posttoday

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

14 กรกฎาคม 2562

เสน่ห์ของพระกริ่งวัดสุทัศน์ฯประการหนึ่งคือ ด้วยโลหะที่เป็น นวโลหะ เมื่อนำมาบูชา ผิวของพระเมื่อสัมผัสเหงื่อก็จะกลับดำ ถ้าเรานำมาขัดผิวก็เปลี่ยนเป็นอมขาวกลับมาแดง และเปลี่ยนเป็นดำอีกครั้ง ซึ่งมาจากสูตรผสมนวโลหะนั่นเอง

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

วันนี้มาชมพระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ซึ่งจัดสร้างในปี พ.ศ.2488 โดยเจ้าคุณศรี (สนธิ์)หรือ พระมงคลราชมุนี วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระสังฆราช(แพ) เจ้าตำรับการสร้างพระกริ่งอันโด่งดัง และเป็นที่นิยมและหวงแหนสำหรับนักสะสมพระเครื่องของไทย

พระกริ่งพิมพ์ผอมนี้จัดสร้างในปีพ.ศ.2488 จำนวน 97 องค์ บรรจุกริ่งในตัว 2 รู โดยใช้แม่พิมพ์ของพระกริ่งพิมพ์ผอมปี 2479 แต่ขนาดจะเล็กกว่า โดยพิมพ์ปี 79 เนื้อจะแก่เงินมากกว่า เสน่ห์ของพระกริ่งวัดสุทัศน์ประการหนึ่งคือ ด้วยโลหะที่เป็น นวโลหะ เมื่อนำมาบูชา ผิวของพระเมื่อสัมผัสเหงื่อก็จะกลับดำ ถ้าเรานำมาขัดผิวก็เปลี่ยนเป็นอมขาวกลับมาแดง และเปลี่ยนเป็นดำอีกครั้ง ซึ่งมาจากสูตรผสมนวโลหะนั่นเอง

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

เนื้อนวโลหะ ประกอบด้วยโลหะ 9 อย่าง คือ ประกอบด้วย เหล็ก, ปรอท, ทองแดง, เงิน และทองคำ ทั้งห้าตัวแรกจะเป็นหลัก ถ้าเติมอีก 4 ชนิด คือ เจ้าน้ำเงิน, สังกะสี, ชิน และ ทองแดง(บริสุทธิ์) รวมเรียกว่านวโลหะ

สูตรโลหะที่นำมาหล่อพระกริ่งของวัดสุทัศน์ คือ ชินน้ำหนัก 1 บาท ,จ้าวน้ำเงิน น้ำหนัก 2 บาท ,
เหล็กละลายตัว น้ำหนัก 3 บาท , บริสุทธิ์(ทองแดงบริสุทธิ์) น้ำหนัก 4 บาท , ปรอท น้ำหนัก 5 บาท , สังกะสี น้ำหนัก 6 บาท , ทองแดง น้ำหนัก 7 บาท , เงิน น้ำหนัก 8 บาท , ทองคำ น้ำหนัก 9 บาท

พระกริ่งถือได้ว่าเป็นพระเครื่องชั้นสูงที่มีกรรมวิธีในการจัดสร้างได้ยาก ทั้งจากส่วนผสมซึ่งเป็นตำรับโบราณนับวันจะหายากยิ่ง โลหะแต่ละอย่างตามคำโบราณ เมื่อเอ่ยในปัจจุบัน บางท่านอ้าปากหวอ ไม่เคยได้ยินชื่อ อีกทั้งการลงยันต์ในแผ่นโลหะตามวาระต่างๆ ก่อนที่จะนำมาหลอมรวมเป็นนวโลหะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมาก และต้องยอมรับว่า ครูบาอาจารย์ที่สามารถทำให้สมบูรณ์ตามพิธีกรรมเหมือนในอดีตแทบไม่มีแล้ว ทำให้พระกริ่งเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่องสำหรับพระหล่อโดยปริยาย

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

พระกริ่งที่นิยมในหมู่นักสะสมพระเครื่องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กริ่งนอก และกริ่งใน กริ่งนอกคือพระกริ่งที่สร้างจากต่างประเทศ เช่น พระกริ่งจีนใหญ่ พระกริ่งปทุมฯจากเขมร เป็นต้น ส่วนพระกริ่งในนั้นที่ได้รับความนิยมในไทยมีอยู่ 2 สำนัก กล่าวคือ 1.จัดสร้างโดยวัดบวรนิเวศ สร้างโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระกริ่งปวเรศ อันลือชื่อ หายากและมีราคาแพงสุดๆ และ 2 .ของวัดสุทัศนฯ จัดสร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช(แพ) ซึ่งท่านสร้างตามกำลังวัน จำนวนไม่มาก ล้วนเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั้งสิ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพระกริ่งล้วนมีรูปแบบมาจากพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาพุทธเจ้า ตามความเชื่อความศรัทธาของนิกายมหายาน ซึ่งเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปณิธาน 12 ประการ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์สมบูรณ์ทั้งกายและจิตใจ ทรงหยั่งรู้ในโลก ทรงเป็นผู้ชี้ทางใมวลมนุษย์หลุดพ้นจากอาสวกิเลส เป็นพระศาสดาของเทวดาทั้งหลาย

