posttoday

การถวายผ้ากฐินที่ถูกต้องควรทำอย่างไร? (ตอน ๒)

10 พฤศจิกายน 2553

ปุจฉา : กราบเรียน พระอาจารย์อารยะวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย

ปุจฉา : กราบเรียน พระอาจารย์อารยะวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย

โดย....พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบเรียน พระอาจารย์อารยะวังโส วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย

ด้วยข้าพเจ้ามีความสับสนเรื่องการถวายผ้ากฐินซึ่งมีอานิสงส์มาก ว่าการถวายผ้ากฐินอย่างไรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา เพราะบางวัดรับผ้าไตรจีวรตัดเย็บแล้ว บางวัดรับผ้าขาวไปตัดเย็บเอง และบางวัดก็ไม่ตัดเย็บใดๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปจนไม่รู้ว่า แบบไหนคือแบบที่ถูกต้อง

มีพิธีการจากสำนักวัฒนธรรมฯ แห่งหนึ่งเป็นโฆษกบรรยายว่า “การถวายผ้ากฐินให้กับพระสงฆ์มหานิกายก็จะทำอย่างหนึ่ง ถวายให้กับพระสงฆ์ธรรมยุตก็จะทำอย่างหนึ่ง จึงให้สับสนว่า “ทำไมถือปฏิบัติไม่เหมือนกัน ทั้งที่เป็นพุทธศาสนาเดียวกัน”

ขอพระอาจารย์ช่วยแจกแจงแสดงเหตุผลให้หายสงสัยด้วยเถิด เพื่อจะได้ถึงบุญกุศลที่แท้จริงสำหรับชาวพุทธไทยเรา......

ความเคารพอย่างสูง

“ศรัทธาธรรมส่องโลก”

วิสัชนา : เพื่อถวายสงฆ์ในส่วนความเป็นบริวารของผ้ากฐิน จึงสามารถที่จะจัดทำได้ตามกำลังความศรัทธาของญาติโยม

ประเด็นสำคัญ จึงต้องอยู่ที่ “ผ้ากฐิน” อันเป็นองค์ประธานของปัจจัยที่น้อมถวายตามกาลทาน ซึ่งเป็นทานที่จำกัดเขตกาล หรือเป็นไปตามกาลเฉพาะ ไม่เป็นไปตามกาลทั่วๆ ไป

คำว่า “กฐิน” มีชื่อมาจากไม้สะดึงที่ไว้ลาดหรือกางออกเพื่อขึงเย็บจีวร พูดให้เข้าใจง่ายๆ ไม้สะดึง คือ ไม้แบบที่ใช้สำหรับขึง เพื่อตัดเย็บจีวรนั่นเอง โดยกฐินหรือการรับผ้ากฐินของสงฆ์นั้นจัดเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งใน ๔ อย่าง คือจัดเป็นญัตติทุติยกรรม หมายถึง จะต้องเผดียงสงฆ์หรือประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ต่อไปนี้จะทำอะไร เรื่องอะไรในสังฆกรรม (กรรมที่สงฆ์พึงทำ และให้มีการสวดอนุสาวนา ๑ ครั้ง (อนุสาวนา หมายถึง คำประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์) โดยในส่วนของกฐินนั้น

นอกจากจะจัดเป็นญัตติทุติยกรรมแล้ว ยังมีอปโลกนกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงต้น (อปโลกนกรรม แปลว่า กรรมที่ทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติ ไม่ต้องสวดอนุสาวนา) ในช่วงของการให้ผ้ากฐิน เพื่อจะมอบให้กับพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดนั้นก็จะต้องมีธรรมเนียมในการขอปรึกษาหารือกันท่ามกลางสงฆ์ ว่าจะตกลงกันเป็นอย่างไร จะมอบให้ภิกษุรูปใด และการอปโลกน์ให้ผ้าบริวารผ้ากฐินก่อน แล้วจึงสวดกรรมวาจาที่กล่าวนั้นเป็นเรื่องของฝ่ายสงฆ์ ที่จะต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน ซึ่งสาธุชนควรจะทราบไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการสืบอายุพระพุทธศาสนา

ประเด็นสำคัญของสาธุชนผู้มีศรัทธาพึงควรทราบว่า จำนวนพระสงฆ์ผู้จะให้ผ้ากฐินนั้นต้องมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป จึงมีคุณสมบัติที่จะรับผ้ากฐินไปดำเนินกฐินกรรม มีการกรานกฐินเป็นสำคัญ โดยเหตุที่กำหนดสงฆ์ไว้ให้มีจำนวน ๕ รูปนั้น เพราะจะต้องเป็นผู้รับผ้ากฐินเสียรูปหนึ่ง ที่เหลืออีก ๔ รูปจะได้เข้าเป็นจำนวนสงฆ์ คือครบองค์สงฆ์ มากกว่า ๕ รูปใช้ได้ น้อยกว่า ๕ รูปใช้ไม่ได้ ตรงนี้จึงขอหมายเหตุเป็นสำคัญ ให้สาธุชนได้มีความเห็นอันตรงกันว่า ในอาวาสหรือวัดใดที่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส หรือ ๓ เดือน ในฤดูกาลฝน และอยู่ครบจำนวน ๕ รูปขึ้นไป เป็นผู้ไม่ขาดพรรษาตามพระธรรมวินัย จึงจะมีอานิสงส์รับผ้ากฐินได้ตามเขตกฐินปกติ เพื่อทำการกรานกฐิน ซึ่งระบุสิทธิของภิกษุผู้กรานกฐินไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องประกอบด้วยองค์กำหนด ๓ ประการ คือ

๑.เป็นผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาสไม่ขาด

๒.อยู่ในอาวาสเดียวกัน

๓.ภิกษุมีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป

ซึ่งถ้าภิกษุได้กรานกฐินแล้ว เขตกฐินก็จะยืดออกไปอีก ๔ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

สำหรับคำว่า “การกรานกฐิน” นั้น เป็นการดำเนินการของฝ่ายพระสงฆ์ที่มีองค์คุณสมบัติครบ “ตามสิทธิของภิกษุผู้กรานกฐิน” คือ เมื่อมีผ้าเกิดขึ้นแก่สงฆ์ในกาลเช่นนั้น พอจะจัดทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ สงฆ์พร้อมใจกันยกให้แก่ภิกษุรูปใด เพื่อประโยชน์แห่งการกราน ภิกษุผู้นั้นรับผ้านั้นแล้วให้เอาไปทำเป็นจีวรให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น (ภายในสันหนึ่งคืนหนึ่ง ก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่) และนำมาบอกแก่ภิกษุผู้ยกผ้านั้นให้เพื่ออนุโมทนา ภิกษุเหล่านั้นร่วมอนุโมทนาแล้วจะได้รับอานิสงส์กฐินเช่นเดียวกันกับภิกษุผู้รับผ้ากฐินอันสงฆ์ให้แล้วไปทำจีวร จึงต้องทำบุพกรณ์ให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น

จากการรับผ้ากฐินหรือผ้าขาวผืนนั้นที่สาธุชนเจ้าของผ้าน้อมถวายมา โดยบุพกรณ์มีอยู่ ๗ ประการ ที่พระสงฆ์ผู้ได้รับผ้ากฐินมาต้องกระทำ ได้แก่

๑.ซักผ้า

๒.กะผ้า

๓.ตัดผ้า

๔.เนาผ้าที่ตัดแล้ว

๕.เย็บเป็นจีวร

๖.ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว

๗.ทำกัปปะ คือพินทุ

หมายเหตุสำคัญตรงนี้ จึงขอตอบให้ชัดเจนว่า “ผ้ากฐิน คือ ผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล หรือผ้าตกตามร้านที่มีลักษณะเป็นสีขาว

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้