ แบบง่ายๆ จนผมเกิดความลังเลสงสัย ตลอดเวลา ๓ เดือน ผมไม่รู้ว่าศีลของผมบริสุทธิ์จริงหรือเปล่า ตอนนี้ผมปฏิบัติแบบวิปัสสนา คือ ดูกายดูใจ คือ ผมไม่สามารถรู้อารมณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รู้เป็นบางอารมณ์ บางครั้งรู้อารมณ์แล้วก็ไม่ดับ เหมือนมันค้างอยู่...บางครั้งดับแล้ว ก็เกิดขึ้นมาใหม่ บางทีมันเกิดดับ เกิดดับ อยู่นาน... อีกอย่างหนึ่ง คือ จิตที่เข้าไปรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น จะมีตัวไปตัดมันทันที ผมพยายามจะตามดูอารมณ์ แต่ก็จะมีตัวตัดก่อนทุกที มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเห็นอารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็ดับไป ผมเห็นชัดเจนมาก แต่ผมเห็นเพียงครั้งเดียว และก็ไม่เห็นอีกเลย... ผมไม่แน่ใจว่าผมมาถูกทางหรือเปล่า ผมอยากให้พระอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยว่าผมควรปฏิบัติต่อไปดีหรือไม่ ถ้าความรู้สึกของผมตอนนี้ ผมรู้สึกว่าผมมีสติดีขึ้น รู้ทันอารมณ์มากขึ้น เข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น ยอมรับสภาพได้ง่าย... ความโกรธน้อยลง แต่ยังแพ้ให้กับความอยากบางอย่าง กิเลสบางอย่างมันละเอียดมาก ทุกวันนี้พวกผมไม่มีอาจารย์คอยชี้แนะได้แต่อาศัยตำราเป็นอาจารย์ ตำราหลายๆ เล่มก็ไม่ตรงกันซะทีเดียว ไม่รู้ว่าพวกผมจะมีโอกาสได้ถึงพระอริยบุคคลหรือเปล่า... แต่ผมก็ยังหวังไว้ลึกๆ...

กราบนมัสการพระอาจารย์
สีจัน ตาเป้า
ชมรมแสงแห่งธรรม

วิสัชนา : มีคำกล่าวเปรียบเทียบคนเราโดยทั่วไปมีลักษณะดวงตา ๓ ประการ ได้แก่

อันธจักษุ คือ ดวงตามืดบอด กล่าวได้ว่า โลกก็ไม่เห็น ธรรมก็ไม่พบ

เอกจักษุ คือ ดวงตาบอดข้างเดียว อีกข้างหนึ่งสามารถแลเห็นใช้งานได้ เน้นความหมายในทางโลก มีความรู้ ศิลปวิทยาการ เข้าใจเรื่องโลก แต่มองไม่เห็นเรื่องธรรม

ทวิจักษุ คือ ดวงตาดีทั้งสองข้าง หมายถึงเป็นบุคคลที่สมบูรณ์เพียบพร้อม มีความรู้ศิลปวิทยาการ เข้าใจเรื่องโลก และรู้แจ้งในสัจธรรม คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวได้ว่า เข้าใจในโลกและรู้แจ้งในธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่แห่งหนตำบลใด สิ่งสำคัญคือการพัฒนาตนเอง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบชาวโลกทั้งหลายที่พึงจะกระทำได้ และควรสร้างคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กับตนเองในฐานะเป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องต่อคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อปลดปล่อยการจองจำพันธนาการทางจิตใจ เพื่อออกมาจากอำนาจความเกี่ยวเนื่องกับวัฏสงสาร ซึ่งกำหนดปรุงแต่งสร้างโลกให้เราได้อาศัย อันเป็นไปตามเหตุปัจจัยสัมพันธ์ ซึ่งปรากฏเป็นความปกติในธรรมชาติที่ได้สร้างอำนาจของโลกขึ้นมาจองจำสัตว์ทั้งหลายให้หมุนวนเวียนว่ายอยู่ในกระแสกรรม เป็นไปตามกฎแห่งกรรมที่กล่าวว่า เราเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอาศัยกรรม ซึ่งโดยแท้จริงคือ เราถูกจองจำด้วยอำนาจแห่งกรรม ที่เราเป็นผู้ก่อขึ้น สร้างขึ้น แต่เรากลับไม่รู้สึกตัวว่าเราถูกจองจำ แต่กลับรู้สึกว่ารื่นเริงยินดี ในอำนาจการจองจำดังกล่าวนั้น ที่โลกสร้างขึ้นด้วยอำนาจนันทิราคะ ที่ก่อเกิดอยู่ในกระแสจิต ที่เป็นอำนาจกิเลสปรุงแต่งที่ห่อหุ้ม ควบคุมจิตให้ไหลไปตามกิเลสวิถี ซึ่งยากที่จะสลัดออกมาจากการควบคุมบังคับ ด้วยโมหจิต ซึ่งสร้างความลุ่มหลงมืดมนให้ดวงจิตเศร้าหมอง ตกอยู่ภายใต้อำนาจอวิชชา อันสร้างปัจจัยกระแสสืบต่อความสัมพันธ์แห่งปัจจัย อันก่อให้เกิดปัจจัยสัมพันธ์ นำไปสู่ค่าสรุปแห่งชีวิต ได้แก่ ความทุกข์ ที่สัตว์ทั้งหลายหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ทุกๆ ชีวิตปรารถนาซึ่งความสุข จึงไม่สมปรารถนา พลัดพรากจากสิ่งที่รัก และพบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ต้องการ เป็นอาจิณ ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามกฎความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “โลกนี้ตั้งอยู่บนกองแห่งความทุกข์” แต่ด้วยอำนาจอวิชชา คนเราจึงพยายามขวนขวายตะเกียกตะกายเข้าหาความสุข หรือต้องการเข้าสู่สวรรค์ ซึ่งมีคำกล่าวพูดกันว่า “โลกนี้เป็นสวรรค์ของคนโง่... แต่มันเป็นนรกสำหรับคนที่รู้ความจริงของมัน” สัตว์ทั้งหลายจึงเกิดมาอยู่ในกรงขัง ถูกจองจำพันธนาการด้วยอำนาจแห่งกิเลส ที่เกิดจากอกุศลจิตที่ส่งผลให้ได้รับความทุกข์นานาประการ มีความเกิดแก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ทั้งๆ ที่มนุษย์เราเกิดมามีความทุกข์ดุจสัตว์ทั้งหลาย แต่ด้วยโมหจิต ซึ่งสร้างความลุ่มหลงมืดมัวให้ดวงจิตนั้นๆ จึงได้พยายามแสวงหาโซ่ตรวน สร้างกรงมาใส่ตนเองเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้หลุดออกจากการถูกควบคุมจองจำด้วยอำนาจแห่งอวิชชา

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132