posttoday

เหรียญพระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร รุ่นแรก พ.ศ. 2460 พระนครศรีอยุธยา

30 มิถุนายน 2562

ด้านพุทธคุณนั้นครบเครื่อง ครอบจักรวาลทั้งมหานิยม เสริมด้านค้าขาย แคล้วคลาด เป็นสิริมงคลสำหรับผู้ที่บูชาทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองกับครอบครัว ครูบาอาจารย์ล้วนแต่สุดยอดแห่งยุคมาร่วมในพิธีปลุกเสก

ด้านพุทธคุณนั้นครบเครื่อง ครอบจักรวาลทั้งมหานิยม เสริมด้านค้าขาย แคล้วคลาด เป็นสิริมงคลสำหรับผู้ที่บูชาทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองกับครอบครัว ครูบาอาจารย์ล้วนแต่สุดยอดแห่งยุคมาร่วมในพิธีปลุกเสก

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

วันนี้มาชมเหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร รุ่นแรก ปี 2460 ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น 1 เบญจภาคีเหรียญพระพุทธในระดับประเทศ จัดสร้างโดยพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ขณะดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า เพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนในการบูรณปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร ซ่อมแซมพระเมาฬีและพระกรข้างขวาที่แตกหักตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 พร้อมทั้งบูรณะพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมขึ้นใหม่ ในราวปี พ.ศ.2460-2463 โดยจัดสร้างเป็น 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง ครับ

เหรียญพระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร รุ่นแรก พ.ศ. 2460 พระนครศรีอยุธยา

พุทธลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ หูเชื่อม พื้นเรียบ ยกขอบเป็นเส้นสันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อมงคลบพิตร ปางมารวิชัย ประทับบนอาสนะแท่น จารึกอักษรโดยรอบว่า “พระปฏิมากร มงคลบพิตร ศรีอยุธยา” ด้านหลัง ตรงกลางเป็นยันต์เฑาะว์ จำนวนการสร้างไม่มากนัก ที่นำมาให้ชมเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่เงินครับ

จุดพิจารณาของเหรียญนี้นั้น หลังจากหยิบขึ้นมาส่องนั้น ดูธรรมชาติของเนื้อโลหะเก่าอายุ 100 ปี เส้นสาย ตัวหนังสือเป็นแท่ง จุดต่างๆต้องมีความคมชัด พื้นเหรียญต้องเรียบตึงต้องไม่เป็นขี้กลาก เหรียญต้องไม่บวม ดูด้วยสายตาจะเห็นสภาพความเก่าของกะไหล่เงิน ยิ่งเมื่อส่องกล้อง ยิ่งเห็นความต่างของกะไหล่ที่โดนสัมผัสและไม่โดนสัมผัส

จุดสังเกตด้านหน้า 1. เม็ดพระศกคมชัด 2. ปลาย ล มีเส้นแตกเล็กๆออกมา 3. ปลาย ฏ เป็นจุดนูนๆ ตรงขอบเหรียญล่างขวาจะมีเส้นแตกเป็นตำหนิในพิมพ์ เมื่อเอียงส่องถึงแม้นว่าเป็นเหรียญปั๊มองค์พระและตัวอักษรที่ไม่ลึก แต่จะเห็นมิติและความคมของเส้นสายต่างๆอันเกิดจากการแกะบล็อกและเครื่องจักรในสมัยก่อน ที่ไม่มีกำลังมากเหมือนในปัจจุบัน เพราะถ้าเป็นเหรียญถอดพิมพ์ น้ำหนักของการปั๊มจะต่างกัน อาจจะเห็นองค์พระและตัวหนังสือลึกมากกว่านี้หรือเล็กกว่าก็เป็นได้

จุดสังเกตด้านหลัง 1. เป็นเหรียญหูเชื่อม 2. มีเส้นยันต์ซ้อนกัน 3. บริเวณปลายยันต์ด้านบน จะเห็นรอยที่เกิดจากการปั๊มเป็นแนวอยู่ 4.พื้นเหรียญไม่มีขี้กาก 5.มีจุดลอยนูนคมๆขึ้นมา 2 จุดบนพื้นเหรียญ มุมล่างใต้ยันต์บริเวณ 7 นาฬิกา จะเห็นได้ว่าพื้นเหรียญจะตึงมาก พลิกเอียงส่องเห็นเป็นมิติของเส้นยันต์ที่ไม่ลึกแต่เป็นเส้นชัดเจนอันเกิดจากการปั๊มเต็มกำลังเครื่องจักรในสมัยนั้น

เหรียญพระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร รุ่นแรก พ.ศ. 2460 พระนครศรีอยุธยา

ด้านพุทธคุณนั้นครบเครื่อง ครอบจักรวาลทั้งมหานิยม เสริมด้านค้าขาย แคล้วคลาด เป็นสิริมงคลสำหรับผู้ที่บูชาทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองกับครอบครัว ครูบาอาจารย์ล้วนแต่สุดยอดแห่งยุคมาร่วมในพิธีปลุกเสก เช่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม, หลวงพ่อฉาย วัดพนัญเชิง, พระพุทธวิหารโสภณ (หลวงพ่ออ่ำ) วัดวงฆ้อง, พระอธิการชม วัดพุทไธศวรรย์, หลวงปู่ปั้น วัดพิกุลโสคัน และ หลวงพ่อขันธ์ วัดนกกระจาบ เป็นต้น ปลุกเสกที่หน้าพระพักตร์หลวงพ่อพระมงคลบพิตร ในพระวิหารหลวงพ่อพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา

พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปอิฐบุด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร สูง 22.45 เมตร ประดิษฐาน ณ วิหารพระมงคลบพิตร ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในรัชสมัยใด

บันทึกของพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระราชวังหลวง (เป็นบริเวณวัดชีเชียง) จนในปี พ.ศ.2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก (ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ปัจจุบัน) และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมณฑปสวมไว้ในคราวเดียวกัน

จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2310 พม่าเข้าใจว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงใช้ไฟสุมองค์พระเพื่อลอกทองออก ทำให้องค์พระมงคลบพิตร ตลอดจนพระวิหารได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เครื่องบนพระวิหารที่หักลงมาต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาแตกหักตกลงมา กลายเป็นซากปรักหักพังนับแต่นั้นมา

เหรียญพระมงคลบพิตร วัดมงคลบพิตร รุ่นแรก พ.ศ. 2460 พระนครศรีอยุธยา

องค์พระมงคลบพิตรและวิหารได้รับการบูรณะใหญ่อีกครั้งในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ.2499 ระหว่างการบูรณะในปี พ.ศ.2500 กรมศิลปากรยังได้พบพระพุทธรูปบรรจุในพระอุระด้านขวาเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

และได้รับการบูรณะอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2533 ในคราวที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สมัยนั้น เสด็จฯ เป็นประธานเททองหล่อ “พระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง” ได้ประทานพระดำริว่า ควรปิดทององค์พระมงคลบพิตร ทั้งองค์เพื่อความสง่างาม สมเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองมายาวนาน ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงร่วมกับมูลนิธิ พระมงคลบพิตร จัดทำ “โครงการบูรณะปิดทองพระมงคลบพิตร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พ.ศ.2535”

ประกอบกับเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงนมัสการพระมงคลบพิตร พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 50,000 บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระมงคลบพิตรด้วย