posttoday

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่องและจุดพิจารณา

26 เมษายน 2563

โดย...อาจารย์ชวินทร์  [email protected]

อกร่อง-หูยาน-ฐานแซม-สอบล่าง(ล่างแคบ)-บานบน คือคำกล่าวถึงเอกลักษณ์ของสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม อันมีโครงสร้างที่เด่นชัดคือ มีเส้นแซมที่ใต้องค์พระกับฐานชั้นแรกบนสุด และมีเส้นแซมระหว่างฐานชั้นบนสุดกับฐานสิงห์ชั้นกลาง

วันนี้มาชม พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่อง กันครับ ถือว่าพิมพ์ถูกต้อง เนื้อใช่ พระสมเด็จองค์นี้ถือได้ว่ามีมวลสารส่วนผสมปรากฏมากให้ทุกท่านได้ศึกษาความเป็นธรรมชาติเชียวครับ

เริ่มจากการพิจารณาแม่พิมพ์ฐานแซมอกร่องนั้น คำกล่าวที่ว่าสอบล่าง(ล่างแคบ)-บานบน นั้นคือการตัดขอบองค์พระในส่วนด้านล่างแคบ ด้านบนจะกว้าง(บานออก) และพื้นที่ขอบพระด้านบนจะมีพื้นที่ห่างจากเส้นซุ้มมากกว่าสมเด็จวัดระฆังพิมพ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด

ปรากฏเส้นพระกรรณ(หู)ชัดเจน แขนทั้งสองข้างคมชัด ลำตัวองค์พระเหมือนเอวบาง และเห็นเส้นสังฆาฏิเป็นเส้นคู่ยาวชัดเจนอันเป็นที่มาของพิมพ์อกร่อง นั่นเอง

ตักขององค์พระติดชัด พระบาทขวายกสูงเป็นทรงขัดสมาธิเพชร เส้นแซมใต้ตักที่ติดชัด เส้นแซมใต้ฐานอาสนะชั้นบนสุดจะเป็นเส้นบางกว่าเส้นแซมใต้ตัก

ฐานขาสิงห์ชั้นกลางถึงแม้นมีมวลสารชิ้นใหญ่อยู่ที่ฝั่งขวาองค์พระ แต่ก็ไม่บดบังเส้นแซมใต้อาสนะที่มาบรรจบกับฐานสิงห์ฝั่งขวา และฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงอันสมบูรณ์ ที่กลางฐานล่างแอ่นเล็กน้อยรับกับเส้นซุ้มล่าง

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่องและจุดพิจารณา

มาดูจุดพิจารณาของฐานแซมอกร่อง ด้านหน้าองค์นี้กันครับ

-พื้นผนังด้านบนกว้างกว่าด้านล่าง(สอบล่าง-บานบน)

-พื้นนอกซุ้มครอบแก้วจะสูงกว่าพื้นภายในซุ้มครอบแก้ว

-เส้นขอบพิมพ์บนด้านซ้ายขององค์พระจะเบนออกนอก

-เส้นซุ้มเรือนแก้วเหมือนหวายผ่าซีก หดตัวและมีรอยปริเป็นธรรมชาติ

- พระเกศโคนใหญ่ปลายสอบ

-เห็นเส้นหู(พระกรรณ)ฝั่งซ้ายองค์พระยาวลงมาถึงไหล่เพราะพิมพ์ติดชัด(บางองค์อาจจะไม่เห็นหากพิมพ์ติดไม่ชัด)

-แขนขวาขององค์พระจะกางข้อศอกออกมากกว่าแขนซ้าย

-ร่องรอยของคราบแป้งรองพิมพ์ในจุดที่ไม่โดนสัมผัส

-บริเวณหน้าอกจะเป็นอกร่องลงมาถึงช่วงท้อง ร่องจะมีลักษณะโค้งเป็นธรรมชาติเล็กน้อย ไม่ตรงทื่อ

-ด้านล่างของหน้าตักจะมีรอยเว้าชัดเจน(รอยเว้าจะดูเหมือนเลข 8 ในแนวนอน)

-มีเส้นแซมใต้หน้าตักจะติดชัดกว่าเส้นแซมใต้ฐานอาสนะชั้นบนสุด

-ใต้ฐานอาสนะชั้นบนสุดลงมาจะมีเส้นแซมอีกเส้นเป็นเส้นโค้งอ่อนพลิ้ว ไม่แข็งทื่อ ปลายเส้นแซมจะเบนโค้งบรรจบกับปลายฐานอาสนะชั้นกลาง(ฐานสิงห์)

