posttoday

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง ใช้วิกฤตเป็นโอกาส

19 ธันวาคม 2553

ชาวพุทธที่สนใจการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ต้องได้ยินและรู้จักพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโล แห่งวัดนาป่าพง คลองสิบ จ.นครนายก ไม่มากก็น้อย.....

ชาวพุทธที่สนใจการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ต้องได้ยินและรู้จักพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโล แห่งวัดนาป่าพง คลองสิบ จ.นครนายก ไม่มากก็น้อย.....

โดย...ฉัตรฤดี เทพรัตน์

ชาวพุทธที่สนใจการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ต้องได้ยินและรู้จักพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโล แห่งวัดนาป่าพง คลองสิบ จ.นครนายก ไม่มากก็น้อย เพราะท่านเป็นศิษย์รูปหนึ่งที่ปฏิบัติและสอนธรรมตามแนวทางหลวงพ่อชาองค์นั้น

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง  ใช้วิกฤตเป็นโอกาส พระอาจารย์คึกฤทธิ์ ในพิธีสวดพระปาฏิโมกข์

ท่านมีพื้นฐานความรู้ทางโลกระดับปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นฆราวาสรับราชการทหารมียศถึงพันตรีแห่งกองทัพบก เมื่ออุปสมบท นอกจากเป็นพระสุปฏิปันโนแล้ว ยังศึกษาค้นคว้าพระพุทธวัจนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระไตรปิฎก และจากหนังสือชุดจากพระโอษฐ์ 5 เล่มของพระอาจารย์พุทธทาสอีกด้วย ศึกษาแล้วนำมาเผยแผ่ ที่โด่งดังมากเมื่อท่านประกาศว่าศีลของพระตามพุทธวัจน์นั้นมีเพียง 150 ข้อ แต่ที่ถือปฏิบัติ 227 ข้อ เพราะเพิ่มเติมภายหลัง วัดนาป่าพงจึงสวดพระปาฏิโมกข์เพียง 150 ข้อ ทำให้สำนักวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดต้นสังกัดไม่เห็นด้วย ขอให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หยุดเผยแผ่ดังที่ว่า แต่ท่านยึดความถูกต้อง วัดหนองป่าพงจึงตัดวัดนาป่าพงจากสาขา เมื่อเดือน มิ.ย. 2553

ท่านไม่หมดกำลังใจเมื่อถูกสำนักต้นสังกัดตัดจากสาขา ตรงกันข้ามกลับเห็นว่าเป็นโอกาส ให้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น จะเห็นว่าการเผยแผ่ผลงานจึงออกมาในหลายรูปแบบทั้งสื่อสมัยใหม่ และพิมพ์หนังสือพุทธวัจน์เป็นเล่มแจกจ่าย เดินสายแสดงธรรม ตอบปัญหาแก่ผู้สนใจ รวมทั้งการเปิดคอร์ส 10 วันอบรมวิปัสสนากรรมฐานที่วัดนาป่าพงด้วย

ฉัตรฤดี เทพรัตน์ ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำทำเนียบรัฐบาล ไปเข้าคอร์ส 10 วัน อาศัยวิญญาณนักข่าวเต็มตัวจึงรายงานเรื่องนี้มาให้อ่าน

10 วันที่วัดนาป่าพง

“เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย” เป็นพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ “อานนท์ ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไปแห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้องมีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นประทีป มีธรรม เป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ อานนท์ ภิกษุพวกใดเป็นผู้ใคร่ ในสิกขา ภิกษุพวกนั้นจักเป็นผู้อยู่ในสถานะอันเลิศที่สุด” (มหา. ที.10/159/128)

“อานนท์ การขาดสูญแห่งกัลยาณวัตรนี้ มีในยุคบุรุษใด บุรุษนั้นชื่อว่าเป็นบุรุษคนสุดท้ายแห่งบุรุษทั้งหลาย|เราขอกล่าวกับย้ำกะเธอว่า เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย” (ม.ม.13/427/463)

จากพระพุทธวัจน์นี้ทำให้คาดการณ์ว่าการขาดสูญแห่งกัลยาณวัตร อาจเห็นได้ในไม่ช้า ด้วยว่ามีการแต่งเติมคำสอนของพระพุทธองค์ จนทำให้ผิดเพี้ยนไปจากพุทธบัญญัติ อันการแต่งเติมพุทธธรรมคำสอนเหมือนกับการนำลิ่มไม้ตอกเติมลงไปในรอยแตกของกลอง ซึ่งจะทำให้มีรอยแตกมากขึ้น

การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 10 วัน ระยะเวลาสั้นๆ ทำให้ได้แสงสว่างทางปัญญา เมื่อพระอาจารย์คึกฤทธิ์ยกพุทธวัจน์ชี้แนะและสอนในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งบอกว่าการหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสเกิดได้ตั้งแต่ได้ชั้นปฐมฌาน หาใช่ถึงขั้นจตุตถฌานตามที่เข้าใจกันไม่ เพราะปฐมฌานคือการทำอาณาปาณสติ สามารถละนันทิ คือความเพลิดเพลินได้

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง  ใช้วิกฤตเป็นโอกาส พระอาจารย์คึกฤทธิ์ กำลังบิณฑบาต

นอกจากได้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโล ยังให้ท่องสายการเกิดและดับตามแนวปฏิจจ สมุปปบาท เพื่อให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจและการเกิดขึ้นของสังขาร ปฏิจจสมุปปบาทนี้ถือว่าเป็นหลักการที่โยงเหตุและปัจจัยที่ทำให้สัตวโลกเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ โดยมีอวิชชาเป็นตัวสำคัญที่ปิดหูปิดตาสรรพสัตว์ ไม่ให้เห็นความจริง แต่ยึดติดในชีวิต ก่อให้เกิดทุกข์ ทั้งๆ ที่ชีวิตไม่มีอะไรทั้งสิ้น แม้แต่ตัวเราเอง

การสัมผัสกับพุทธวัจน์ที่พระอาจารย์แนะนำ ทำให้ตื่นตัวเพื่อศึกษาคำสอนที่แท้จริงของพระองค์มากขึ้น เพราะเป็นของจริงและสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีภาระหนักมากขึ้นหลังจากจุดประกายและเผยแผ่พุทธวัจน์ เพราะชาวพุทธจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจการทำงานของวัดนาป่าพงและสถาบันพุทธวัจน์ตลอดเวลา

ในขณะนี้ท่านอาจารย์อุปสมบทมาได้ 18 พรรษา แต่การศึกษาพุทธวัจน์จากงานของท่านพุทธทาสเริ่มเมื่ออุปสมบทได้พรรษาที่ 4
เมื่อศึกษาแล้วนำมาเผยแผ่เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมาในวงแคบๆ และนำออกสู่สาธารณชนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

“คิดว่าเป็นเรื่องของกรรมนะ ที่อาตมาต้องมาศึกษาเรื่องนี้ หลังจากออกจากวัดป่าบุญญาวาส ชลบุรี ที่เคยตั้งใจว่าจะถวายตลอดชีวิตที่นั่น เมื่อมาอยู่วัดนาป่าพงกับสหธรรมิก 2 รูป ก็มีเหตุให้ต้องอยู่รูปเดียวอีก เพราะอีก 2 รูปนั้นปลีกวิเวก” การอยู่รูปเดียวเป็นโอกาสให้ทุ่มเทกับการศึกษาพุทธวัจน์มากขึ้น

ท่านเล่าว่าเมื่อเป็นทหารมีลูกน้อง 500 คน บวชพระอยู่ที่วัดนาป่าพง มีลุงช่วยอายุ 60 ปี เพียงคนเดียว ช่วยปลูกต้นไม้ วันละ 200-300 ต้น ตอนนี้กลายเป็นวัดป่าไปแล้ว

“มาอยู่วัดนาป่าพงตอนแรกลำบากพอสมควร มีแต่ทุ่งนา นอกนั้นไม่มีอะไรเลย ต้องสร้างกันใหม่ ยังถูกไล่อยู่ 2-3 รอบ หาว่าเป็นพระเถื่อน ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะตั้งวัดได้ โดยมีผู้คนมาช่วยเรื่อยๆ”

ส่วนเรื่องที่วัดนาป่าพงถูกตัดจากการเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพงนั้น คิดเป็นบวกเท่ากับช่วยให้ท่านมีความเป็นอิสระในการประกาศพุทธวัจน์ ที่ได้ศึกษาและค้นคว้ามา

พร้อมกับเล่าว่าท่านไม่มีโอกาสชี้แจงกับพระผู้ใหญ่ของวัดหนองป่าพง ด้วยว่าพระผู้ใหญ่ไม่ให้เอาทฤษฎีไปอ้าง จุดนี้ทำให้ท่านคิดว่าโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดในวงการพระด้วยกันนั้นยากเย็นแสนเข็ญ

ท่านจึงกำหนดแนวการเผยแผ่ใหม่ โดยมุ่งไปในหมู่อุบาสก อุบาสิกา และกลุ่มพระบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อกลุ่มนี้ขยายตัวมากขึ้น จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เปลี่ยนแปลงการศึกษาและปฏิบัติของคณะสงฆ์ของไทย ที่มีประมาณ 3 แสนรูป

