posttoday

“โคก หนอง นาโมเดล” ฟีเวอร์!!

14 มีนาคม 2564

โดย อุทัย มณี

*********************************

คนวัยกลางคนอย่างผู้เขียน..ส่วนใหญ่ “มักทบทวนเส้นทางเดินชีวิต” และ “ชอบอยู่ในสังคมที่ไม่พลุกพร่าน” อยู่เสมอ ๆ  หากคิดแบบพระก็คือ เริ่มเห็น “ฝั่งริบหรี่” บ้างแล้ว

ชีวิตวัยนี้มักไม่มีความสุขกับปัจจุบัน.. และหันไปมีความสุขกับสิ่งที่..ผ่านมาแล้ว

จึงไม่แปลกคนวัยนี้ในเมืองส่วนใหญ่จึงเบื่อหน่าย “งานประจำ” อยากไปใช้ชีวิตในชนบท ทำเกษตร โดยเฉพาะตอนนี้กำลังบูมและฟีเวอร์เอาการ คือ “โคก หนอง นาโมเดล” ของอธิบดี “เก่ง” อธิบดีเศรษฐีหมื่นล้าน คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ที่จับอะไร ประชาสัมพันธ์อะไรมัก “ดูดีไปหมด”

“โคก หนอง นาโมเดล”  ฟีเวอร์!!

ตอนนี้คนเมือง คนออฟฟิต  “คลั่งใคล้” โคก หนอง นาโมเดล ทั่วบ้านทั่วเมือง #ไม่เว้น..แม้กระทั้ง พระสงฆ์องค์เจ้า หันมาสนใจ หันมาให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงทางอาหาร” หันมาสนใจกับ “วิถีชีวิต” แบบเกื้อกูลของสังคมไทย ดั่งในอดีต

บางทีก็คิดในใจทำไม?? กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่มี “มือพีอาร์” หรือไร ได้งบเงินกู้ไปตั้ง 9 พันกว่าล้านเพื่อทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่เงียบวังเวงชอบกล..สู้ “โคก หนอง นาโมเดล” ไม่ได้

เดียวนี้ประชาชน พระสงฆ์ หันมาสนใจ เกษตรทฤษฎีใหม่สู่ “โคก หนอง นาโมเดล” ทั่วบ้านทั่วเมือง ผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั่น สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นาโมเดล เอาไว้ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ผ่านอบรมมาแล้วรอบหนึ่งที่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี กรมการพัฒนาชุมชน  5 วัน 4 คืน ตามที่เคยเล่ามาก่อนหน้านี้

เมื่อไปกี่วันที่ผ่านมา พัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี ประสานมาให้ไป “อบรบรอบสอง”เนื่องจาก งบประมาณคนละตัว ปู่ย่า ตายาย เคยสอนเอาไว้ว่า “เวลาคุยกับคนราชการ อย่าเถียง อย่าถามเยอะ” สรุปคือ ไปก็ไป ถือว่าไป “ทบทวนความรู้”  และเป็น “ถิ่นเก่า”

“โคก หนอง นาโมเดล”  ฟีเวอร์!!

แต่..บอกกับคนพัฒนาชุมชนจังหวัดกาญจนบุรีขอไปในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์”  เหตุผลส่วนตัวไม่ได้บอกต่อ คือ จะให้เต้น รำ ร้องเพลง สนุกสนาน ไม่ค่อยเป็น ไม่อยากเป็น “กาในฝูงหงส์” เพราะเราเป็นอดีตนักบวช กิจกรรมแบบนี้ไม่เป็น จริง ๆ 

จึงประสานกับ “เจ้าคุณศิริ” รองเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี ขออาศัยวัดที่ใกล้อบรมสัก 2 -3 คืน  พระคุณเจ้าเมตตาประสานให้นอน “วัดเขื่อนท่าทุ่งนาประชาสรรค์” ของ “หลวงปู่แก่น” อดีตพระเกจิชื่อดังในถิ่นนั้น

เมื่อไปถึงทางวัดเตรียมที่นอนให้อย่างดี แต่วัดค่อนข้างเงียบเหงา ถามพระในวัด ท่านบอกว่า “ตอนนี้ทั้งวัดมีพระภิกษุ- สามเณรประมาณ 5 รูป” พระบวชจำพรรษาน้อย ส่วนใหญ่บวชระยะสั้นแล้วก็สึกออกไป

ปัญหานี้ “กลายเป็นวิกฤติอย่างหนึ่ง” ของคณะสงฆ์ จากสถิติ “วัดเพิ่มขึ้น..และจำนวนพระจำพรรษากลับน้อยลง” 

ส่วนสามเณรไม่ต้องพูดถึง วัดชนบทต่างจังหวัดทุกวันนี้แทบ “สูญพันธุ์”

ระหว่างวันที่ 11 -15 มีนาคม 64 นี้ จึงเข้าคอร์สอบรม “โคก หนอง นาโมเดล” ณ  ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ KSL ริเวอร์แควร์ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ที่นี้บรรยากาศไม่เหมือนกับศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ดูวังเวง ไม่มีชีวิตชีวาเท่าไร เพราะที่นี้มันคือ รีสอร์ท แต่ส่วนหนึ่งเขาแบ่งเป็น “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ” เอาไว้ ติดกับแม่น้ำแควใหญ่ อยู่เหนือเขื่อนท่าทุ่งนา 

สถานที่แล้ง ๆ ร้าง ๆ  ถามเจ้าหน้าที่บอกว่ารีสอร์ทนี้อยู่ใน “เครือข่ายโรงงานน้ำตาล KSL” ที่ตั้งอยู่ที่ตัวอำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

เริ่มภาคเช้าเปิดอบรมโดย คุณรัชนี โพธิสัตยา  พัฒนาการจังหวัดกาญจนบุรี  และต่อด้วย “ปราชญ์ชุมชน” ชื่อ “แรม” ซึ่งคนนี้เท่าที่ฟังเป็นปราชญ์จริง ๆ รู้เรื่องวิธีปลูกพืชผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยววัว

วิธีสังเกต เล่าศาสตร์ของพระราชาเริ่มต้นด้วย "เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา” ทฤษฎี 40 ทฤษฎี ย่อยลงมาวิธีการทำโคก หนอง นา วิธีแบ่งแปลงทำ รวมทั้งสอนวิธีการตลาดไปในตัวด้วย

สุดท้าย ผู้เขียน “ความดันขึ้น” เพราะที่นี้อากาศร้อนอบอ้าว ปวดหัวจะวูบ จนพักเที่ยง จึงหลบออกมาเงียบ ๆ  กลับวัด ทานยา หาข้าวกิน !!