posttoday

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)

05 พฤษภาคม 2562

ส่วนผสมหลักของพระสมเด็จวัดระฆัง ที่ท่านนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักคือ เปลือกหอยนำมาเผาและมามาป่นอีกครั้ง ดินสอพอง ข้าวสวยที่เหลือจากการฉัน กล้วย เกสรดอกไม้ ปูนขาวและตัวประสานคือน้ำมันตังอิ๊ว

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

วันนี้มาชมพระเครื่องในตำนานของไทยที่ทุกคนใฝ่หาอันเป็นที่มาของนาม จักรพรรดิพระเครื่องนั่นคือ สมเด็จวัดระฆังฯ ซึ่งสร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสี ครับ

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)

อกร่อง หูยาน ฐานแซม คือคำจำกัดความของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม พระองค์นี้แฟนทางบ้านที่ส่งมาให้ชมได้บอกว่า พระองค์นี้ผ่านตากูรูพระเบญจภาคีรุ่นใหญ่เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระเครื่องของไทยมาแล้ว โดยท่านได้กล่าวว่า เป็นสมเด็จวัดระฆังพิม์ฐานแซมยุคแรก ลงรักปิดทองเก่ามา สภาพความสวยเช่นนี้ ค่านิยมอยู่ที่ใจเลยครับ

อันเสน่ห์ของพระสมเด็จลงรักนั้น ถ้ามาพิจารณาดู ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า รักในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งผ่านมา 100 กว่าปีแล้วนั้น ถ้าเราเข้าใจถึงลักษณะของรักที่เคลือบพระบูชารัตนโกสินทร์ หรือที่เรียกว่ารักรัตนฯ จะทำให้มองเห็นภาพเพราะอยู่ในยุคเดียวกัน อยากให้ลองขยายภาพแต่ละด้านของพระสมเด็จฯองค์นี้ดู จะมองเห็นความเก่าซึ่งเป็นธรรมชาติของพระสมเด็จวัดระฆัง สามารถเป็นแนวทางศึกษาได้อย่างชัดเจน

หยิบพระมาส่องก่อนอื่นต้องเข้าถึงเอกลักษณ์ของพระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซมคือ อกร่อง หูยาน ฐานแซม เส้นซุ้มเป็นลำหวายขนาดใหญ่ พระพักตร์ต้องเป็นผลมะตูม พระกรรณสองข้างยาว เกศมักจะยาวโค้งปลายจรดซุ้ม ความสวยของพระองค์นี้มองเห็นเส้นพระศอชัดเจน มองไปที่พระอุระจะเป็นทรงวี ตรงส่วนพระอุทรจะปรากฏร่องบางๆ มุมประสานของพระหัตถ์จะเป็นมุมกว้างและบริเวณข้อศอกมักจะหักเป็นมุมเหลี่ยม

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)



บริเวณเข่าทั้งสองข้างจะสูงคล้ายด้ามสาก บริเวณตรงกลางจะเว้าเข้าไปเล็กน้อย ปรากฏเส้นฐานแซมเหนืออาสนะชั้นบนจะหักเชื่อมกับปลายฐานชั้นบนสุด และใต้อาสนะชั้นที่หนึ่งก็จะปรากฏเส้นฐานแซม ปลายเส้นแซมจะโค้งลงมาจบกับปลายฐานทั้งสองด้านมองเหมือนฐานขาสิงห์ จะสังเกตได้ว่าเส้นแซมของพระสมเด็จองค์นี้คมมาก จากอายุพระ 100 กว่าปียังคงสภาพความสวยได้แบบนี้นับว่าไม่ธรรมดาครับ

การลงรักปิดทองในสมัยก่อนนั้น ก็เพื่อเป็นการรักษาพระเครื่องไว้เมื่อผ่านมา 100 กว่าปี จะพิจารณาได้อย่างเด่นชัดคือ ความแห้งของรัก รักจะร่อนตัวออก ไม่มีความสดใหม่ เมื่อส่องดูไปที่ขอบรักจะเผยอตัวขึ้นอันเนื่องมาจากรักมีความแห้ งและหดตัวและบีบตัวเอง เนื่องผ่านความร้อนมาเป็นเวลานานประกอบกับมวลสารองค์พระมีการหดตัวด้วย

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)

เมื่อมาส่องดูทองที่ปิดบนผิวรัก สีของทองนั้นจะออกซีดและแห้งเหมือนทองที่ปิดอยู่บนผิวพระรัตนฯ อาจจะมีคำถามต่อมาว่า ปกติพระที่ลงรักปิดทองเมื่อล้างรักออก หรือรักร่อนออกมักจะมีผิวแตกลายงา แต่ทำไมองค์นี้ก็มีจางๆ นั่นเป็นเพราะมวลสารขององค์พระถ้าองค์ไหนมวลสารมีส่วนผสมน้ำมันตังอิ๊วเยอะ และไม่แก่ปูนเมื่อล้างรักออกก็จะเห็นความหนึกนุ่มการแตกลายงาอาจจะไม่มากนัก หากองค์ไหนที่แก่ปูนหรือเนื้อแกร่งเมื่อล้างรักออกแล้ว ผิวย่อมดูเหมือนแตกลายงาอันเกิดจากน้ำรักไปรัดผิวพระที่เกิดการหดตัวบนผิวพระ

มาดูเนื้อหาของพระสมเด็จองค์นี้หนึกนุ่มชวนฝัน จากความแห้งแบบคลาสสิคและการร่อนตัวของรักจากที่กล่าวมาและคราบรักเก่าขนาดเล็กที่กระจัดกระจายฝังอยู่อยู่ตามองค์พระ นับเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งที่มองให้เห็นความเก่าซึ่งไม่อาจล้างได้หมด เพราะถ้าล้างออกหมดและล้างไม่เป็น อาจจะพาผิวองค์เสียหายไปด้วย

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)

มาดูที่ก้อนมวลสารที่ยุบตัวลงไปกว่าพื้นผิวพระทางฝั่งซ้ายข้างวงแขนองค์พระสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความเก่ากาลเวลานั่นเอง ในองค์เดียวกันนี้เองจะเห็นก้อนมวลสารแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวเหมือนหินขัดกับองค์พระที่บริเวณพระอุระและบริเวณกึ่งกลางระหว่างเข่าทั้งสองข้างทั้งหมดเป็นเพราะก้อนมวลสารมีความหนาแน่นสูงไม่หดตัวลงนั่นเอง

ดูที่พื้นผิวพระทางขวามือจะเห็นจุดน้ำตาลอันเป็นเกสรดอกไม้แห้งที่สมเด็จฯท่านนำมาเป็นบดส่วนผสมอาจจะมีทั้งเป็นจุดเล็กหรือขนาดใหญ่ขึ้นมา อันเนื่องมาจากการบดผสมนั่นเอง และยังมีตุ่มดำๆฝังตัวอยู่นั่นคือก้านธูปที่ท่านนำมาบดผสมเช่นกัน นอกจากนี้ตามพื้นผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลังจะปรากฏรูพรุน หลุมตื้นๆ อันเกิดจากการหลุดตัวของเกสรดอกไม้ขนาดเล็กที่ย่อยสลายก่อนตามกาลเวลา และด้านข้างที่เกิดการยุบตัวตามธรรมชาติเป็นร่องแอ่งบ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ของพระเก่าถึงยุคของพระสมเด็จวัดระฆัง แถมยังเป็นจุดชี้ขาดได้อีกทางหนึ่งด้วย

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)



เป็นที่รู้กันว่า ส่วนผสมหลักของพระสมเด็จวัดระฆัง ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)ท่านนำมาใช้เป็นส่วนผสมหลักคือ เปลือกหอยนำมาเผาและมามาป่นอีกครั้ง ดินสอพอง ข้าวสวยที่เหลือจากการฉัน กล้วย เกสรดอกไม้ ปูนขาวและตัวประสานคือน้ำมันตังอิ๊ว นอกจากนี้แล้วก็มีจุดแดงในองค์พระซึ่งสันนิษฐานกันว่า เป็นชิ้นส่วนพระเครื่องจากกำแพงเพชร และเยื่อกระดาษสาที่ได้จากการนำกระดาษสามาแช่น้ำ เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมพระผงเนื้อหาจะออกมาแนวหนึกนุ่มครับ และในบางองค์ยังปรากฏก้านธูปและเศษผ้าจีวรอีกด้วยครับ

หากเราเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของพระเก่า เข้าถึงแม่พิมพ์ที่สร้างออกมา ย่อมมีโอกาสได้พระแบบฟลุ๊คๆ เช่นเดียวกันครับ ที่สำคัญถ้ามีเวลาว่างลองค้นหนังสือเก่าจากแหล่งต่างๆ เช่นหอสมุดแห่งชาติ แหล่งข้อมูลหนังสือเก่าจะเห็นว่า พระที่ตีพิมพ์ลงหนังสือในยุคเก่า จะมีพระแท้ตามหนังสือมาตรฐานให้ชมเป็นแบบอย่างการศึกษาได้เป็นอย่างดีครับ

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)

สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม (องค์ลงรักปิดทอง)