-ฐานสิงห์คมชัดทั้งสองฝั่งรับกับฐานชั้นล่าง

-ปลายขอบฐานล่างสุดด้านขวาขององค์พระจะเบนโค้งลู่ลงเล็กน้อย

-เห็นรอยรูพรุนเข็มและรอยปริแยกเป็นธรรมชาติและเม็ดพระธาตุกระจายอยู่ทั่วไป

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่องและจุดพิจารณา

จุดพิจารณาด้านหลังขององค์นี้ จะเห็นรอยพรุนคล้ายหน้าข้าวตังซึ่งเป็นแบบหลังสังขยา

หลังสังขยามีจุดพิจารณาคือ จะเป็นรอยรูพรุนเข็ม ปรากฏเป็นหลุมขนาดเล็ก หลุมใหญ่กระจายอยู่เต็ม มีรอยปริแยกตามขอบที่เรียกว่ารอยปูไต่ และบางส่วนมีการหดตัว, รอยย่นที่เป็นธรรมชาติทั่วแผ่นหลังขององค์พระ

ให้สังเกตขอบของหลุมที่มีเม็ดพระธาตุและยุบลงไป การยุบตัวเพราะการหดตัวของมวลสาร จะเป็นสภาพธรรมชาติ รอบหลุมเหล่านี้จะเห็นผงฝุ่นที่เกาะหนาแน่นจนเห็นเป็นสีดำ เม็ดพระธาตุจะมีลักษณะมน ไม่เป็นเหลี่ยมแหลมคม

จุดพิจารณาด้านขอบข้าง จะเห็นรอยยุบตัว และรอยหลุดลุ่ยของมวลสารเป็นธรรมชาติ ไม่เรียบเนียน

เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่มากับพระสมเด็จจากผู้ชำนาญการรุ่นเก่าคือ รอยรูพรุนเข็ม,รอยหนอนด้น,และรอยปูไต่ คำจำกัดความคือ

รอยรูพรุนเข็มที่เราส่องเห็นนั้น เกิดมาจากการสลายตัวของอินทรีย์สารจากเศษอาหาร พืชและดอกไม้ ซึ่งเป็นส่วนผสมในมวลสารพระ เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยปี มวลสารหดตัวและหลุดล่อนไป เหลือแต่ร่องรอยรูพรุนเข็มปรากฏ

และรอยหนอนด้นนั้นสันนิษฐานว่าเกิดจากเศษก้านธูปเล็ก เศษก้านดอกไม้แห้ง เศษอาหารแห้งเมื่อผ่านกาลเวลามานานนับ 100 ปี ได้เสื่อมสลายไปเหลือแต่ร่องรอยเป็นรอยขดเหมือนตัวหนอนซึ่งเรียกว่ารอยหนอนด้น และมีรอยปูไต่ตามขอบด้านหลังขององค์พระ อันเกิดจากการใช้ไม้ตอกกรีดตัดพระโดยลากลงมา เมื่อแห้งและหดตัวลง จึงก่อให้เกิดรอยปริแยกที่ขอบตามธรรมชาติ

เป็นที่รู้กันว่าส่วนผสมหลักของพระสมเด็จวัดระฆัง ประกอบด้วยผงวิเศษทั้ง 5 และปูนเปลือกหอย ผงธูป มีก้านธูปทั้งที่ถูกเผาเป็นถ่านและก้านธูปที่ไม่ได้ถูกเผา ไม้กุ๊กไก่ที่เป็นเศษไม้ที่ไก่จิกหาคู่ จีวรพระซึ่งมักจะฝังอยู่ในเนื้อพระสมเด็จ และปูนขาวเก่าเป็นเม็ดพระธาตุ ดอกไม้บูชาพระ เศษจีวร น้ำอ้อย น้ำมันตังอิ้ว ข้าวสวยตากแห้งที่เหลือจากการฉัน กล้วย เกสรดอกไม้ และกระดาษสาลงจารมาแช่น้ำนำมา ผสมกับดินสอพอง โดยมีตัวประสานคือน้ำมันตังอิ๊ว  นอกจากนี้แล้วก็มีจุดแดงในองค์พระซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นชิ้นส่วนพระเครื่องจากกำแพงเพชร

ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง “ตรียัมปวาย”ปรมาจารย์แห่งพระสมเด็จ ได้ให้ความรู้ด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆังไว้ถึง 8 แบบคือ หลังรูพรุนปลายเข็ม รอยปูไต่ รอยหนอนด้น รอยย่นตะไคร่น้ำหรือฟองเต้าหู้ รอยกาบหมาก รอยสังขยา รอยลายนิ้วมือ และรอยริ้วระแหง

