posttoday

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

29 เมษายน 2562

เสือของหลวงพ่อปานนับว่า เป็นเครื่องรางยอดนิยม แกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง ปลุกเสกโดยใช้ คาถาหัวใจเสือโคร่งคือ โอม พยัคโฆ พยัคฆา สูญญาสัพพะติ อิตอ ฮัม ฮัม ฮืม ฮืม

โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

เมื่อกล่าวถึงเรื่องเครื่องรางของขลังรูปสัตว์ ครูบาอาจารย์ดังๆในไทยที่สร้างเครื่องรางของขลังในรูปสัตว์มีหลายท่าน เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ สร้างสิงห์แกะจากงาช้าง หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว จ.ฉะเชิงเทรา สร้างลิงแกะจากไม้ หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก จ.ระยอง สร้างแพะแกะจากเขาควายเผือกที่โดนฟ้าผ่าตาย หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี สร้างหนุมานแกะจากไม้พุฒซ้อน

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง จ.นครปฐม สร้างวัวธนูจากครั่งพุทรา หลวงพ่อหอม วัดซากหมาก จ.ระยอง สร้างสิงห์แกะจากงาช้าง หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม สร้างเสือแกะจากไม้ อาจารย์เฮง วัดเขาดิน จ.นครสวรรค์ สร้างคชสีห์ จากงาช้าง หลวงพ่อพัก วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง สร้างหมูจากงาช้าง และ เขี้ยวเสือแกะ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย เป็นต้น

วันนี้มาชมเสือหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ต.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ อันมีเอกลักษณ์คือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า เสือของหลวงพ่อปานนับว่า เป็นเครื่องรางยอดนิยม คู่กับเบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี แกะจากเขี้ยวเสือโคร่ง แล้วหลวงพ่อปานลงเหล็กจารด้วยตัวเอง ปลุกเสกโดยใช้ คาถาหัวใจเสือโคร่งคือ โอม พยัคโฆ พยัคฆา สูญญาสัพพะติ อิตอ ฮัม ฮัม ฮืม ฮืม

เสือของท่านลักษณะนั่งชันเข่า มีทั้งหุบปาก และอ้าปาก รูปร่างอ้วนพี พุงยุ้ย ขาคู่หน้าอวบใหญ่ มีทั้งแบบ 3 เล็บและ 4 เล็บ จิกลงบนพื้น ดวงตาเป็นแบบตาลูกเต๋า อยู่ในระดับเลยสูงขึ้นไปทางหน้าผากด้านบน แหงนหน้ามองฟ้า ใบหูเป็นแบบหูหนู จึงเป็นที่มาของคำนิยาม หูหนู ตาลูกเต๋า เขี้ยวเสือนี้ ตำนานเล่าขานว่า ท่านใช้ช่างแกะอยู่ 5 คน คือ ช่างฟัก ช่างชม ช่างนิล ช่างมาก และ ช่างมา จึงมีรูปร่างไม่เหมือนกัน

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

เสือเขี้ยว ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า หน้าเหมือนแมว หูเหมือนหนู คือเอกลักษณ์มีทั้งแบบเขี้ยวซีกและเต็มเขี้ยว ในยุคแรกเป็นเสือเขี้ยวซีกทั้งสิ้น และมีเสือตัวเล็ก ที่แกะจากปลายเขี้ยวเรียกว่า เสือสาลิกา ซึ่งในสมัยนั้นนิยมเลี้ยงไว้ในตลับสีผึ้งทาปาก

เสือเขี้ยวมีทั้งหางตั้งขึ้นและหางลง ที่ขาหน้าท่านจะจาร ตัวอุที่ดูคล้ายสายฟ้า และ เลข ๗ มากที่สุดหางลากยาวหรือบางทีก็เป็นเลข ๓ ตรงสีข้าง ส่วนใต้ฐานท่านจะจารยันต์กอหญ้าหรือ สูญญัง จารเป็นวงรีและใช้คาถากำกับขณะจารว่า นิพพานนัง ปะระมัง สูญญัง ถ้าเสือตัวใหญ่ท่านจะลง ยันต์กอหญ้า 2 ตัวตรงข้ามกัน และลงตัว ฤ ฤา พร้อมกับ ตัวอุณาโลม บางตัวมีรอยขีด 2 เส้นขนานกันดูให้ดีจะเห็นเป็นเส้นลึกและคมชัด

การพิจารณาเขี้ยวเสือที่สำคัญต้องดูความแห้งเป็นธรรมชาติ เขี้ยวเสือต้องมีวรรณะเหลืองใส มองแล้วเป็นธรรมชาติ ของปลอมมักจะเอาเขี้ยวหมี เขี้ยวหมูป่า มาเคี่ยวด้วยน้ำมันงา เขี้ยวเสือของแท้เมื่อส่องดูจะเห็นเป็นเสี้ยนเล็กๆเป็นแนวตามยาวของเขี้ยว จากโคนไปที่ปลายเขี้ยว (หากเป็นเขี้ยวหมีเสี้ยนจะเป็นแนวขวางกับตัวเขี้ยว) และคราบฝุ่นที่จับแน่นในร่องจาร และอาจมีรอยแตกอันเป็นธรรมชาติของเขี้ยว เมื่อผ่านการใช้งานสีของเขี้ยวจะยิ่งเข้มขึ้น ด้านพุทธคุณครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นทางเมตตา แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และสุดยอดแห่งมหาอำนาจ

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

เมื่อปี พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ผู้เชี่ยวชาญระบบชลประทานจากประเทศฮอลแลนด์ เข้ามาวางระบบในประเทศไทย แต่ด้วยความที่ขาดงบประมาณจึงได้แค่สร้างประตูระบายน้ำคลองบางเหี้ย มีเรื่องเล่าว่า ระหว่างที่สร้างนั้นกระแสน้ำแรงมากคลื่นลมแรงมาก หลวงพ่อปานท่านเสกเขี้ยวเสือขว้างลงไป ปรากฏว่า กระแสน้ำลดกำลังลงจนสามารถกั้นสร้างประตูระบายน้ำได้สำเร็จเป็นที่น่าอัศจรรย์

ต่อมาในปี พ.ศ.2452 ประตูน้ำที่กั้นคลองบางเหี้ยได้เกิดรั่วไม่สามารถซ่อมได้ ข้าราชการในท้องถิ่นได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ท่านได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ประตูน้ำคลองบางเหี้ยเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างนั้นได้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ โดยขณะที่หลวงพ่อปานเดินทางเข้าเฝ้าฯ นั้นได้ให้เด็กชายป๊อด ถือพานใส่เขี้ยวเสือที่แกะเป็นรูปเสือไปด้วย

เมื่อไปถึงที่ประทับ หลวงพ่อปานได้ขอพานใส่เขี้ยวเสือจากเด็กชายป๊อด แต่พบว่าไม่มีเขี้ยวเสืออยู่ในพานแล้วโดยเด็กชายป๊อดบอกว่า เสือกระโดดลงน้ำระหว่างทางจนหมดแล้ว หลังจากนั้นหลวงพ่อปานจึงได้ให้นำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหมู แล้วเสียบไม้แกว่งล่อเสือขึ้นมาจากน้ำต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ท่าน ซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ตลอด จนถึงกับตรัสกับหลวงพ่อปานว่า พอแล้วหลวงตา

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ถวายเขี้ยวเสือแกะนั้นแก่พระองค์ท่าน พระองค์ทรงพิจารณาชั่วครู่ จึงตรัสถามชื่อพระ ผู้ปลุกเสกเขี้ยวเสือ หลวงพ่อปานทูลว่า ท่านชื่อ ปาน เป็นเจ้าอาวาสวัดบางเหี้ย และรับสั่งกับพระครูปานว่า ได้ยินชื่อเสียงและกิตติคุณมานาน เพิ่งเห็นตัววันนี้

แล้วรับสั่งถามว่า "ที่แจกเครื่องรางเป็นรูปเสือมีความหมายว่าอย่างไร หลวงพ่อปานทูลตอบว่า "ได้ไปรุกขมูลธุดงค์ในป่า พบเสือใหญ่หลายครั้ง ได้สังเกตดูเห็นว่า เสือเป็นสัตว์ปราดเปรียวฉลาด ว่องไว เฉียบขาด มีตบะและอำนาจ สามารถที่จะใช้ตาสะกดสัตว์อื่นให้อยู่ในอำนาจได้ คนทั่วไปเรียกผู้ร้ายใจฉกรรจ์ว่า "ไอ้เสือ" ก็คือเอาความเก่งกาจของเสือมานั้นเอง

การที่ทำเครื่องรางรูปเสือ มิใช่สนับสนุนให้คนกลายเป็น "ไอ้เสือ" เพียงแต่ต้องการเอาลักษณะของเสือจริงในป่าที่ปราดเปรียว ว่องไว เฉลียวฉลาด เฉียบขาดมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น พระองค์ทรงพอพระทัยในคำตอบของพระครูปานยิ่งนัก ทรงพระราชทานผ้าไตรและผ้ากราบ ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ"

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ

เรื่องราวดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เสด็จประพาสมณฑลปราจิณ" ที่ทรงกล่าวถึงเสือเขี้ยวแกะของหลวงพ่อปานไว้ว่า "พระครูปานมาหาด้วย พระครูปานรูปนี้เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใสคือให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้นคือ รูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสกต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไร เสือนั้นกระโดดลงไปยังเนื้อหมูได้

ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้าที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวน ไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆขาย มีแกะรูปเสือ เป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยเป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย มีคนอื่นมาช่วยพูด"

หลวงพ่อปาน ท่านก็เป็นชาวคลองด่านโดยกำเนิด เกิดในปี พ.ศ.2368 ปีระกา สิ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2453

เสือ หลวงพ่อปาน วัดมงคลโคธาวาส (บางเหี้ย) สมุทรปราการ