คนภายนอกอาจจะไม่ทราบว่าพระสงฆ์ 3 แสนรูป ไม่ได้เป็นสังฆตามชื่อ เพราะแบ่งเป็นธรรมยุตกับมหานิกาย พระป่ากับพระบ้าน แต่ละฝ่ายแยกทำอุโบสถสังฆกรรมกันเด็ดขาด

พระป่านั้นยึดถืออาจาริยวาทเหนียวแน่น จึงทำให้บดบังพุทธวัจน์ในบางครั้งบางคราวอีกด้วย ที่ว่ามานี้ไม่ใช่ปฏิเสธอาจารย์ ยังเคารพครูบาอาจารย์ในสายพระป่า เช่น หลวงพ่อชา และพระอาจารย์ตั๋น (เจ้าอาวาสวัดป่าบุญญาวาส ชลบุรี) แต่ยืนหยัดว่าคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าว่าสำคัญที่สุด เพราะบวชเป็นบุตรของสมณะศากยะ”

“ปัญหาในที่เกิดขึ้นในพระศาสนาคือมีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่ อธิบายใหม่ ทำให้คลาดเคลื่อน และสับสนในหมู่พระ และนักปฏิบัติ เพราะไม่ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก ทำให้ชาวพุทธเสื่อมศรัทธา พระสงฆ์บางส่วนยังมัวเมาในลาภยศ สรรเสริญ ไม่แสวงหาความหลุดพ้น ทำให้หาพระอริยสงฆ์ยากยิ่ง”

เมื่อทำงานมาถึงขั้นนี้ ท่านมั่นใจว่าจะพบความสำเร็จในอนาคต แม้จะว่าใช้เวลานาน แนวโน้มที่ทำให้คิดเช่นนั้น เพราะชาวพุทธหลายฝ่ายให้ความสนใจและสนับสนุน ทำให้ท่านต้องเดินสายบรรยายธรรมและพุทธวัจน์แทบทุกวัน ในขณะเดียวกันยังมีพระสงฆ์ทั่วประเทศ 350 รูป สมัครเป็นสมาชิกของสถาบันพุทธวัจน์ เพื่อช่วยเผยแผ่พุทธวัจน์ให้ทั่วถึง

“พระบางรูปเช่นอาจารย์สุจินต์ จิณณธัมโม ดูแลศูนย์เผยแผ่ภาคอีสาน และพระไพบูลย์ อภิปุณโณ วัดดอนหายโศก ต่างมีความมุ่งมั่นมากเช่นท่านสุจินต์เดินธุดงค์พบปะกับชาวบ้าน แจกหนังสือและซีดีในการเผยแผ่พุทธวัจน์ เมื่อต้นปีท่านเดินจากน่านไปถึงโคราช”

บริษัทเอกชนหลายแห่ง รวมทั้งสถาบันการศึกษา และประชาชน ร่วมกันเป็นพุทธวจนสถาบัน ได้พิมพ์หนังสือออกเผยแผ่ถึงเล่มที่ 10 และมีการแจกจ่าย MP3 ไปทั่วประเทศ หนังสือเสียงที่ทำขึ้นมาได้แจกจ่ายไปในที่ต่างๆ บ้างแล้ว

ด้านต่างประเทศสนับสนุนมาทั้งในรูปจดหมายและอีเมล ทางสถาบันจึงมีโครงการแปลหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ในอนาคต
“อาตมาไม่ได้รู้สึกท้อแท้ หรือหมดกำลังใจเมื่อมีการต่อต้าน เพราะอาตมาไม่ได้เผยแผ่ผลงานของตัวเอง แต่เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรมต้องทนต่อการพิสูจน์ เพราะฉะนั้นผู้ที่ต่อต้านต้องตระหนักว่ากำลังต่อต้านคำสอนของพระของศาสดา อาตมาจะทำงานนี้ไปเรื่อยๆ เท่าที่จะทำได้ แม้ว่าต้องใช้เวลา 5-10 ปี จึงจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อกลุ่มที่เห็นด้วยใหญ่ขึ้น กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ก็จะเล็กลง การเปลี่ยนแปลงก็ตามมา อาตมาเชื่อมั่นในบารมีของพระพุทธเจ้า”

พร้อมกับอ้างพุทธวัจน์ว่า “หิ่งห้อยนั้น ย่อมส่องแสงอยู่ได้ตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์สาดแสง หิ่งห้อยจะอับแสง เดียรถีย์ก็เป็นเช่นนั้น มีโอกาสได้ชั่วเวลาที่ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองยังไม่เกิดขึ้น ผู้ที่ได้แต่นึกๆ เอา (คือไม่ตรัสรู้) ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้ ถึงแม้สาวกของเขาก็เหมือนกัน ผู้ที่มีความเห็นผิด จะไม่พ้นทุกข์ไปได้เลย”