posttoday

พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร กรุวัดท้ายตลาด

13 ตุลาคม 2562

วัดท้ายตลาด เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใต้พระราชวังเดิม ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

พระเครื่องวัดท้ายตลาดเป็นพระเนื้อผงผสมผงใบลาน สีของพระเครื่องส่วนใหญ่จึงเป็นสีเทาเข้ม จนถึงเกือบดำตามส่วนผสมของใบลาน พระของกรุนี้มีเนื้อหามวลสารคล้ายพระสมเด็จปิลันท์ วัดระฆังฯ มีคราบไขคล้ายกันมาก มาชมพระกรุวัดท้ายตลาด พิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร ซึ่งสวยสมบูรณ์เพื่อเป็นแนวทางศึกษาครับ

พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร กรุวัดท้ายตลาด

จุดพิจารณาของพระกรุวัดท้ายตลาดนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ดูจากไขคราบกรุ ซึ่งจะมีสีออกเหลืองคล้ายไขวัวเคลือบที่องค์พระ และความเก่าแห้งของเนื้อผงใบลาน

ท่านอาจารย์ตรียัมปวายได้บันทึกไว้ว่า พระวัดท้ายตลาดนี้สร้างโดยพระวิเชียรมุนีอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ท่านเจ้าคุณสนิท พร้อมกับหลวงพ่อแย้ม และหลวงพ่อกลิ่น พระอาจารย์สายกัมมัฏฐานของพระอารามนี้ สันนิษฐานว่า สร้างบรรจุไว้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2431 ล่วงอายุถึงปัจจุบันได้ 130 ปี มาแล้ว

การแตกกรุของวัดท้ายตลาดนั้น เริ่มจากคนร้ายลักลอบเจาะกรุเจดีย์รายมานานแล้ว และทางวัดก็ได้ซ่อมแซมอยู่เสมอ ครั้นต่อมาใน พ.ศ. 2485 คราวกรณีพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส ทางกระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือขอพระเครื่องมาที่ทางวัดโมลีโลกยาราม เพื่อมอบเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร และตำรวจที่ไปร่วมรบ

พระประสิทธิ์ศีลคุณ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงได้ให้ขุดกรุพระเจดีย์รายในวัด และได้พระเครื่องออกมาจำนวนมาก ทั้งได้พบพระเครื่องอีกส่วนหนึ่งซึ่งบรรจุไว้ในปีบบนเพดานพระอุโบสถและเพดานหอสมเด็จฯ จึงได้มอบให้แก่ทางกระทรวงกลาโหมไปส่วนหนึ่ง

พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร กรุวัดท้ายตลาด

พระกรุวัดท้ายตลาดที่พบเป็นพระเนื้อผงใบลาน พิมพ์ต่างๆ แต่ละพิมพ์ล้วนสวยงามด้วยศิลปะทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังได้พบพระแบบเดียวกันที่วัดนางชี คลองบางหลวง และที่วัดหงษ์ฯ บางกอกใหญ่อีกด้วย สันนิษฐานว่า "พระวัดท้ายตลาด"นั้นคงจะมีการบรรจุไว้ตามกรุต่างๆ หลายวัดด้วยกัน

มวลสารพระกรุวัดท้ายตลาดเป็นพระเนื้อผงผสมผงใบลาน สีของพระเครื่องจึงเป็นสีเทาเข้มเกือบดำ และมีเม็ดผงพุทธคุณสีขาวแทรกอยู่ในเนื้อกระจายกันอยู่ในทุกองค์ ผิวของพระแทบทุกองค์มีคราบกรุและไขขาวจับอยู่ไม่มากก็น้อย ที่ด้านหลังส่วนมากจะมีรอยประทับ เป็นอักขระกดลึกลงไปในเนื้อพระ ด้านพุทธคุณนั้นเด่นในทางเมตตา มีโชคลาภ และแคล้วคลาด

