posttoday

ตามรอยพระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยคชม “ถ้ำพระธาตุลอย”

31 พฤษภาคม 2563

โดย อุทัย มณี  

*******************

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมพาคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ไปสำรวจแหล่งโบราณสถานและถ้ำสถานที่องค์รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จเข้าไปชม ซึ่งมีบันทึกเอาไว้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสไทรโยค

น้ำตกไทรโยคใหญ่ หรือชื่อเดิมว่า “น้ำตกเขาโจน” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสน้ำตกไทรโยคใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2420 และ พ.ศ. 2431 ได้ทรงบันทึกถึงสภาพภูมิประเทศและความงามของน้ำตกไทรโยคไว้ อย่างละเอียดในพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสไทรโยค” และ “กลอนไดอารี่ซึมซาบ เสด็จประพาสไทรโยค” ตามลำดับ

ตามรอยพระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยคชม “ถ้ำพระธาตุลอย”

ส่วนสถานอีกแห่งที่ผมพาคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมไปสำรวจคราวนี้มีหลักฐานทางโบราณคดีที่ กรมศิลปากร เคยมาสำรวจและบันทึกไว้ว่าเชื่อว่าซากฐานพระพุทธรูปและวิหารหลังโรงเรียนตชด.แม่น้ำน้อย เป็นพระพุทธรูปยุคเดียวกับปราสาทเมืองสิงห์ และรอบบริเวณแถวนั้นมีซากอิฐกระจายอยู่ทั่วเชิงเขาและยอดเขาตรงข้ามแม่น้ำอีกฝั่ง

เรามีนัดกันเวลา 10.00 น. เมื่อถึงเวลาคณะ พระครูกาญจนกิจธำรง เจ้าอาวาสวัดพุงพง ในฐานะผู้อุปถัมภ์วัดแม่น้ำน้อย คณะสงฆ์ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่อุทยานที่มาอำนวยความสะดวกด้วย 2 ท่านรวมทั้งปราชญ์ชุมชนกับชาวบ้านอีก 3 -4 คน พาคณะกระทรวงวัฒนธรรมไปสำรวจถ้ำที่ปราชญ์ชุมชนถอดออกมาจากหนังสือพะราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสไทรโยค”

คณะเราล่องแพลากจุงชมบรรยากาศสองฝากฝั่งริมแม่น้ำแควน้อยที่มีทิวทัศน์สวยงามมีเงื้อมหน้าผาสูงชัน โดยมี ลุงบุญส่ง คชพงษ์ ปราชญ์ชุมชนเป็นผู้บรรยาย

“ เช่นพลับพลาองค์รัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ตรงท่าน้ำแม่น้ำน้อย ตามพระราชนิพนธ์บอกว่า ที่ตังพลับพลาตั้งอยู่จำนวน 4 หลัง ริมฝั่งท่าเมืองไทรโยค เมื่อมองไปตรงข้ามอีกฝั่งก็จะมีคลองน้ำขนาดใหญ่ เลยขึ้นไปประมาณ 40 เมตรก็มีเงื้อมผาสูงชัน ด้านบนมีศาลเล็ก ๆ  ชุมชนคนพื้นเมืองที่นี่มีทั้งมอญ กะเหรี่ยง ทวาย  มีผู้เฒ่าคนเก่าแก่เล่าว่า ตอนในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสไทรโยคเคยเอาผลไม้รากไม้เคยไปถวายพระองค์ท่านด้วย..”

เดิมทีก่อนมีเขื่อนสายน้ำจะสูงและเชี่ยว บนเงื้อมหน้าผาจึงมีคนไปตั้งพระพุทธรูปเอาไว้ และใต้น้ำที่มีแสเชี่ยวจึงมีเรือจมบ่อย มีคนมาหาของเก่าประเภทดาบ หอก ได้ไปมากมาย

ตามรอยพระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยคชม “ถ้ำพระธาตุลอย”

เมื่อคณะเราไปถึงถ้ำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “ถ้ำพระธาตุลอย” เพราะตรงกลางถ้ำเมื่อแหงนหน้าขึ้นไปมองมีแสงสว่างจากฟ้าจุดเล็ก ๆ เท่าเหรียญ 5 บาทส่องเข้ามายังถ้ำ

