posttoday

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล

27 ธันวาคม 2563

โดย อุทัย มณี

******

ผู้เขียนแม้ปัจจุบันจะมีอาชีพเป็นสื่อมวลชน แต่พื้นฐานมาจากต่างจังหวัด ครอบครัวประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีปีไหนที่พ่อแม่หรือคนในหมู่บ้านบอกว่า มีเงินเหลือจากการทำเกษตร หากจะพอมีเงินเหลือบ้างปีนั้นถือว่า “ฟลุ๊ค” ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรในประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหารให้โลก ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นครัวโลกได้ แต่คนผลิตอาหารให้โลกกลับยากจน..ส่วนคนรวยกลับเป็น “พ่อค้าและนักค้ายาเคมี”

ยุคสมัยที่เป็นผู้เขียนเป็นเด็กครอบครัวทำไร่ข้าวโพดและฝ้าย ที่ดินสมัยก่อนเถ้าแก่บอกให้ตัดถางตรงไหน ชี้เป้า ตรงนั้นไม่ถึงเดือนเตียนโล่ง เพราะสมัยนั้นพื้นที่แถบนั่นอำนาจรัฐเข้าไปไม่ถึง และไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้มงวดดังทุกวันนี้

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล

เมื่อทำได้ 3 – 4 ปีเถ้าแก่ก็จะขายให้นายทุน บอกให้พ่อไปถางป่าทำลายป่าต่อไป หากนับที่ดินที่ทำลายป่าไปน่าจะหลายพันไร่..แต่เชื่อหรือไม่พ่อแม่ไม่มีมรดกที่ดินเหลือให้ลูกหลานสักไร่เดียว..ที่ดินเป็นของเถ้าแก่หมด และสุดท้าย เถ้าแก่ก็ขายให้นายทุนต่อไป วนเวียนแบบนี้อยู่นับสิบปี อันนี้คือวัฎจักรของคนจน เมื่อโตขึ้นบวชเรียนอยู่กรุงเทพมหานครได้ยินคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย เพราะคิดว่าตัวเองมีเงิน มีบ้านและสร้างฐานะให้ร่ำรวยก็น่าจะสุขแล้ว คิดเหมือนกับผู้คนในสังคมส่วนใหญ่คิดว่าตรงนั้นคือ “ความสุขอย่างแท้จริง”

ทำงานหาเงิน วิ่งหาเงิน เครียดกับการทำงานเพื่อแลกเงิน เมื่อมีครบทุกอย่างสุดท้าย “ความสุขยิ่งห่างหาย” กลับไม่พบความสุขดังที่คิดเอาไว้

โชคดีตอนทำงานอยู่ที่ช่อง 11 มีรายได้พอสมควร มีเงินซื้อที่ดินไว้ ก็ไปปลูกส้มโอ มะนาว ยางพาราเอาไว้ จำคำพูดพี่สาวคนหนึ่งชื่อ ปัด อยู่ฝ่ายตรวจสอบได้แม่นยำว่า “มหาเอ็งอยู่ช่อง 11 อย่าประมาทนะ อย่าใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย อยู่นี่ตกงานได้ทุกเมื่อ”

หลังจากซื้อที่ดินเอาไว้ช่วงหลัง ๆ ก็กลับไปทำสวนบ่อย สัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสกับสิ่งเราปลูก เรารดน้ำเอาไว้ ดูต้นไม้ ผลไม้ที่เราปลูก อยู่กับธรรมชาติ ความคิดเปลี่ยน ยิ่งได้คุยกับอาจารย์ยักษ์บ้าง คุยกับเกษตรกรที่มาออกรายการบ้าง อ่านหนังสือบ้างและ ดูคลิปเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง คนที่ทำแนวนี้ส่วนใหญ่มักมีมุมมองที่แปลก ๆ เช่นมีความคิดว่า “เราต้องไม่วิ่งหาเงิน แต่เงินจะต้องมาหาเราเอง” หรือคำว่า “มีเงินต้องฝังไว้ในดิน เพื่อมิให้คนอื่นเดือดร้อน” ซึ่งหมายถึงเงินในระบบมีน้อย หากเราเก็บเอาไว้ คนอื่นก็ไม่มี

