posttoday

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเพื่อปวงชนชาวไทย

05 ธันวาคม 2553

เมื่อผู้อ่านเข้าไปอุดหนุนสินค้าจากร้านค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแห่งใดแห่งหนึ่ง จะพบสินค้าคุณภาพมีให้เลือกหลากหลาย และราคาไม่แพง เพราะสินค้าล้วนมาจากโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา....

เมื่อผู้อ่านเข้าไปอุดหนุนสินค้าจากร้านค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแห่งใดแห่งหนึ่ง จะพบสินค้าคุณภาพมีให้เลือกหลากหลาย และราคาไม่แพง เพราะสินค้าล้วนมาจากโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา....

โดย...สมาน สุดโต

เมื่อผู้อ่านเข้าไปอุดหนุนสินค้าจากร้านค้าโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแห่งใดแห่งหนึ่ง จะพบสินค้าคุณภาพมีให้เลือกหลากหลาย และราคาไม่แพง เพราะสินค้าล้วนมาจากโครงการส่วนพระองค์จิตรลดา

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเพื่อปวงชนชาวไทย

รายการสินค้าประเภทของแห้งมีมากถึง 50 รายการ เริ่มจากนมผง นมอัดเม็ด นมบรรจุกล่อง บรรจุถุง นมข้นหวาน น้ำผึ้ง ข้าวซ้อมมือ ชุดสังฆทาน ปุ๋ยชีวภาพ น้ำผลไม้กระป๋อง เห็ดหลินจือ สาหร่ายเกลียวทอง โจ๊ก ผลไม้อบแห้ง ผลิตภัณฑ์ขนมอบ คุกกี้ ปุ๋ยหมัก ถ่านแกลบบดอัดแท่ง น้ำมันนวดยาล้างจาน เทียนขี้ผึ้ง และสบู่ใสใบมะกอก

ส่วนรายการของสดมี 25 รายการ ประกอบด้วยน้ำดื่ม น้ำผลไม้พาสเจอไรซ์ นมสด และนมปรุงแต่งประเภทต่างๆ เช่น นมเปรี้ยว เนยแข็ง ไอศกรีม และโยเกิร์ต เป็นต้น

ทั้งของสดของแห้งมาจากแหล่งผลิตแห่งเดียวคือ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระตำหนักแห่งนี้เต็มไปด้วยโครงการตัวอย่าง ดังคำกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลของ พล.อ.อ.หะริน หงสกุล ประธานรัฐสภา ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธ.ค. 2523 ว่า

“...ไม่มีพระราชวังไหนในโลกเหมือนพระตำหนักจิตรลดาและบริเวณสวนจิตรลดา ที่เต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงปลา และไร่นาทดลอง อีกทั้งผองโคนม ผสมด้วยโรงสีและโรงงานหลายหลาก จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า ในประเทศไทยไม่มีช่องว่างระหว่างเกษตรกรกับพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทำงานอย่าง ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ ด้วยพระองค์เอง...” (ข้อมูลจากหนังสือสวนจิตรลดา (5 ธ.ค. 2530) 

ข้อมูลจากหนังสือสวนจิตรลดา (5 ธ.ค. 2530) ว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีเนื้อที่ประมาณ 395 ไร่ เป็นพระตำหนักที่มีภูมิทัศน์ร่มรื่นด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่เขียวขจีด้วยนาข้าว ไร่หม่อน สวนป่าและพรรณไม้นานาชนิด รอบนอกแวดล้อมด้วยคูน้ำทั้งสี่ด้าน สัญลักษณ์ที่บ่งบอกผู้สัญจรไปมาว่าพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นี้คือ ธงมหาราชสีเหลืองที่โบกสะบัดปลิวไสวอยู่บนยอดเสาเหนือพระตำหนัก 

โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการตัวอย่างที่ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน (กำไร) แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบไม่ใช่ธุรกิจและแบบกึ่งธุรกิจซึ่งมีรายได้รายจ่าย

โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการอื่น เช่น โครงการนาข้าวทดลองและข้าวไร่ ได้รับความร่วมมือจากกรมการข้าว โครงการปลานิลได้รับความร่วมมือจากกรมประมง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ได้รับความร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน เป็นต้น

