posttoday

พระลีลาหนังตะลุง เนื้อผงยาจินดามณี หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม

06 เมษายน 2562

.

พระลีลาหนังตะลุง เนื้อผงยาจินดามณี หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม

อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

มาชมพระเครื่องเนื้อผงยาจินดามณี หรือผงยาวาสนา ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ที่แพงที่สุดและหาชมได้ยากสุดคือ พระผงยาจินดามณี พิมพ์ลีลาหนังตะลุง ซึ่งมีอยู่สองสี คือสีแดงเข้มอมน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้ม สร้างขึ้นจากผงยาจินดามณีผสมกับน้ำผึ้ง ในท้องถิ่นนำมาฝนกับน้ำเป็นยารักษาโรค กับพระผงยาจินดามณีคลุกรัก เป็นสีน้ำตาลเข้มปนดำ องค์ที่นำมาให้ชมคือ พระพิมพ์ลีลาหนังตะลุง เนื้อผงยาจินดามณีคลุกรัก

พระพิมพ์ลีลาหนังตะลุง องค์นี้มีขนาดความกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 5.5 เซนติเมตร พุทธลักษณะลีลาการก้าวย่างไปทางซ้ายมือ พร้อมทั้งยกมือซ้ายขึ้นแนวเดียวกับอก รูปลักษณ์คล้ายกับรูปหนังตะลุง อันเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ สำหรับพระลีลาหนังตะลุงองค์นี้ เป็นพระผงยาจินดามณีคลุกรัก ปิดทองมาเก่าแต่ดั้งเดิม เป็นพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้หรือถูกผิวแต่ประการใด องค์พระมีหน้ามีตา มีลายเส้นที่คมชัด หลังมียันต์ลายมือที่จารเปียกชัดเจน ความหดตัวของเนื้อผงยาจินดามณีที่คลุกรัก ปรากฎเป็นเอกลักษณ์ความเก่าของพระแท้

หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง เป็นจำนวนมาก พระยอดนิยมที่หลวงปู่บุญสร้างขึ้นนั้น จะเป็นพระผงยาจินดามณีในพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งมักจะสร้างคู่กันกับพระเครื่องดินเผา แนวทางการสะสม พระผงยาจินดามณี ควรเลือกสะสมแต่พิมพ์ที่เป็นมาตรฐานจะปลอดภัยกว่า ของแท้มีเอกลักษณ์ มีความเก่าเป็นธรรมชาติ ตัวยามีทั้งออกสีดำหรือ สีน้ำตาลเข้ม ถ้าไม่คลุกรักก็จะออกสีน้ำตาลเข้มปรากฏความแห้ง เก่าชัดเจน เช่น พิมพ์ลีลาหนังตะลุง องค์นี้เป็นต้น

พระเครื่องเนื้อผงยาจินดามณีของหลวงปู่บุญนั้น นับว่าเป็นสุดยอดของวัดกลางบางแก้ว เนื่องจากยาจินดามณี เป็นยาที่มีคุณอเนกอนันต์และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เสาะหาของนักสะสมพระเครื่อง ตำรับยานี้เป็นของตกทอดมากับวัดกลางบางแก้ว มีการบันทึกไว้โดยพระอาจารย์ทอง เจ้าอาวาสรูปก่อนหน้าหลวงปู่บุญ ว่ากันว่า ตำรับยานี้เป็นของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แห่งกรุงศรีอยุธยา

ตำรับยานี้บันทึกในสมุดข่อย ลงทองล่องชาด เป็นสมบัติล้ำค่าของวัดกลางบางแก้ว กล่าวถึงกรรมวิธีการสร้างที่ละเอียดและยุ่งยากมาก เฉพาะแค่หาตัวว่านยามาให้ครบตามตำรา ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ว่านยาแต่ละชนิดต้องนำมาเสกด้วยคาถากำกับ เมื่อเสกตัวยาแต่ละส่วนแล้ว ก็เอามาผสมคลุกเคล้ากันโดยมีเสกคาถากำกับตลอดเวลา ตัวหินบดยาก็ต้องลงอักขระ ทั้งตัวลูกหินและแม่หินและมีคาถากำกับขณะบดยาด้วย