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล

ยิ่งไปอ่านคำพูดของในหลวงในวาระต่าง ๆ ยิ่งเห็นภาพได้ชัดว่า “เออ ! นี้แหละสิ่งที่เราต้องการ เพราะหากเราไปวิ่งตามหาแต่เงิน วิ่งหาแต่ทรัพย์เพื่อให้เหมือนคนอื่นที่เราคิดว่า เขารวย เขาเก่ง เรายิ่งเครียด ทั้ง ๆ ที่ชีวิตตอนเริ่มทำงานคิดว่า มีบ้าน มีรถ มีเงินแล้วจะมีสุข สุดท้ายมันไม่ใช่ กลายเป็นน้ำเติมไม่เต็มแก้วสักที ความโลภมันไม่รู้จักคำว่า พอ จริง ๆ”

วันหนึ่งไปเจอข้อความในเพจหนึ่งแห่งหนึ่งเปรียบเทียบระบบแนวคิดหรือปรัชญาระบบเศรษฐกิจไว้ว่า “ เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ ระบบที่ขับเคลื่อนสังคมแบบกระจ่ายรายได้อย่างเท่าเทียม เจ้าของแนวคิด คือ คาร์ล มาร์กซ์ แบบเสรีนิยมที่ประเทศส่วนใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ตอนนี้ รวมทั้งประเทศไทย ที่มุ่งกำไรคือเป้าหมายสูงสุด เป็นแนวคิดของ อดัม สมิธ,สุดท้ายเสนอแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตามแนวทางทฤษฎี 9 ขั้นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง..”

เรื่องเล่า : ชาวโคก หนอง นา โมเดล

เมื่อเราไปทำความเข้าใจกับแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว คิดไปเองหรือเปล่าไม่ทราบว่า แนวทางนี้ก็คือ แนวทางเอาชนะทุนเสรีได้ แนวทางนี้แหละเป้าหมายเพื่อล้มนายทุนที่เอาเปรียบสังคมได้ แนวทางนี้แหละคือ แนวทางแห่งพุทธะ คือ หลักการพึ่งตนเองเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต เพราะในบันได 9 ขั้นของทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีฐานคือ พอกิน พอใช้ พออยู่ แล้วไปสู่เป้าหมายคือ “การสร้างเครือข่าย” จุนเจือซึ่งกันและกันแล้วที่เหลือค่อยขาย คิดในใจว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 นี้สุดยอดมาก

พอดีรู้จักมักคุ้นกับพี่เก่ง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก็เลยคุยกับพี่เขาว่าอยากทำ ขอเข้าร่วมโคก หนอง นา โมเดล ของกรมการพัฒนาชุมชนด้วยคน แต่ขอเข้าร่วมสัก 1 ไร่พอ จึงไปสมัครเข้าร่วมโครงการที่พัฒนาการอำเภอที่ที่ดินเราตั้งอยู่ เพื่อลองทำโคก หนอง นา โมเดล ตามศาสตร์ของพระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 และเมื่อเข้าไปแล้วต้องอบรม 4 คืน 5 วัน ตามโครงการโคกหนองนาโมเดล..ไม่น่าเชื่อว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคิด วิจัย และทำ ออกมามีมากกว่า 40 ทฤษฎี ทุกทฤษฎีล้วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของชีวิตได้อย่างแท้จริง ตอนหน้าผู้เขียนจะเล่าต่อว่า เมื่อไปอบรมโคกหนองนาแล้วไปเจออะไรมา ได้อะไรกลับมาเพื่อพัฒนาชีวิตเพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของชีวิตและครอบครัวบ้าง