posttoday

หลวงปู่ทวด หลังหนังสือใหญ่ กะไหล่ทองบล็อกเสาอากาศ คางขีด ปีพ.ศ.2505

01 มีนาคม 2563

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

วันนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้แพร่ขยายไปทั่วโลก โดยที่วัคซีนสำหรับที่ใช้ในการรักษาโดยตรงยังไม่มี

สำหรับประเทศไทยนั้น ถือได้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขไทยมีทีมงานที่เข้มแข็งมาก หลังจากได้รับแจ้งจากทางประเทศจีนเมื่อปลายปี 2562 มีโรคไวรัสอุบัติใหม่

ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ก็เริ่มประชุมหาแนวทางป้องกันทันที ซึ่งทำให้ไทยเราได้รับการชื่นชมจากนานาชาติเรื่องการป้องกันนี้ ที่สำคัญการป้องกันจะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการครับ อย่าลืมครับ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม

หลวงปู่ทวด หลังหนังสือใหญ่ กะไหล่ทองบล็อกเสาอากาศ คางขีด ปีพ.ศ.2505

ย้อนมาดูพระเครื่อง เรื่องของเรากันดีกว่าครับ อาทิตยที่แล้วได้พระหลวงปู่ทวด หลังหนังสือเล็ก วอจุหน้าหนูหูกลางตัวตัดมีติ่ง กะไหล่ทอง 2505 มาให้ชม วันนี้ก็ได้พระพิมพ์ที่สวยงามอีกพิมพ์ จาก คุณสมคิด ปรัตถจริยาหรือ สมิหรา11 แบ่งปันพระหลวงปู่ทวด พิมพ์หลังหนังสือใหญ่กะไหล่ทอง บล็อกเสาอากาศ คางขีด ปีพ.ศ.2505 มาให้ชมเพื่อการศึกษาอีกครั้งครับ

จุดพิจารณาของพระหลวงปู่ทวด หลังหนังสือใหญ่ กะไหล่ทองบล็อกเสาอากาศ คางขีด นั้น โดยภาพรวมเบื้องต้น พระต้องมีความคมเป็นแท่ง เพราะเป็นพระปั๊มตัด เส้นเสี้ยนในองค์พระต้องคมพลิ้วเป็นธรรมชาติ กะไหล่ต้องแห้งเก่าเป็นธรรมชาติ ร่องรอยขอบข้างต้องคมชัด

มาดูจุดพิจารณาด้านหน้ากัน

-ขอบปลายด้านบนองค์พระจะมีลักษณะโค้งมน

-พื้นผิวจะเรียบ ส่วนปลายของพื้นที่ด้านบนจนถึงศีรษะมีช่องว่างยาวกว่าพิมพ์เล็ก

-เส้นหน้าผากจะคมชัดเจน

-ใบหูใหญ่ คมชัด

-จมูกเป็นสันใหญ่ ปลายจมูกบานออก

-ใต้ริมฝีปากบริเวณคางจะมีเส้นพาดเฉียง อันเป็นที่มาชื่อพิมพ์ คางขีด

-ริ้วจีวรเป็นบั้งคมชัดเจน

-บริเวณซอกแขนด้านขวา จะมีเส้นคมยาวลงมาเป็นแพ ในแนวเฉียง

-ปลายนิ้วชี้มือขวา เรียวแหลมเล็กคม

-บัวเม็ดกลางแถวบน จะโค้งมนต่างจากเม็ดอื่นชัดเจน

หลวงปู่ทวด หลังหนังสือใหญ่ กะไหล่ทองบล็อกเสาอากาศ คางขีด ปีพ.ศ.2505

จุดพิจารณาด้านหลัง

-ปลายขอบส่วนบนจะโค้งมนได้รูปจากการปั๊มตัด

-ขอบองค์พระจะมีเนื้อปลิ้นจากการปั๊มตัดเป็นธรรมชาติ

-กะไหล่ทองแห้งเป็นธรรมชาติ

-มีเนื้อเกินที่ข้างยันต์นะโม

-มุมปลายอักขระมีติ่งเล็ก

-รอยแตกเป็นธรรมชาติ

-มีเส้นพาดขวางยาวเป็นธรรมชาติ อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์เสาอากาศ

-ตรง”ไม้โท” ของคำว่าช้าง ใหญ่ยาวจรด สระอา

-หัวสะไอไม้ม้วน ของคำว่า “ให้” มีลักษณะกลม มน

หลวงปู่ทวด หลังหนังสือใหญ่ กะไหล่ทองบล็อกเสาอากาศ คางขีด ปีพ.ศ.2505

จุดพิจารณาด้านข้างนั้น

-มีร่องรอยการปั๊ม การตัดแต่งขอบติด เห็นชัดเจน

-ตรงกลางศีรษะจะมีรอยตะไบปาดเอียง

-มีรอยปาดตะไบที่เส้นสังฆาฏิ

พระพิมพ์หลังเตารีดปั๊มหลังหนังสือใหญ่ที่สร้างในปีพ.ศ.2505นั้น มี 2 พิมพ์หลัก คือ พิมพ์ มีตัว ท, และ พิมพ์หลังหนังสือใหญ่ธรรมดา และภายหลังมาแบ่งเป็นพิมพ์ย่อย ตามลักษณะโครงหน้าของ และตัวหนังสือที่แตกต่างกันในแต่ละพิมพ์ ในการสร้างคราวนั้นทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ประมาณกันว่าสร้างจำนวน 100.,000 กว่าองค์ องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นเนื้อทองเหลืองกะไหล่ทองซึ่งเป็นพิมพ์ที่สร้างขึ้นเพื่อแจกกรรมการเท่านั้น

พระหลวงปู่ทวด ที่เป็นพระปั๊มตัด ไม่ว่าพิมพ์ไหนก็ตาม ต้องมีความเป็นธรรมชาติของพระปั๊มตัด เช่น ความตึงของพื้นผิว เส้นเสี้ยนที่เกิดขึ้นต้องคมเป็นธรรมชาติ ร่องรอยการปั๊มทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ร่องรอยการปั๊มตัดขอบ ธรรมชาติของพื้นผิวต้องปรากฏให้เห็น เช่นผิวรมดำ ผิวกะไหล่ทอง ต้องแห้งเป็นธรรมชาติตามอายุความเก่าขององค์พระ

อย่างไรก็ตามความศรัทธาของประชาชนต่อพระเครื่องหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเครื่องหลวงปู่ทวดที่จัดสร้างและปลุกเสกโดยอาจารย์ทิม ล้วนเป็นที่เสาะหาของนักสะสมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เนื่องจากสามารถเรียนรู้ถึงมวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างแต่ละรุ่น เพราะมีครูบาอาจารย์หรือนักสะสมรุ่นใหญ่ให้คำแนะนำและมีการบันทีกการสร้างว่าอยู่ในห้วงเวลาที่ทันท่านอาจารย์ทิม อย่างชัดเจน