posttoday

ถึงเวลาสู่เป้าหมาย “พุทธศาสนามั่นคง ทุกสถาบันอยู่รอด”

12 กรกฎาคม 2563

โดย อุทัย มณี       

*******************

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เชิญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองท่านมาออกรายการที่ช่อง 5  คือ คุณนิยม เวชกามา และ คุณเพชรวรรต เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล ทั้งสองท่านเป็น “อดีตเปรียญกินข้าววัด” มาเหมือนกัน ได้คุยกันหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการพระพุทธศาสนา และ คณะสงฆ์ ทุกเรื่องล้วนมีเป้าหมาย “สถาบันพุทธศาสนามั่นคง ทุกสถาบันอยู่รอด” ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเดินทางไปสังเวชนีสถาน ,ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองพระพุทธศาสนา, ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรชาวพุทธ หรือแม้กระทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารพุทธศาสนา

# บางเรื่อง ศาสนาอื่น นำโดดออกเป็นพระราชบัญญัติเรียบร้อยแล้ว กินอิ่มนอนหลับสบาย

# บางเรื่องชาวพุทธ ยังเถียงและทะเลาะกันไม่รู้จบว่า “พระฉันและพระเธอ” ใครคือพระแท้หรือวัดแท้ กว่ากัน

#  บางเรื่องชาวพุทธยังเกรง ๆ กลัว ๆ จินตนาการไปต่าง ๆ นา ๆ

ถึงเวลาสู่เป้าหมาย “พุทธศาสนามั่นคง ทุกสถาบันอยู่รอด”

เสียดาย !! คณะสงฆ์และชาวพุทธ ไม่ยกย่องคนที่ควรยกย่อง และเสียดายชาวพุทธ ทำงานเป็นทีมไม่เป็น เพราะ “ต่างคนต่างมีซุ้ม ต่างคนต่างมีค่าย” ชาวพุทธมักมีอคติมาก่อนสติเสมอ

สุดท้าย จะทำงานใหญ่อะไรตามต้องพึ่ง “คนมีอำนาจ มากกว่า ระบบ” สุดท้ายหากศูนย์อำนาจไม่เอาด้วย..ระบบเดินไม่ได้  ผู้เขียนชอบคำพูดของ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียน ที่ว่า ความคิดแบบนี้ของสังคมไทยส่วนหนึ่งสะสมมาจาก “ระบบไพร่” คือ ชินกับผู้อำนาจมากกว่าระบบ

ผลพวงมาจากการพูดคุยกับ ส.ส.ทั้งสองท่าน ทำให้รู้ว่า ชาวพุทธ ทำงานไปคนละทิศ คนละทาง ต่างก็มีความต้องการแบบฉบับของตัวเอง บางเรื่องมี พ.ร.บ.แล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ออก เมื่อกฎหมายลูกไม่ออก งบประมาณก็ไม่มี คนทำงานก็ทำแบบลูกผีลูกคน อย่างเช่น พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม 2562 ผ่านสภามาปีกว่า ที่คณะสงฆ์ภูมิใจหนักหนาว่า เป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย

ตอนนี้โรงเรียนพระปริยัติสามัญ,พระสอนบาลี,พระสอนนักธรรม,หรือทั้งพระนิเทศก์ ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ตามกฎหมายฉบับนี้ สุดท้ายสอบถามพระคุณเจ้า ท่านตอบว่า “กฎหมายลูกยังร่างไม่เสร็จ”

ผู้เขียนคิดว่า คงถือเวลาที่จะต้องมีองค์กรใดองค์หนึ่งเป็นเจ้าภาพ จัดเวทีพูดคุย เปิดเวทีระดมความคิดเห็น เพื่อทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งองค์กรชาวพุทธ ทั้งสื่อมวลชนที่สนใจเรื่องนี้ ทั้งนักการเมือง และรวมทั้งพระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ด้วย ไม่อย่างนั้นเราไม่สามารถก้าวสู่เป้าหมายเพื่อให้ “สถาบันพุทธศาสนามั่นคง ทุกสถาบันอยู่รอด” ได้ ซึ่งองค์กรและคณะทำงานด้านนี้ ต้องเป็นมือประสานสิบทิศ และต้องอดทนต่อแรงเสียดทานสูง

เพราะอย่าลืม!! ชาวพุทธไทยแหย่ให้แตกแยกได้ง่าย เพราะ “ต่างคนต่างมีซุ้ม ต่างคนต่างมีค่าย”  ชาวพุทธมักมี อคติมาก่อนสติเสมอ เพราะอะไรไปคิดเอาเอง??