มีบันทึกส่วนที่เป็นเครื่องยานั้นตามตำรับได้บรรยายเป็นโครงกลอนถึงตัวยาว่า "จินดามณีโอสถอันพิลาสประกอบดอกคราด ดอกจันทร์ เกสรบุษบัน เปราะหอมกำยาน โกฐสอ โกฐเขมา ทองน้ำประสาน เปลือกกุ่มชลธาร กรุงเขมาเท่ากัน ผสมแล้วตำบดพิมเสม ชะมด น้ำผึ้งรวงรัน กฤษณา น้ำมะนาว น้ำมะเขือขื่นคั้น ผสมยาเข้าด้วยกัน บดปั้นตากกิน เป็นยาวาสนา เลิศล้ำตำราในโลกแผ่นดิน อุปเท่ห์กล่าวไว้ ผู้ใดได้กินจะสวัสดิ์โสภิณกว่าคนทั้งหลาย พัสดุเงินทอง จักพูนกูลนอง กว่าโลกหญิงชายนำมาบูชา อหิวาต์ก็มิวาย ระงับอันตราย ทั้งสี่กิริยาโทษหนักเท่าหนัก มาตร์แม้นประจักษ์ ถึงกาลมรณา ถ้าแม้นใครกิน ซึ่งยาวาสนากลับน้อยถอยคลา เคลื่อนคลายหายเอย “

มีบันทึกมาตั้งแต่ในอดีตว่า ยาจินดามณีหรือยาวาสนา เป็นยาที่ทรงคุณวิเศษเพื่อช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้รวมถึงโรคที่เกิดจาก “เคราะห์กรรม” ผู้ใดได้กินยานี้จะบันดาลให้เคลื่อนคลายและทุเลาเบาบางลงได้ และมีลาภผลบังเกิดแก่ตน ป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ดี แม้แต่ผู้ป่วยด้วยโรคร้ายที่อาจจะถึงตายก็บรรเทาเบาบางลงได้ ถ้าเกิดคดีความให้เอาเม็ดยาแช่น้ำและทำน้ำมนต์ความจะสูญ

ผู้ใดที่ใกล้ถึงแก่ชีวิตอาจช่วยให้ฟื้นคืนสติได้ชั่วคราวโดย ฤทธิ์ยาจินดามณีจะช่วยประชุมธาตุให้อินทรีย์และจิตวิญญาณอยู่ครบ เพื่อให้มีสติมีกำลังในการสั่งเสียลูกหลานเป็นครั้งสุดท้าย และยังสามารถพกพาติดตัวเพราะยาจินดามณีขึ้นชื่อว่ามีเป็นเมตตามหานิยม หากนำติดตัวเข้าป่า จะป้องกันคุณไสย สัตว์ร้าย และภูตผีทั้งหลายได้

การสร้างยาจินดามณี มีการบันทึกว่า หลวงปู่บุญ ได้สร้างยาจินดามณีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นคือ ใน พ.ศ.2435 และ พ.ศ. 2476 เพราะความยุ่งยากในการสร้างตามตำราโบราณ เมื่อได้ตัวยาตามต้องการแล้ว จึงจัดการทำพิธี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 12 ซึ่งหากปีใดได้ราชาฤกษ์ หรือเพชรฤกษ์ จัดว่าดีเยี่ยม ต้องจัดเครื่องสังเวยเทวดา บัตรพลีต่างๆ รวมทั้งราชวัตรฉัตรธง ภายในพระอุโบสถมีสายสิญจน์รอบพระอุโบสถ แต่ละทิศให้ลงยันต์ประจำทิศด้วยผ้าแดงเอาไว้ ด้านหน้าพระอุโบสถให้ลงยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์จินดามณีประกอบไว้เป็นพิเศษด้วย