ปัจจุบันถ้ำอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานไทรโยค เดินเข้าไปประมาณ 300 เมตรอยู่ตรงกลางภูเขา มีต้นไม้ เถาวัลย์ปกปิดคลุมหมด หาทางขึ้นไม่เจอจนคนนำทางต้องจุดรูปบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง

เมื่อเจอทางขึ้นเจ้าหน้าที่อุทยานและ นายตี้ มณี คนนำทางต้องตัดเถาวัลย์ออก ต้องปีนขึ้นไปลำบากพอสมควร เมื่อถึงปากถ้ำมองเข้าไปเป็นโพรงใหญ่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปที่เหลือแต่ซาก 3 องค์ สำหรับเศียรพระพุทธรูปลุงบุญส่งเล่าว่า กรมศิลปากรนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ปราสาทเมืองสิงห์

หลับตานึกถึงภาพตอนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นมายังถ้ำคงลำบากไม่ใช่น้อย คณะเราไม่พลาดที่จะยืนชมตรงจุดมองเห็น “พระธาตุลอย” ซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจพอสมควร เป็นไปตามพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสไทรโยค” เป๊ะ ภายในถ้ำนอกจากมีพระพุทธรูปแล้วก็มีโกฎอัฐิวางไว้ในซอกเห็น 2 -3 โกฎซึ่งไม่ทราบว่าเป็นของท่านผู้ใด

เมื่อสำรวจเรียบร้อยก็ลงมายังแพ เพื่อพาคณะกระทรวงวัฒนธรรมไปสำรวจแหล่งโบราณคดีหลังโรงเรียนตชด.แม่น้ำน้อย

ตามรอยพระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยคชม “ถ้ำพระธาตุลอย”

ก่อนขึ้นท่าน้ำประชุมย่อย ๆ กับทางคณะสงฆ์ วัฒนธรรมและชุมชนว่า ทางวัดจะสร้างพลับพลา แต่เนื่องจากเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จึงขอให้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้ทางวัดสร้างให้ถูกต้องและสมพระเกียรติ เพื่มมิให้มีปัญหาภายหลัง..ซึ่งทางผอ.ส่วนกิจกรรมพิเศษ วัฒธรรมกาญจนบุรีรับปากว่า จะดำเนิการให้

โบราณสถานหลังโรงเรียน ตชด.แม่น้ำน้อย ตอนนี้ไม่เหลืออะไรแล้ว นอกจากซากฐานพระพุทธรูปและร่องรอยของวิหารเก่าที่มีอิฐ ศิลา กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เป็นป่ารก ไม่มีคนมากันพื้นที่เอาไว้ ถามครูตชด. บอกพานักเรียนขึ้นมาศึกษาบ่อย แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมทางโรงเรียนไม่ถากถางกันพื้นที่ทำให้มันดูสะอาดบ้าง

การสำรวจคราวนี้จบลงไปได้ด้วยดี ทางวัดแม่น้ำน้อย คนในชุมชน ต้องการรื้อฟื้นและอนุรักษ์ รวมทั้งต้องการทำท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อย่างเต็มที่ ก่อนจากกัน พระครูกาญจนกิจธำรง กล่าวว่า  “เรื่องเงินสร้างพลับพลาและพิพิธภัณฑ์ไม่ห่วงเท่าไรเจ้าภาพพอมี แต่เรื่องการสร้างพลับพลาและพัฒนานี่แหละเป็นห่วงเพราะเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวข้องกับโบราณสถาน จึงฝากให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นพี่เลี้ยงอำนวยความสะดวกให้ด้วย...”

ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น ชุมชนแต่ละชุมชนผมคิดว่า ทุกคนมีดีหมด มีอัตลักษณ์ที่ทรงคุณค่าทุกพื้นที่ เพียงแต่ขาดคนทำงาน ขาดคนประสานงาน ขาดคนอุทิศตนเพื่อส่วนรวม..ความพยายามของชุมชนบ้านแม่น้ำน้อยคราวนี้ หากสำเร็จ อาจเป็นโมเดลให้ชุมชนอื่น ๆ นำไปใช้ได้บ้าง 

ส่วนท่านใด อยากจะไปดูสถานที่หรืออยากจะเข้ามามีส่วนร่วมติดต่อมาได้ที่เบอร์โทร 08-6344-9902 ยินดีน้อมรับฟังทุกความคิดเห็นครับ..

ตามรอยพระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยคชม “ถ้ำพระธาตุลอย”