ส่วนโครงการกึ่งธุรกิจเป็นโครงการที่มีผลิตภัณฑ์ทดลองออกมาจำหน่ายเป็นทุนหมุนเวียน เช่น การผลิตนมพาสเจอไรซ์ การผลิตนมผง และการสีข้าว นมพาสเจอไรซ์ จะผลิตขายตามโรงเรียน ผลิตภัณฑ์นมผงและข้าวส่งขายตามสหกรณ์ โดยมีโครงการแตกต่างและหลากหลาย พอสรุปได้ดังนี้

กลุ่มงานอุตสาหกรรมนม

โครงการโคนมสวนจิตรลดา/โรงนมผงสวนดุสิต/ศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา/โรงนมสวนดุสิต/โรงเนยแข็งสวนจิตรลดา/โรงนม UHT สวนจิตรลดา/โรงน้ำดื่ม

กลุ่มงานเกี่ยวกับโรงสีข้าวตัวอย่าง ประกอบด้วยโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา/โรงบดแกลบ/โรงปุ๋ยอินทรีย์ และโรงบดแกลบและโรงปุ๋ยอินทรีย์

กลุ่มงานอุตสาหกรรมผลไม้ ได้แก่ โรงน้ำผลไม้/โรงน้ำผลไม้กระป๋อง/โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง/โรงผลิตขนมอบ/โรงน้ำผึ้ง

กลุ่มงานเกี่ยวสาหร่ายเกลียวทองและเห็ด โรงงานเพาะเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง/โรงเพาะเห็ด

โครงการหล่อเทียนหลวง มีขึ้นเพื่อผลิตเทียนขี้ผึ้งมีคุณภาพสำหรับใช้ในราชสำนัก ซึ่งเดิมใช้การปั่นเทียนด้วยมือซึ่งใช้เวลานาน เพื่อฝึกหัดบุคลากรในโครงการให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตเทียน เพื่อเป็นการลดงบประมาณแผ่นดินในการจัดซื้อเทียน และส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในประเทศ

โครงการโรงเนยแข็งจิตรลดา เริ่ม พ.ศ.530 โดยบริษัท ซี.ซี.ฟรีสแลนด์ เนเธอร์แลนด์ น้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องผลิตเนยแข็ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า เนยแข็งมงคล

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเพื่อปวงชนชาวไทย

จากเนยแข็ง ทำให้ผลิตโยเกิร์ตตามมาอีก พร้อมด้วยนมเปรี้ยวพร่องไขมันพร้อมดื่ม

นมข้นหวานบรรจุหลอด นม UHT เริ่มมาจากโรงโคนมจิตรลดาซื้อน้ำนมดิบจากแหล่งต่างๆ วันละ 24 ตัน เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2546 ช่วยเกษตรกรที่ประสบปัญหานมดิบล้นตลาด จึงทำโรงงานตัวอย่างสาธิตการผลิตโดยใช้นมแท้ นอกจากบรรจุกล่องแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแนะให้บรรจุถุงเพื่อลดต้นทุน และจะนำออกจำหน่ายเมื่อเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจคุณภาพแล้ว

ต่อมาในปี 2540 ตั้งโรงน้ำดื่มจิตรลดา เพื่อบริโภค โดยผ่านกระบวนการกรองด้วยทรายและฉายรังสีอัลตราไวโอเลต

ส่วนโรงสีข้าวตัวอย่างเริ่มวันที่ 8 พ.ค. 2514 เป็นโรงสีข้าวตัวอย่างขนาดกลาง สีได้ชั่วโมงละ 1 เกวียน หรือ 1,000 กิโลกรัม

โครงการต่างๆ นั้น เป็นโครงการตัวอย่างหรือนำร่อง และเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาด้านผลผลิตล้นตลาด หรือเป็นโครงการที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะ และพลานามัยให้ประชาชน

โครงการปลาหมอเทศและปลานิล

ไม่มีใครปฏิเสธว่าปลาสดที่มีราคาถูก และมีจำหน่ายจำนวนมากในตลาดสดคือปลานิล ซึ่งเป็นปลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาเพาะพันธุ์และแจกจ่ายให้แก่ประชาชน เริ่มจากจำนวน 50 ตัว ที่มกุฎราชกุมารอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2508