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

ปณิธานของพระองค์ทั้ง 12 ประการนั้นกล่าวโดยย่อคือ
1.ขอให้กายของพระองค์มีรัศมีรุ่งเรืองไร้ขอบเขตจำกัด และให้สรรสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอภาคเช่นเดียวกับพระองค์
2.กายของพระองค์ทอแสงดุจมณีสีฟ้าเปลางแสงออกไปไกลแสนไกล มีรัศมีสว่างกว่าพระอาทิตย์และพระจันทร์ จะนำปัญญาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลส
3.ด้วยอำนาจแห่งปัญญาอันหาขอบเขตมิได้ จะนำพาให้สรรพสัตว์หลุดพ้นจากความยากจน
4.จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งปวงที่หลงผิด ให้หันกลับมาปฎิบัติเพื่อการหลุดพ้น
5.จะนำพาสรรพสัตว์ที่ปฎิบัติแล้วไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่ตกไปสู่ห้วงกิเลสอีก
6.มนุษย์ทุกรูปนามทั้งพิการ โง่เขลา ตาบอด หูหนวก และเป็นโรคร้ายทั้งปวงเมื่อได้ยินพระนามของพระองค์ ย่อมหายเป็นปกติเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย
7.สรรพสัตว์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย บุคคลอนาถาไร้ที่พึ่ง เมื่อได้ยินพระนามของพระองค์ ย่อมหายจากโรคภัยไข้เจ็บ พบความสุขทั้งกายและใจและถึงพร้อมโภคสมบัติทั้งปวง
8.หญิงทั้งหลายที่ต้องทนทุกข์ทรมาณ เกิดความเบื่อหน่ายในเพศสตรี เมื่อได้ยินพระนามของพระองค์ หญิงนั้นจะเปลี่ยนเป็นชายโดยสมบูรณ์ทุกประการและบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด
9.พระองค์จะช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นบ่วงมาร ที่เห็นผิดทั้งหลายทั้งปวงจะบังเกิดความเชื่อมั่นในสัจจธรรมจนบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด
10.ผู้ที่ถูกจองจำต้องโทษ ถูกจองจำในคุก เมื่อได้ยินพระนามของพระองค์ย่อมเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานทั้งปวง
11.สรรพสัตว์ที่ทนทุกทุกข์ด้วยความหิวโหย หรือมุ่งเลี้ยงชีพด้วยกรรมชั่ว เมื่อระลึกถึงพระนามของพระองค์จะเพียบพร้อมด้วยอาหารทิพย์
12.เหล่ามวลมนุษย์ผู้ยากไร้ที่ปราศจากเครื่องนุ่งห่ม เมื่อได้ยินพระนามของพระองค์และจดจำด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาย่อมได้รับเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับแพรพรรณทุกประการ

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

จากพระมหาปณิธานของพระองค์ทั้ง 12 ข้อนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างพระกริ่ง เพื่อขอพระบารมีจากพระองค์มาปัดเป่า และนำมาซึ่งความสำเร็จตามพระมหาปณิธานของพระองค์โดยสมบูรณ์สำหรับผู้ที่บูชาพระกริ่งนั่นเอง

มูลเหตุการสร้าง พระกริ่งวัดสุทัศน์ฯนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งที่ สมเด็จพระวันรัต (แดง) พระอุปัชฌาย์อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ ทรงเคยรักษาผู้ป่วยเป็นอหิวาตกโรคให้หายได้ ด้วยการอาราธนาพระกริ่งลงในน้ำ ทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์ แล้วโปรดให้น้ำนั้นแก่ผู้ป่วยดื่ม ปรากฏว่าหายอย่างน่าอัศจรรย์ เมื่อตรัสอย่างนั้นแล้วก็อาราธนาพระกริ่งลงในน้ำ ทำน้ำพระพุทธมนต์ประทานแก่ สมเด็จพระวันรัต (แดง)

เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์นั้นแล้วก็บรรเทาหายอาพาธเป็นปกติ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศนเทพวรารามได้ทอดพระเนตรเห็นคุณวิเศษน่าอัศจรรย์ของพระกริ่งในขณะนั้นแล้ว จึงเกิดความสนพระทัย และทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าตำราที่จะสร้างพระกริ่งเรื่อยมา จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้าง ส่งทดการสร้างมาถึงลูกศิษย์เอกของท่านคือเจ้าคุณศรี(สนธิ์) นั่นเอง

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ

ตำนานความเป็นมาของ พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ซึ่งนายนิรันดร์ แดงวิจิตร หรือ อดีตพระครูวินัยกรณโสภณ เป็นผู้เขียน กล่าวว่า ตำนานพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ "คำว่ากริ่ง" นี้ หมายความว่ากระไร สมเด็จฯ (สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว) เคยรับสั่งเสมอว่า คำว่า "กริ่ง" นี้ มาจากคำถามที่ว่า "กึ กุสโล" (กิง กุสะโล) คือ เมื่อพระโยคาวจรบำเพ็ญสมณธรรมมีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้ายจิตเสวยอุเบกขาเวทนา ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนา) เปลี่ยนเป็น อเนญชา (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน คือ ฌานที่ 4)

เป็นเหตุให้ พระโยคาวจรเอะใจขึ้นว่า "กึ กุสโล" นี้เป็นกุศลอะไร เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแปลกประหลาด ไม่เหมือนกับกุศลอื่นที่ผ่านมา ดังนั้นคำว่า "กึ กุสโล" จึงเป็นชื่อของ อเนญชา คือ "นิพพุติ" แปลว่า "ดับสนิท" คือหมายถึงพระนิพพานนั่นเอง"

พระกริ่ง 79 พิมพ์ผอม ปี 2488 เจ้าคุณศรี(สนธิ์)วัดสุทัศน์ฯ