posttoday

อะไรคือจุดแข็ง “มหาวิทยาลัยสงฆ์”

14 มิถุนายน 2563

โดย อุทัย มณี   

*******************

วันเสาร์นี้เป็นวันพระตื่นเช้าขึ้นมา พยายามคิดบวกที่ทำให้จิตใจตัวเองสดชื่นมีความสุข ปล่อยวางในบางเรื่องที่คิดไปแล้ว ไม่สามารถแก้ได้หรือคิดไปแล้วเสียเวลาเปล่า โดยเฉพาะเรื่องอดีต และเรื่องที่เป็นอจินไตย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหาร มจร สองเวทีด้วยกัน เวทีแรก สนทนากับคณาจารย์ภายใน มจร ในกลุ่มเล็ก ๆ มีทั้งรองอธิการบดี,และผู้ช่วยอธิการบดีอีก 3 ท่าน

ส่วนในช่วงค่ำสนทนาธรรมกับ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ผ่านโซเซียล

เรื่องหนึ่งที่ผมสะท้อนกลับไปในฐานะคนนอกมหาวิทยาลัยนั่นคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์ต้องทบทวนบทบาทตัวเองดี ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของ มจร คือ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก การจะพัฒนาไปสู่จุดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลกได้นั่น อย่างน้อยต้องรู้ว่าตัวเอง มีจุดแข็งอะไร สิ่งที่ฝากสะท้อนไปมี 3 เรื่อง ซึ่งคิดว่าเป็นจุดแข็งของ มจร คือ หนึ่งการบริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่สังคม สอง เรื่องสันติศึกษา และสาม เรื่องวิปัสสนากัมมฐาน อันนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดแข็งของ มจร และรวมทั้ง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)

ทั้ง 3 เรื่องผมมองว่าเป็นจุดแข็งที่สังคมข้างนอกคาดหวังจาก มจร และมจร เองก็มีพันธกิจชัดเจนว่า ต้องให้บริการด้านวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคมไม่ได้ อันนี้ผู้บริหารต้องเร่งแก้ไข ต้องนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ ตัวเองเก่ง อันเป็นอัตลักษณ์จุดแข็งของตัวองสู่สังคมบ้าง มจร มีทั้งสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง มีทั้งวิทยุ มีทั้งสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งผมคิดว่า มจร ทำได้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง มีเพรชเม็ดงามหลายเม็ด เพียงแต่รอช่างฝีมือดีมาเจียระไนและหานักการตลาดดี ๆ มานำเสนอออกสู่ตลาด

ส่วนอีกเรื่อง ในวงสนทนาทุกคนพูดตรงกันว่า การบริการด้านวิปัสสนากัมมฐาน ปัจจุบันคณาจารย์เราสมองไหล คือ จบจาก มจรแล้วไปตั้งสำนักเอง ไปเติบโตข้างนอกเอง มีผู้คนศรัทธาปฎิบัติกันเยอะ แต่ภายในมหาวิทยาลัยกลับ “เงียบกริบ” เพราะระบบเรามีปัญหา เรื่องนี้แม้แต่การอบรมเด็กเยาวชนนักเรียนยุคหนึ่งที่เราเคยมีปัจจุบันใน มจร เงียบเหงา สาเหตุในวงสนทนาชำแหละออกมา หนึ่ง สอง สาม...

ทั้ง 3 เรื่องหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงไม่ใช่สามเณรสอนสังฆราชหรือเอามะพร้าวไปขายสวน

ต่อมาในเวลากลางคืนสนทนาธรรมกับ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ต่อก็สะท้อนปัญหาเหล่านี้และเห็นว่าท่านเป็นพระนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงของ มจร ทำงานจริงจังและรวดเร็วผลงานที่ผ่านมา ทั้งเรื่อง สถาบันภาษา ทั้งเรื่องโครงการสันติศึกษา หรือแม้กระทั้งหน่วยงานที่ท่านเป็นหัวหน้าค่ายอยู่ตอนนี้อย่างวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ (IBSC) ก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จับต้องได้ เห็นได้

จึงขอฝากไปว่า เรื่องสันติศึกษาที่พระอาจารย์กำลังทำ และ เรื่องวิปัสสนา มันคือจุดขาย ของความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ขอให้พระอาจารย์รับอาสาจากผู้บริหารเข้าไปทำเลยได้ไหม เพราะตรงนี้ภาพของอธิการ มจร รูปปัจจุบันคือ พระราชปริยัติกวี ท่านเป็นพระสายปฎิบัติและสายวิชาการ จะเด่นชัดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพื้นที่มหาวิทยาลัยสีเขียว

ส่วนบรรดาเรื่องหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่เปิด ๆ กันอยู่ ตอนนี้มันแค่ “เครื่องมือหนึ่งในการสร้างเครือข่ายซึ่งก็ถือว่าถูกทางในการสร้างมวลชน” แต่มิใช่แก่นแท้และเป้าหมาย เพื่อให้ มจร เป็น มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาระดับโลก

ปัญหานี้แบบนี้คิดว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือ มมร ก็คงประสบพบเจอเหมือนกัน แต่เนื่องจากหลายปีมานี้ มมร มีปัญหาภายในองค์กรตอนรัฐบาลต้องใช้ ม.44 เข้าไปแก้ไข ปัจจุบันมีคนนอกเข้าไปบริหารหลายคน..คงต้องใช้เวลาอีกนาน หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือได้คุยกับผู้บริหาร วันหลังจะสะท้อนมุมองให้ฟัง

สุดท้ายจบด้วยท่านฝากเชิญชวนผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตรสันติศึกษา มจร ที่ปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดรับรับยุค New Normal มีการเปิดรับนิสิตปริญญาโท เอก ทั้งไทยและอินเตอร์พร้อมลดค่าเทอมเรียน 15% ตลอดหลักสูตร

ความเป็นมาของหลักสูตรนี้ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ท่านเล่าว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร ภายใต้การลงนามความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า หลังจากผนึกกำลังกันปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้สอดรับกับสังคมยุค New Normal โดยเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นวิศวกรสันติภาพ ลงพื้นทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการในชุมชนและสังคม โดยใช้ฐานคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ของยูเอ็น ที่มุ่งพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มาเป็นกรอบการวิจัยและพัฒนา

"หากกำลังมองหาหลักสูตรใหม่ เพื่อสร้างโลกและชีวิตใหม่ด้วย Mindset ใหม่ ในยุคปกติรูปแบบใหม่ หรือยุค New Normal สำหรับการบ่มเพาะลมหายใจแห่งความสุข ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนตามแนว Sustainable Development Goals: SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ผู้สนใจสามารถค้นหาคำตอบได้จากหลักสูตรสันติศึกษา มจร"

สำหรับผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบรายละเอียดการรับสมัครได้ที่โครงการหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้ที่เบอร์ 063-561-5326 หรือศึกษารายละเอียดได้จาก www.ps.mcu.ac.th หรืออีเมล์ [email protected] หรือดูมูลผ่านเพจ peacemcu โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่ วันนี้ ถึง 25 มิถุนายน 2563

โลกกำลังมีความขัดแย้ง โลกกำลังถูกทำลาย ประเทศไทยกำลังมีความขัดแย้ง สังคมไทยกำลังถูกรังแก..หลักสูตรสันติศึกษาก็เหมือนวัด เหมือนพระสงฆ์ เวลาคนมีทุกข์ เวลาสังคมมีปัญหาจึงนึกถึง..ฉันใดก็ฉันนั่นแล..