พร้อมกับอธิบายว่า “ พื้นที่ด้านหลังอันค่อนข้างราบเรียบภายในกรอบสี่เหลี่ยม ปราศจากองค์ประกอบใดๆของมูลสูตร สัญลักษณ์ทางพิมพ์ทรงนั้นมักปรากฏริ้วรอยธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ริ้วรอยเหล่านี้เกิดจากการยุบตัวของวัสดุปูนปั้น ที่แปรสภาพจากของเหลวเป็นของแข็ง กอปรด้วยภาวะแวดล้อมบางประการ จนไม่อาจกำหนดสัณฐานให้แน่ชัดได้ แต่จัดเป็นเครื่องช่วยการพิจารณาได้มาก ทำให้การตัดสินข้อเท็จจริงได้ มากกว่าการพิจารณาด้านหน้า ”

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่องและจุดพิจารณา

และ ได้กล่าวถึงพุทธคุณของสมเด็จวัดระฆังจากที่ นายกนก สัชชุกรได้บันทึกเรื่องราวจากการสัมภาษณ์พระธรรมถาวร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)และมีส่วนร่วมในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังว่า

ในปีพ.ศ.2416 หลังจากที่สมเด็จฯท่านสิ้นไปแล้ว 1 ปี ได้เกิดโรคระบาดขึ้น เรียกว่า “ปีระกาป่วงใหญ่” เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ไปเข้าฝันชาวบางช้างว่า การแก้ไข้ป่วงครั้งนี้ ให้อาราธนาพระสมเด็จวัดระฆังฯสรงน้ำ ทำปะสะน้ำมนต์ จัดดอกไม้ธูปเทียนบูชา แล้วดื่มน้ำมนต์จะหายจากโรคนี้ เรื่องนี้ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง มีผู้พากันปฏิบัติตามแล้วหายจากโรคระบาดอย่างน่าอัศจรรย์

ทำให้ทุกคนในยุคนั้นต่างพากันเสาะหาสมเด็จวัดระฆัง มาบูชา แม้กระทั่งพระสมเด็จฯที่เตรียมไว้ประดับพระอุโบสถวัดระฆังฯตามดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จฯก่อนที่ท่านจะสิ้น ชาวบ้านที่มาพบก็พากันขนไปจนหมดสิ้น

นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงคุณวิเศษของผงวิเศษ 5 ประการเริ่มจากการทำดินสอผงวิเศษโดยมีส่วนผสมเครื่องยาดังนี้ ดินโป่ง 7โป่ง  ดินตีนท่า 7 ตีนท่า ดินหลักเมือง 7 หลักเมือง ขี้เถ้าไส้เทียนที่บูชาพระประธานในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ขี้ไคลเสมา ขี้ไคลประตูวัง  ขี้ไคลเสาตะลุง ช้างเผือก ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว น้ำมันเจ็ดรส และดินสอพองผสมกันแล้วป่นละเอียด เจือน้ำ ปั้นเป็นแท่งดินสอ หลังจากนั้นก็นำดินสอผงวิเศษมาทำผงปถมัง

โดยการทำผงปถมังนี้ใช้ดินสอผงวิเศษเขียนมากโดยใช้เวลา 2-3 เดือน ทั้งนี้อานุภาพของผงปถมังคือ เมตตามหานิยม แต่เน้นหนักไปทางคงกระพันชาตรี มหาอุตม์ แคล้วคลาด กำบังล่องหน และป้องกันภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสยทั้งปวง

การทำผงอิธะเจ หลังจากได้ผงปถมังแล้วก็นำมาปั้นเป็นดินสอผงวิเศษอีกครั้ง เพื่อมาทำผงอิธะเจซึ่งใช้เวลา 3 วัน และมีอานุภาพพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยมและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ

การทำผงมหาราช หลังจากได้ผงอิธะเจแล้วนำมาปั้นเป็นดินสอผงวิเศษเพื่อทำผงมหาราช ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 เดือนและมีอานุภาพพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยม ป้องกันและถอนคุณไสย และแคล้วคลาด

การทำผงพุทธคุณ หลังจากได้ผงมหาราช แล้วนำมาปั้นเป็นดินสอผงวิเศษเพื่อทำผงพุทธคุณ และมีอานุภาพพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยม กำบัง เดาะและล่องหน

การทำผงตรีนิสิงเห หลังจากได้ผงพุทธคุณแล้วนำมาปั้นเป็นดินสอผงวิเศษเพื่อทำผงตรีนิสิงเห และมีอานุภาพพุทธคุณในด้านเมตตามหานิยม ป้องกัน ถอนคุณไสยและภูตผีปีศาจ เขี้ยวเล็บงาเขาสัตว์ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ อัคคีภัยและอันตรายทั้งปวง

ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง ยังมีบันทึกต่อว่า “นอกจากนี้แล้วพระคาถาชินบัญชรที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ใช้ในการปลุกเสกพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังนี้นั้น ยังได้อัญเชิญพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญหลายองค์ และยังอัญเชิญสูตรสำคัญในพุทธศาสนาทั้ง 7 มาประดิษฐานไว้ด้วย คือ รัตนสูตร กรณีเมตตสูตร องคุลิมาลสูตร ธชัคคสูตร ขันธปริตร โมรปริตรและ อาฏานาฏิยสูตร

ซึ่งอานุภาพของสูตรทั้งหมดได้รอบคลุมการป้องกันเรื่องโรคระบาด อำนวยผลให้มีความศิริมงคล มีคุณวิเศษในการป้องกันภูตผีปีศาจ คุณไสย บำบัดโรคาพยาธิต่างๆ เพิ่มพลังใจให้อาจหาญ บำราบภยันตรายที่เผชิญหน้าอยู่ให้ถึงวิบัติ ป้องกันเขี้ยว เล็บงา จากอสรพิษและสัตว์น้อยใหญ่ บันดาลให้แคล้วคลาดจากภยันตรายตลอดจนอุบัติเหตุทั้งปวง”

การศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังนั้น ผู้ชำนาญการรุ่นเก่า มักจะเน้นย้ำเสมอว่า ให้ดูพิมพ์ให้ถูกต้องก่อน ถึงค่อยมาดูความเก่าของเนื้อหามวลสาร คำถามที่ตามมาคือ แล้วเราจะดูความเก่าของเนื้อพระอย่างไร,จะศึกษาความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของเนื้อหามวลสารอย่างไร

การดูพิมพ์นั้น หากเราช่างสังเกต จดจำ และหมั่นเปรียบเทียบจากพระองค์ครูของนักสะสมรุ่นเก่าที่มีการเผยแพร่ ก็สามารถแยกแยะได้ ส่วนการศึกษาความเก่านั้น ธรรมชาติความเก่าเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ต้องค้นหาคำตอบกันครับ

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อกร่องและจุดพิจารณา

พระเนื้อผงพุทธคุณ อายุพระเกือบ 150 ปีความเก่าควรจะเป็นเช่นไร

เนื้อหามวลสารพระต้องไม่ตึงเรียบไปทั้งองค์ พื้นผิวต้องปรากฏรูพรุนลึกบ้าง ตื้นบ้างซึ่งอาจจะเกิดจากอินทรีย์สารที่เป็นส่วนผสมในเนื้อพระย่อยและเสื่อมสลายหลุดรุ่ยไปจากผิวพระ ที่ขอบข้างขององค์พระจะเห็นรอยปริแยกที่ไม่เหมือนกัน เกิดจากการยุบตัวแห้งลงของมวลสาร ไม่เรียบเนียน

เนื้อพระต้องหด ยุบตัวในจุดที่มีก้อนมวลสารฝังตัวอยู่ เป็นการยุบหดตัวจากภายในสู่ภายนอกคือลักษณะจะเหมือนความแห้งของผิวดินที่แตกระแหง เรามองเห็นด้านนอกนิดเดียว แต่ด้านในจะโพรงใหญ่กว่า ในทรรศนะของผู้เขียนการศึกษาพระสมเด็จนั้น ควรต้องเข้าใจเรื่องพิมพ์ ธรรมชาติความเก่าถึงยุคของการสร้างพระ เนื้อหามวลสารของพระ อย่าไปยึดติดกับตำนานที่บอกว่ามีพระสมเด็จแตกกรุที่นั่น ที่นี่

ที่สำคัญเมื่อเราเข้าใจถึงพิมพ์ทรง ธรรมชาติความเก่าของพระได้แล้ว ต้องมีใจหนักแน่น การที่ท่านจะนำพระไปให้ผู้ชำนาญการดู ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ชำนาญการที่เรานำไปให้ดูมีความชำนาญอย่างแท้จริง  ทุกอย่างต้องมีเหตุ มีผลอธิบายได้ว่าพระแท้ควรเป็นอย่างไร พระเก๊ควรเป็นอย่างไรครับ

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเปิดใจพร้อมรับฟังเหตุผล ที่เขาอธิบายมา เพราะอย่างไรก็ตามอย่าลืมครับว่า ไม่มีใครเกิดทันท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สักคนครับ