มีการสันนิษฐานกันว่า ช่างผู้ออกแบบแม่พิมพ์พระเครื่องคงจะเป็นช่างหลวง เพราะแต่ละพิมพ์มีความงดงาม และมีมากพิมพ์ วงการพระเครื่องกล่าวกันว่ามีมากกว่า 50 พิมพ์ ประมาณว่า ที่แตกกรุออกมาก็พบว่ามีไม่น้อยกว่า 48,000 องค์ พิมพ์ที่นิยมและเป็นที่รู้จักได้พบเห็นบ่อย อาทิเช่น
1.พระวัดท้ายตลาด พิมพ์พระปิดตาขัดสมาธิเพชร
2.พระพิมพ์แม่พระธรณีเป็นมวยผม สี่เหลี่ยมใหญ่
3.พระพิมพ์แม่พระธรณีเป็นมวยผม ห้าเหลี่ยม
4.พระพิมพ์นางกวัก สี่เหลี่ยม
5.พระพิมพ์พุทธนางกวัก
6.พระพิมพ์ป่าเลไลย์ใหญ่
7.พระพิมพ์ป่าเลไลย์เล็ก
8.พระพิมพ์นาคปรกเต็มองค์
9.พระพิมพ์ครึ่งองค์
10.พระพิมพ์สังกัจจายน์
11.พระพิมพ์ซุ้มปราสาท
12.พระพิมพ์สมาธิแหวกม่าน
13.พระพิมพ์เล็บมือ
14.พระพิมพ์ยืนอุ้มบาตร
15.พระพิมพ์ยืนห้ามสมุทร
16.พระพิมพ์ยืนถวายเนตร
17.พระพิมพ์ยืนรำพึง
18.พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร
19.พระพิมพ์พระเจดีย์
20.พระพิมพ์มารวิชัย ข้างเส้น
21.พระพิมพ์มารวิชัย ข้างเม็ด
22.พระพิมพ์สมาธิเล็ก
23.พระพิมพ์สมาธิข้างกนก
24.พระพิมพ์หยดแป้ง
25.พระพิมพ์สมาธิบัวสองชั้น
26.พระพิมพ์ปางไสยาสน์ เป็นต้น

พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร กรุวัดท้ายตลาด

วัดท้ายตลาด เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใต้พระราชวังเดิม ปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งเหนือ ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีวัดนี้อยู่ในเขตพระราชฐาน จึงไม่มีพระจำพรรษา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหาศรี วัดราชสิทธิ์ เป็นพระเทพโมลี แล้วให้มาครองวัดนี้

ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามเป็น วัดพุทไธศวรรยาวาส ถึงแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอาราม พร้อมกับพระอารามอื่นๆ อีก และทรงเปลี่ยนนามเป็นวัดโมลีโลกยาราม มาจนปัจจุบัน

พระเครื่องกรุวัดท้ายตลาดเป็นที่ต้องการของนักสะสมในวงการพระเครื่อง มีราคาไม่แพงมากนัก ประสบการณ์สูงนักสะสมนิยม พระกรุวัดท้ายตลาด ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ 1.เชื่อมั่นว่าผู้สร้างพระเครื่องชุดนี้เจตนาในการสร้างดี จึงสร้างบรรจุลงกรุใต้ฐานเจดีย์ราย เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาเท่านั้น

2.สันนิษฐานว่าพระกรุวัดท้ายตลาดออกแบบโดยช่างหลวง พิมพ์และรูปแบบรายละเอียดจึงสวยงามทุกพิมพ์ 3.เกจิอาจารย์ในวงการพระเครื่องต่างเห็นพ้องกันว่ามวลสารหลัก คือ มีผงใบลานกับผงพุทธคุณเก่าแก่มากมาย โดยจะเห็นชัดจากองค์พระที่แตกหักชำรุด 4.เนื่องจากวัดท้ายตลาดเป็นพระอารามหลวง เมื่อมีการจัดสร้างพระเครื่อง การจัดพิธีพุทธาภิเษกก่อนบรรจุพระเครื่องลงกรุ แน่นอนว่าจะต้องยิ่งใหญ่อลังการ และครบถ้วนตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมา

พระพิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร กรุวัดท้ายตลาด