posttoday

ฝากการบ้านรัฐมนตรีเทวัญเรื่อง “ข้อมูลสื่อสาร”

22 มีนาคม 2563

โดย อุทัย มณี

*************

ในห้วงเวลาวิกฤติที่พลเมืองไทยทุกคนจะต้องร่วมกับ “รัฐบาล” ในการต่อสู้กับโรคโควิท-19 อยู่ตอนนี้ ความจริงผมไม่อยากจะนำเรื่องที่จะเขียนวันนี้มาทำให้ คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “หงุดหงิดหรือเสียขวัญ” กำลังใจในการทำงาน แต่หาก “ไม่กระตุก” บ้างเลย เมื่อ “รับข้อมูลจากคนไม่มีความรู้” การสื่อสารกับประชาชนก็ผิดอยู่ร่ำไป

คุณเทวัญ กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผมเข้าใจว่า พื้นฐานคุณเทวัญไม่มีองค์ความรู้อะไรเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามาก ในชีวิตคงไม่ได้คลุกคลีกับพระสงฆ์มาก่อน เมื่อมาร่วมรัฐบาลมารับผิดชอบตรงนี้ ข้อมูลการสื่อสารกับชาวพุทธ มักผิดพลาดบ่อยครั้ง  เช่น  สมัยหนึ่งพูดถึงคดีพระติดคุกว่า

“ จากการที่ตนได้สอบถามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งว่า เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้วก็เท่ากับเป็นการสึก และแม้ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี สมณะเพศก็ได้ขาดไปแล้ว แต่สมณะศักดิ์หรือยศนั้นเป็นพระราชอำนาจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงหมดจากสำนักพุทธฯ ไปแล้ว ถือว่าได้ขาดจากความเป็นพระแล้ว..”

ฝากการบ้านรัฐมนตรีเทวัญเรื่อง “ข้อมูลสื่อสาร”

ตอนหลังพระสงฆ์บ้าง ราชบัณฑิตบ้าง นักวิชาการบ้าง ออกมาโต้ว่า “ท่านสื่อสารข้อมูลผิดพลาด” เพราะพระติดคุกหากยังไม่ได้มีเจตนา “เปล่งวาจาสึก” ยังไม่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ

เรื่องที่สองที่กำลังเป็นประเด็น คือ คุณเทวัญสัมภาษณ์ว่า “ขอความร่วมมือพระสงฆ์ทั่วประเทศไทยร่วมสวดบทรัตนสูตร ตามความเชื่อว่า บทสวดดังกล่าวจะปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หรือโรคภัยไข้เจ็บ ให้พ้นจากประเทศไทยไป ตามโบราณประเพณีเมื่อนานมาแล้ว ที่ประเทศไทยเคยทำกับโรคห่า..”

หลังจากการให้สัมภาษณ์เกิดการวิพากษ์อย่างรุนแรง ถึงการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในเชิงงมงายไร้สาระ มีการแชร์ภาพและล้อเลียนพุทธศาสนาอย่างสนุกสนาน เช่น เมื่อพระสงฆ์ไล่โรคได้ ทำไมประเทศจึงต้องมีกระทรวงสาธารณสุข เมื่อพระภิกษุไล่โรคโควิด-19 ได้ ทำไมเราจึงต้องมีโรงพยาบาลสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น

ตอนหลังออกมาขอโทษประชาชนที่สื่อสารผิดพลาด...แต่ก็ไม่วายไปอ้างบทโพชฌงคปริตรอีก ผมไม่รู้ว่าลูกน้องของท่านไปค้นหาข้อมูล “ทางกูเกิ้ล” ให้เจ้านายตอบขยายความทำไม และอยู่ดี ๆ เพจเชียร์ลุงก็ไปอ้างว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้เป็น “พระดำริของสังฆราช” เรื่องชักไปกันใหญ่

อันนี้ผมยังไม่ได้พูดถึงการ “เสียมารยาท” สิ่งที่คุณเทวัญสัมภาษณ์เรื่องวันที่ 25 มี.ค.นี้ขอให้พระสงฆ์สวดมนต์ทั่วประเทศ

ผมเป็นสื่อมวลชนเติบโตมาจากโทรทัศน์ เวลาจะเชิญรัฐมนตรีแต่ละคนมาพูดเรื่องนโยบายหรือกิจกรรมสิ่งที่จะทำหาก“กิจกรรมใดหรือนโยบายใดยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือปลัด “จะปฎิเสธ” การมาออกสื่อสารกับประชาชนทุกครั้ง

กรรมการมหาเถรสมาคมเองท่านก็คง “น้ำท่วมปาก”  หากพูดได้คงอยากจะพูดว่า “รัฐมนตรีอาตมามิใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของโยมนะ ต้องการให้คณะสงฆ์ทำอะไรขอปรึกษาพวกอาตมาก่อนได้ไหม ”

ไม่อย่างนั้นสังคมพุทธเรา อาจมองได้ว่า มหาเถรสมาคมเป็นได้แค่ “ตรายาง” ของรัฐบาลเท่านั้น คือ พระต้องฟังโยมประมาณนั้น สั่งให้ทำอะไรก็ทำ สั่งให้สวดก็สวด สั่งให้ออกกฎโน้นกฎนี้ก็ออก

เมื่อมองเข้าไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติปัจจุบัน “ต่างคนต่างเอาตัวรอด” คนที่เก่ง รู้เรื่องพระสงฆ์ “ก็น้อยเต็มที”  เมื่อมีคนรู้เรื่องพระน้อย รู้เรื่องศัพท์ภาษาพระน้อย ข้อมูลที่ป้อนให้รัฐมนตรีก็ “มักผิดพลาดบ่อย”

หากจับผิด แค่คำว่า “สวดมนต์” กับ “เจริญพระพุทธมนต์” รัฐมนตรีก็สื่อสารพลาด อันนี้ไม่รู้คนให้ข้อมูลท่าน รู้เรื่องหรือเปล่า

สมัยรัฐมนตรีสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ กำกับดูแลสำนักงานพุทธ ฯ เคยถามว่า เวลามีเรื่องเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์ ท่านปรึกษาใครหรือไม่ คุณสุวพันธุ์ตอบว่าว่า จะปรึกษากรรมการมหาเถรสมาคม หากจำไม่ผิด 3 รูป คือ พระพรหมบัณฑิต พระพรหมโมลี และพระพรหมมุนี(ปัจจุบันสมเด็จพระมหาวีรวงศ์)

การทำงานกับคณะสงฆ์มันต้องรู้เรื่อง วัฒนธรรมองค์กรคณะสงฆ์ มันต้องรู้เรื่องจารีตประเพณีของคณะสงฆ์พอสมควร อันนี้ไม่นับเรื่องพระวินัย กฎหมาย ที่ต้องรู้บ้าง

ที่พูดมาทั้งหมดทั้งมวล..เพียงแค่กระตุก เพื่อให้ท่านตระหนักใส่ใจกับการสื่อสารและข้อมูล รวมทั้งให้รู้และเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรสงฆ์..อย่าเชื่อสิ่งที่คนป้อนข้อมูลมาทั้งหมด..เพราะอะไรท่านคงรู้ตัวดีอยู่แล้ว..