posttoday

สิ่งมหัศจรรย์ที่วัดราชาธิวาสวิหาร

07 พฤศจิกายน 2553

ในวัดราชาธิวาสวิหาร ถนนสามเสน มีสิ่งอัศจรรย์มากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่พระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระประธาน ศาลาการเปรียญพระเจดีย์และกุฏิที่พักสงฆ์....

ในวัดราชาธิวาสวิหาร ถนนสามเสน มีสิ่งอัศจรรย์มากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่พระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระประธาน ศาลาการเปรียญพระเจดีย์และกุฏิที่พักสงฆ์....

โดย...สมาน สุดโต 

ในวัดราชาธิวาสวิหาร ถนนสามเสน มีสิ่งอัศจรรย์มากมายหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่พระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระประธาน ศาลาการเปรียญพระเจดีย์และกุฏิที่พักสงฆ์

สิ่งมหัศจรรย์ที่วัดราชาธิวาสวิหาร พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสวิหาร

พระอุโบสถวัดต่างๆ ในพระนครและต่างจังหวัดที่พวกเราคุ้นเคยนั้นจะประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา กระเบื้องเคลือบเป็นส่วนมาก เว้นแต่พระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระอุโบสถ-วิหารจะออกจีน เช่น พระอุโบสถวัดราชโอรสาราม วัดเทพธิดาราม และวัดมหรรณพาราม เป็นต้น

แต่พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร ถนนสามเสน ซึ่งเป็นวัดต้นกำเนิดพระคณะธรรมยุต แปลกจากพระอุโบสถในยุคเดียวกัน คือเป็นลักษณะนครวัดในประเทศกัมพูชา ทั้งหน้าบัน หลังคา เสารับโครงสร้างและประตูหน้าต่างล้วนแต่ออกไปทางขอมหรือเขมร แม้กระทั่งสะพานบันไดนาคข้ามคูหน้าพระอุโบสถก็เป็นลักษณะเดียวกับสะพานที่หน้าปราสาทนครวัดของเขมร
เมื่อเข้าไปในพระอุโบสถซึ่งไม่กว้างใหญ่นัก แต่ได้แบ่งออกเป็นห้องถึง 3 ห้อง แต่ละห้องมีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน การแบ่งออกเป็นห้องเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ผู้ที่ทรงออกแบบพระอุโบสถหลังนี้ และเป็นหลังเดียวในประเทศไทยคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เอกอุศิลปินของชาติไทย

หนังสือประวัติวัดราชาธิวาสวิหาร พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฉลองอายุครบ 80 ปี พระสุธรรมาธิบดี (อาภาคเถระ) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2539 บรรยายว่า
พระอุโบสถ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 ตั้งอยู่ทิศใต้ของถนนที่ผ่ากลางวัด เป็นทรงขอมคล้ายนครวัด แต่เป็นลวดลายปูนปั้นผินหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นทางสัญจรสำคัญครั้งโบราณเป็นหน้าวัด

ด้านหน้าพระอุโบสถมีประตู 3 ช่อง ด้านในแบ่งเป็น 3 ตอน คือด้านหน้าเป็นระเบียง ตรงกลางเป็นห้องประกอบพิธี ที่มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร 9 ชั้น (รัชกาลที่ 5 หล่อพระราชทาน) หลังพระประธานเป็นซุ้มคูหา เบื้องบนมีภาพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเมฆ กำลังตอบปัญหาของพระสารีบุตรและพระอินทร์เฝ้า ที่ใกล้พระประธานมีรูปศากยกษัตริย์พระประยูรญาติมาเฝ้าอยู่เบื้องหลัง

ซุ้มคูหาพระประธานเป็นตราพระราชลัญจกร ประจำ 5 รัชกาล คือ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5

บนเพดานเป็นลวดลายมีดาวเป็นที่เสียบหลอดไฟฟ้า

ตอนหลังสุดมีผนังห้องและประตูผ้าม่านกั้น ผ่านถึงตอนที่ 3 ห้องนี้เป็นที่ประดิษฐ์พระประธานองค์เดิมของวัดนามว่า “พระสัมพุทธวัฒโนภาส” ความสำคัญของพระประธานองค์นี้ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกั้นห้องพระอุโบสถออกเป็น 3 ตอน

สิ่งมหัศจรรย์ที่วัดราชาธิวาสวิหาร ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระเวสสันดร โดย ศาสตราจารย์ คาร์โล ริโกลี

ด้วยทรงพระราชปรารภว่า จะทรงประดิษฐานพระสัมพุทธพรรณีที่ได้ทรงจำลององค์ใหม่ขึ้น เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังนี้ แต่ก็มีปัญหาว่า พระประธานองค์เดิม “พระสัมพุทธวัฒโนภาส” จะเชิญไปไว้ ณ ที่ใด และได้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าย้ายไปก็จะเป็นเสมือนหนึ่งไล่เจ้าของเดิม จึงได้ทรงแบ่งพระอุโบสถออกเป็นห้องๆ เพื่อจะได้ประดิษฐานพระพุทธรูปไม่ระคนกัน นับว่าเป็นพระราชดำริอันสุขุมคัมภีรภาพ

ใต้ฐานชุกชีแห่งพระสัมพุทธพรรณี รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ไว้
ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร สมเด็จพระศรีสวริน|ทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าภายใต้ฐานชุกชีพระสัมพุทธวัฒโนภาส
และเมื่อปี พ.ศ. 2528 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุเส้นพระเกศาของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ไว้ด้วยด้วย

