posttoday

กำเนิด :คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

06 ตุลาคม 2562

คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้ชื่อว่า เป็นคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สันโดษ เรียบง่าย ส่วนสำคัญเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าราชกาลที่ 4 ทรงวางระเบียบแบบแผนแนวทางวัตรปฎิบัติเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงผนวช

เขียนโดย..อุทัย มณี  (เปรียญ)

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4   พระองค์ในฐานะผู้ให้กำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ผู้เขียนของเล่าเกร็ดประวัติเล็กน้อยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน เกี่ยวกับความเป็นมาของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ดังนี้

กำเนิด :คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ ใน พ.ศ.2367 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ฉายานามในทางธรรมว่า “พระวชิรญาณ” ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอุปัชฌาย์ ภายหลังจากที่ทรงผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยองค์รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตโดยไม่ได้ดำรัสสั่งมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด ว่ากันตามนิตินัยแล้วผู้มีสิทธิขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 2 ก็คือ พระวชิรญาณ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันกิดแต่พระอัครมเหสี แต่เนื่องจากพระวชิรญาณทรงตัดสินพระทัยที่จะผนวชต่อไป ที่ประชุมพระราชวงค์และเสนาบดีจึงถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ ผู้เจริญพระชันษากว่าพระวชิรญาณถึง 17 ปี เมื่อกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระวชิรญาณได้ผนวชต่อไปจนสิ้นรัชกาลแล้วจึงลาผนวชออกไปขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4

ขณะประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น พระวชิรญาณทรงสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ต่อมาได้ทรงเลื่อมใสในความเคร่งครัดวินัยของพระเถระชาวมอญรูปหนึ่งชื่อ ชาย พุทธวังโส หรือพระสุเมธมุนี วัดบวรมงคล มีพระประสงค์จะปฏิบัติวินัยเคร่งครัดตามแบบอย่างพระมอญ จึงเสด็จย้ายจากวัดมหาธาตุไปประทับ ณ วัดสมอราย ปัจจุบันคือ วัดราชาธิราช เมื่อ พ.ศ.2372 ทรงเข้ารับการอุปสมบทซ้ำ โดยมีพระสุเมธมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติจากพระสุเมธมุนีแล้วเผยแพร่การปฏิบัติเคร่งครัดวินัยแบบมอญ ต่อมาใน พ.ศ.2379 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเทียบเท่ารองเจ้าคณะใหญ่แล้วเสด็จไปเป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหาร วัดบวรนิเวศวิหารนับว่าเป็นวัดคณะสงฆ์ธรรยุติกนิกายเป็นวัดแรกที่สมบูรณ์แบบ

พระวชิรญาณเถระ เป็นเจ้าอาวาสครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ 14 ปี สร้างความเจริญให้กับธรรมยุติกนิกายเป็นอันมาก  สุดท้ายหลังพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสวรรคต พระองค์ได้ลาผนวชและเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 รวมเวลาที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 27 พรรษา

กำเนิด :คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

ในยุคของพระบาทสมเด็จพระจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นยุคที่คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายรุ่งเรื่องมาก ไม่ต้องเกรงกลัวฝ่ายบ้านเมืองจับตาเหมือนดังแต่ก่อน ดังพระอธิบายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร ความว่า

“ ในสมัย (รัชกาลที่4) นี้ ผู้เลื่อมใสในความปฎิบัติของพระสงฆ์สำนัก (วัดบวรนิเวศวิหาร) นี้ออกหน้า บำเพ็ญกุศลทานบริจาค เข้าวัด จำศีล ฟังเทศน์ และบรรพชาอุปสมบทได้โดยสดวกใจ ไม่ต้องรแวงผิดโดยทางรายการแผ่นดิน แต่สมเด็จพระมหาสมณะ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงรมัดอยู่ เกรงว่าจักเป็นโอกาสที่คนผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสจนิง ๆ เข้ามาบวช..”

ในยุคสมัยที่พระวชิรญาณเถระ ครองวัดบวรนิเวศนั้น พระองค์ทรงปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรมมุ่งหวังให้พระภิกษุ-สามเณรในวัดศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง มีผู้สอบได้มากกว่าสำนักอื่น ๆ เล่ากันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสร็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์วัดบวรนิเวศเป็นเปรียญกันมาก ตรัสปราศัยพระภิกษุวชิรญาณหรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “ถ้าวัดของชีต้นเป็นเปรียญทั้งวัด ก็จะดีทีเดียว..”

ณ วัดบวรนิเวศวิหารนี้พระองค์ทรงสนับสนุนให้ศิษย์ที่เป็นพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ศึกษาภาษาอังกฤษด้วย พระองค์ทรงส่งพระสมณทูตไทยไปศรีลังกา ทรงตั้งโรงพิมพ์ในไทยเพื่อพิมพ์หนังสือภาษาไทยเกี่ยวกับกิจการพระศาสนาโรงพิมพ์วัดบวรนิเวศวิหาร ปัจจุบันคือ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย จึงถือว่า เป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ทรงขยายฐาน สำนักสงฆ์ธรรมยุตไปอย่างแพร่หลายทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

กำเนิด :คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

ส่วนคำถามที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า การกำเนิดขึ้นของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย คือวันไหนกันแน่ ยังไม่เป็นที่สรุปชัด ในหนังสือประวัติคณะธรรมยุต สรุปได้ดังนี้

1.ในเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ถือเอาปี พ.ศ.2367 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เป็น “กาลกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติ”

2.ในเรื่องพระราชประวัติในรัชกาลที่ 4 โดยความย่อของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงกล่าวว่า การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำทัฬหีกรรม คือ อุปสมบทซ้ำในคณะสงฆ์รามัญเมื่อปี พศ.ศ 2369 ซึ่งเป็นปีที่ 2 แห่งการทรงผนวชนั้น “เป็นต้นธรรมยุติกนิกาย”

3.ในลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอ้างพระดำรัสเล่าของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ว่า ทรงถือว่า ปี 2372 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกจากวัดมหาธาตุไปตั้งสำนักที่วัดสมอราย “เป็นกาลกำเนิดของคณะธรรมยุต”

4.สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือเอาวันที่ 11 มกราคม 2379 อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จจากวัดสมอรายมาอยู่ครองวัดบวรนิเวศวิหารว่า “เป็นกาลกำเนิดของคณะธรรมยุต”

กำเนิด :คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย

ปัจจุบันวัดคณะสงฆ์ธรรมยุตกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 3,832 วัด  เมื่อปีพ.ศ. 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจมีพระภิกษุธรรมยุติกนิกาย ประมาณ 33,187 รูป สามเณร  6,804 รูป  คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายได้ชื่อว่า เป็นคณะสงฆ์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สันโดษ เรียบง่าย ส่วนสำคัญเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าราชกาลที่ 4 ทรงวางระเบียบแบบแผนแนวทางวัตรปฎิบัติเอาไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงผนวชอยู่นั่นเอง..

ขอบคุณภาพ..เฟชบุ๊ควัดบวรนิเวศวิหาร /วัดราชาธิวาส