แม้แต่ผู้ป่วยด้วยโรคร้ายที่อาจจะถึงตายก็บรรเทาเบาบางลงได้ ถ้าเกิดคดีความให้เอาเม็ดยาแช่น้ำและทำน้ำมนต์ความจะสูญ และผู้ใดที่ใกล้ถึงแก่ชีวิตอาจช่วยให้ฟื้นคืนสติได้ชั่วคราวโดย ฤทธิ์ยาจินดามณีจะช่วยประชุมธาตุให้อินทรีย์และจิตวิญญาณอยู่ครบ เพื่อให้มีสติมีกำลังในการสั่งเสียลูกหลานเป็นครั้งสุดท้าย และยังสามารถพกพาติดตัวเพราะยาจินดามณีขึ้นชื่อว่ามีเป็นเมตตามหานิยม หากนำติดตัวเข้าป่า จะป้องกันคุณไสย สัตว์ร้าย และภูตผีทั้งหลายได้

การสร้างยาจินดามณี มีการบันทึกว่า หลวงปู่บุญ ได้สร้างยาจินดามณีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นคือ ในปี พ.ศ.2435 และปีพ.ศ. 2476 เพราะความยุ่งยากในการสร้างตามตำราโบราณ เมื่อได้ตัวยาตามต้องการแล้ว จึงจัดการทำพิธี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 12 ซึ่งหากปีใดได้ราชาฤกษ์ หรือเพชรฤกษ์ จัดว่าดีเยี่ยม ต้องจัดเครื่องสังเวยเทวดา บัตรพลีต่างๆ รวมทั้งราชวัตรฉัตรธง ภายในพระอุโบสถมีสายสิญจน์รอบพระอุโบสถ แต่ละทิศให้ลงยันต์ประจำทิศด้วยผ้าแดงเอาไว้ ด้านหน้าพระอุโบสถให้ลงยันต์ตรีนิสิงเห และยันต์จินดามณีประกอบไว้เป็นพิเศษด้วย

เมื่อได้ฤกษ์ให้ชุมนุมเทวดาแล้วให้พระภิกษุและฆราวาสที่ร่วมพิธีพร้อมกัน โดยเฉพาะฆราวาสที่เป็นหญิงให้ใช้สาวพรหมจารีซึ่งรักษาศีลอุโบสถมาแล้ว 3 วัน ส่วนฆราวาสชายต้องรักษาศีลอุโบสถเช่นกัน นอกจากนี้การปั้นเม็ดยานั้น ขณะปั้นเม็ดยาผู้ร่วมพิธีต้องภาวนาคาถาปั้นเม็ดยาตลอดเวลา หลังจากที่ปั้นเม็ดยาวาสนาจินดามณีเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ก็จะนำไปปลุกเสกอีกอย่างน้อย 7 เสาร์ 7 อังคาร

การสร้างยาจินดามณี ส่วนใหญ่จะปั้นเป็นลูกกลมๆและเป็นแท่ง ลูกศิษย์ที่เข้าพิธีสร้างยา ได้นำมากดพิมพ์เป็นพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ แล้วถวายให้หลวงปู่บุญปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง พระเครื่องที่สร้างด้วยผงยาจินดามณี มีหลายพิมพ์อาทิเช่น พิมพ์ลีลาซุ้มขีดหรือลีลาหนังตะลุง,พิมพ์ลีลากลับด้าน, พิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ,พิมพ์พระประธาน,พิมพ์ซุ้มระฆัง,พิมพ์ซุ้มเรือนแก้ว,พิมพ์สมาธิเพชรซุ้มโค้ง,พิมพ์ซุ้มรัศมี,พิมพ์ซุ้มชินราช,พิมพ์สมเด็จฐานหกชั้น(ไพ่ตอง),พิมพ์ปรกโพธิ์ใหญ่,พิมพ์ปรกโพธิ์เล็ก,พิมพ์ห้าเหลี่ยมฐานหกชั้นพิมพ์สมาธิเกศแหลม เป็นต้น

หลวงปู่บุญ ขันธโชติ วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เกิดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2391 ตรงกับปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มรณภาพเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2478 สิริรวมอายุ 87 ปี