นอกจากนั้นในพระอุโบสถนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ทั้ง 3 ด้าน รวม 13 กัณฑ์ ที่แปลกตาอย่างยิ่งคือหน้าตาตัวละครทุกตัวคล้ายฝรั่ง ต่างกับความคุ้นเคยของคนไทยที่เห็นภาพเขียนมหาเวสสันดรชาดก หน้าตาคล้ายคนไทย เช่น ภาพเขียนฝีมือปรมาจารย์ เหม เวชกร ที่พิมพ์แพร่หลาย และภาพเขียนผนังอุโบสถตามวัดต่างๆ

การที่ภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่วัดนี้ มีหน้าตาออกไปทางฝรั่ง หรือค่อนไปทางแขก เป็นเพราะจิตรกรผู้เขียนเป็นชาวอิตาลี ชื่อศาสตราจารย์คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 นั่นเอง

จิตรกรคาร์โล ริโกลี เป็นจิตรกรผู้หนึ่งที่เขียนภาพที่โดมในพระที่นั่งอนันตสมาคมร่วมกับศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี ซึ่งเป็นชาวอิตาลีเหมือนกัน

ภาพตัวละครมหาเวสสันดรชาดกในความคิดของศาสตราจารย์ริโกลี ที่เขียนออกมานั้น มีสรีระร่างกายเข้มแข็ง บึกบึน ไม่เว้นแม้แต่อัจจุตฤาษี และชูชก ภาพเหล่านี้นอกจากออกไปทางฝรั่งแล้ว ยังเป็นที่แปลกตาของชาวไทย ที่คุ้นเคยกับสรีระตัวละครที่อ้อนแอ้น โดยเฉพาะคู่พระคู่นาง ส่วนฤาษีจะมีร่างกายผอม ชูชกจะเป็นชายหง่อม ซูบซีดเพราะยากจน ร่างกายไม่น่าดูเพราะมีบุรุษโทษ 18 ประการ เช่น เท้าทั้งสองใหญ่และคด เล็บทั้งหมดคด ปลีน่องทู่ยานลงภายใต้ริมฝีปากบนยาวปิดรับริมฝีปากล่าง และน้ำลายไหลออกเป็นยางยืด เป็นต้น

สิ่งมหัศจรรย์ที่วัดราชาธิวาสวิหาร ตำหนักพญาไท

มหาเวสสันดรชาดกเป็นชาดกสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ในบรรดาทศชาติชาดก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ามหาชาติ และวัดต่างๆ จะนิยมจัดเทศน์มหาชาติ ซึ่งมี 13 กัณฑ์ในพรรษา

ความย่อๆ มหาเวสสันดร มีว่า พระโพธิสัตว์ทรงอุบัติขึ้นในเมืองสีพี เป็นโอรสพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดี มีชื่อที่ประชาชนตั้งให้ว่าเวสสันดร การที่มีชื่อว่าเวสสันดร เพราะมีประสูติการที่ตรอกพ่อค้า

พระโพธิสัตว์อุบัติเป็นพระเวสสันดร อันเป็นชาติสุดท้ายเพื่อบำเพ็ญทานบารมีอันเป็นบารมีที่ 10 ที่ยิ่งยวดที่คนธรรมดาสามัญ หรือคนไม่สะสมบารมีมาก่อนทำไม่ได้ เช่น การบริจาคช้างปัจจัยนาค ที่เป็นช้างคู่พระบารมีให้แก่พราหมณ์ 8 คน ที่มาจากเมืองกลิงคราษฎร์ เป็นเหตุให้ชาวเมืองสีพีโกรธแค้น จึงขับไล่พระเจ้ากรุงสญชัย พระราชบิดา จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกจากเมืองตามที่ชาวเมืองต้องการ แม้นางผุสดีจะคัดค้านก็ไม่เป็นผล

เมื่อออกจากเมืองเข้าป่าพร้อมพระนางมัทรี ผู้เป็นมเหสี เจ้าหญิงกัณหา-เจ้าชายชาลี พระธิดาและโอรส ไปบำเพ็ญพรตเป็นฤาษีที่เขาวงกต ก็มีโอกาสบำเพ็ญทานบารมียิ่งยวด เมื่อได้พระราชทานพระธิดากัณหาและโอรสชาลีให้เป็นทาสรับใช้ชูชก การให้ครั้งนี้ถือว่าเป็นมหาทานบารมี

หากท่านต้องการชื่นชมฝีมือจิตรกร หรือศิลปินชั้นครู ต้องไปวัดราชาธิวาสวิหาร ที่ตั้งอยู่ถนนสามเสน ใกล้กับท่าวาสุกรี ไปดูและศึกษาจนทั่วจะเข้าใจคำว่าราชาธิวาสยิ่งขึ้น เพราะบริเวณวัดมีสิ่งปลูกสร้างหลายอย่างที่เนื่องด้วยพระบรมราชวงศ์ เช่น ที่คณะใต้ มีพระตำหนักเก่าของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีอายุประมาณ 150 ปี พระตำหนักสมเด็จพระพันปีหลวง หรือพระตำหนักพญาไท ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 หากเดินไปท่าน้ำจะเห็นศาลาไม้สักทองที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ว่ากันว่าใหญ่และสวยงามที่สุดในเอเชีย เสาประธานศาลาแห่งนี้ใหญ่ขนาดคนโอบไม่รอบ แต่ละต้นมีชื่อตัวละครเอกเรื่องขุนช้างขุนแผนประจำทุกต้น บริเวณกุฏิที่พักสงฆ์ล้วนแต่ได้รับพระราชทานการก่อสร้าง รวมทั้งศาลาโบสถ์แพที่ใช้เป็นอุทกุกเขปสีมาเพื่ออุปสมบทพระคณะธรรมยุตในยุคแรก ก็ประดิษฐานอยู่ในบริเวณที่พักพระสงฆ์