ก่อนหน้านั้นได้ทรงเลี้ยงปลาหมอเทศในสระว่ายน้ำหน้าพระที่นั่งอุดร ในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน และนำเข้ามาเลี้ยงในบ่อปลาบริเวณสวนจิตรลดา ตั้งแต่ปี 2495

โครงการป่าไม้สาธิต

เรื่องป่าไม้นั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยางสองข้างทางที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีราษฎรมาทำสวน ทำไร่ในบริเวณนั้นมาก จึงได้ทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองพร้อมข้าราชบริพารเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณสวนจิตรลดาด้วย

โครงการนาข้าวทดลอง

เมื่อฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2503 หลังจากที่ว่างเว้นไปเกือบ 20 ปี หลังจากนั้นในปี 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวจัดทำแปลงนาสาธิตในบริเวณสวนจิตรลดาทดลองปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ พระองค์ทรงขับควายเหล็กและทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เอง ข้าวเปลือกที่ปลูกได้ส่วนหนึ่งไปใช้เป็นข้าวพิธีในพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญกับแจกให้ชาวนาและเกษตรกรโดยใส่ถุงเล็กๆ ในปีต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนาหว่านข้าวในแปลงนาทดลองต่อท้ายจากงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นโครงการส่วนพระองค์ ที่พิจารณาจัดสรรเงินรายได้ส่วนหนึ่งไปสนับสนุน เพราะเป็นวิทยาการสมัยใหม่สามารถขยายพันธุ์ไม้ได้จำนวนมากมายในเวลารวดเร็ว โดยคำนึงถึงพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ในพระราชฐานหลายชนิด เช่น สมอที่ปลูกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 และพันธุ์ดอกพุดซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพันธุ์ดี รวมทั้งขนุน สาเก กระเบา เป็นต้น โครงการนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2528 รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องหวาย เพื่อขยายพันธุ์และส่งเสริมการปลูกให้พอกับความต้องการ

ทดลองปลูกพืชปราศจากดิน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองปลูกพืชปราศจากดิน โดยใช้เทคโนโลยีสำหรับการผลิตทางการเกษตรที่ได้เจริญก้าวหน้า โดยทดลองปลูกพืชต่างๆ เช่น พืชผัก ไม้ดอก และไม้ประดับ เพื่อเป็นวิธีการที่จะทำการผลิตพืช ในพื้นที่มีปัญหาและมีเนื้อที่จำกัดให้ได้ผลผลิตสูง

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาเพื่อปวงชนชาวไทย

โครงการโรงสีข้าวทดลอง

ในปี 2514 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงสีข้าวทดลองขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกแบบต่างๆ รวมทั้งยุ้งข้าวแบบสหกรณ์พร้อมทั้งดัดแปลงให้การขนข้าวเปลือกเข้าและออกจากยุ้งข้าวโรงสี โดยไม่ใช้แรงงานคนในปี 2520 ต่อมาได้จัดสร้างโรงบดและอัดแกลบให้เป็นเชื้อเพลิงแท่ง และทดลองเผาแกลบอัดแท่งให้เป็นถ่านได้ในปี 2529 รวมทั้งผลิตแกลบบดผสมกับปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยคอกชนิดต่างๆ จำหน่าย

โครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง

เกี่ยวกับเรื่องเชื้อเพลิง ในปี 2529 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกลั่นแอลกอฮอล์ขนาดกลั่นได้วันละ 40 ลิตร ซึ่งเป็นโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามโครงการพระราชดำริ โดยจัดสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการทดลองผลิต

ส่วนวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เป็นสิ่งซึ่งโครงการส่วนพระองค์ สนใจพัฒนาต่อจากเชื้อเพลิงแท่ง ซึ่งผลิตจากแกลบบด นำมาเป็นแหล่งพลังงานหรือแหล่งเชื้อเพลิงซึ่งจะได้พัฒนาต่อไป

โครงการส่วนพระองค์ต่างๆ ที่สรุปมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น และเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธ.ค. 2553 จึงขอเชิญชวนทุกท่านตั้งสัตยาธิษฐาน ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ขอจงทรงพระเจริญ