posttoday

วิหารหลวง วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางจักรวาล ที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

17 มีนาคม 2562

เรื่อง: สมาน สุดโต

เรื่อง: สมาน สุดโต


อนุสนธิจากการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พ.ค. 2562 นั้น พิธีกรรมที่สำคัญ คือพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกำหนดให้ประกอบพิธีพลีกรรมเกี่ยวกับตักน้ำอภิเษก วันที่ 6 เม.ย. พร้อมกันทุกจังหวัด และวันที่ 9 เม.ย. จัดพิธีเสกน้ำที่วัดในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจะนำน้ำจากทุกแห่งไปเข้าสู่พิธีอภิเษกรวมกัน ในวันที่ 18 เม.ย. ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวันที่ 19 เม.ย. จะอัญเชิญน้ำอภิเษกแล้วนั้นไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระวิหารหลวงที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

สถานที่ที่ประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์รวมกันทั่วประเทศ ได้แก่ พระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ศูนย์กลางพระนคร หรือ Cosmic center from Ideal to Realism.

หนังสือสองศตวรรษวัดสุทัศนเทพวราราม อธิบายความหมายนั้นในเรื่องแผนผังวัด ที่เป็นแบบแผนการใช้วิหารหลวงเป็นประธานในฐานะศูนย์กลางจักรวาล ดังนี้

วิหารหลวง วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางจักรวาล ที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ถือเป็นวิหารที่มีขนาดใหญ่อย่างมาก มีความกว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร ดังที่กล่าวไว้ในประวัติการสร้างวัด ว่าเริ่มวางรากฐานในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่สร้างไว้เฉพาะส่วนฐานอาคาร สร้างต่อในสมัยรัชกาลต่อมา และมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงกล่าวได้ว่า พระวิหารหลวงแห่งนี้เป็นฝีมือช่างระหว่างรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงงานช่างใน 2 รัชกาลนั้น คือ ลักษณะอาคารแบบประเพณีนิยม ได้แก่ การทำหลังคาตามแบบที่เคยมีมาแต่เดิม คือ หลังคาซ้อนชั้น เครื่องลำยองประกอบด้วย ป้านลมเป็นนาคลำยอง หรือนาคสะดุ้ง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ลักษณะของเสายังมีการย่อมุมไม้สิบสอง มีคันทวยรองรับชายคา หัวเสาประดับบัวแวงแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่นเดียวกับพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้เห็นความแตกต่างจากอาคารแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เป็นงานสร้างใหม่ ที่นิยมอาคารแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และนิยมทำเสาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม ไม่ย่อมุมและไม่ประดับบัวหัวเสา

 

งานศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงความหมายของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การออกแบบอาคารที่ต้องการแสดงให้สถานที่นี้เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประกอบด้วย พระระเบียงคดแทนสัญลักษณ์ของกำแพงจักรวาลที่ล้อมรอบเขาพระสุเมร

พระวิหารหลวงเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางจักรวาล

ศาลาประจำมุมทั้งสี่ของพระวิหารหลวงเปรียบเสมือนทวีปทั้ง 4

วิหารหลวง วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางจักรวาล ที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

ขณะเดียวกันภายในพระวิหาร มีจิตรกรรมเรื่องราวในไตรภูมิ โดยเฉพาะที่เสาทั้ง 8 ต้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า ชั้นต่างๆ ของสวรรค์ แสดงสูงสุดอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ภายในอาคารคือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่โปรดพระพุทธมารดา นอกจากนั้นยังแสดงเรื่องราวที่คอสอง ด้านทิศตะวันออกเป็นภาพพระพุทธเจ้าเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ด้านทิศตะวันตกเป็นภาพเจดีย์จุฬามณีและต้นปาริชาติ

นอกจากนั้น แนวความคิดในการออกแบบหน้าบันพระวิหาร ที่เป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ จึงสัมพันธ์กับชื่อวัดคือ สุทัศนเทพวราราม ซึ่งคือชื่อเมืองสุทัสสนนคร อันเป็นพระนครหลวงของพระอินทร์ที่ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง

ลักษณะนี้ได้ปรากฏที่พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ที่มีการประดับเรือนธาตุด้วยพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ อันเป็นคติที่สอดคล้องกัน คือ ต้องการแสดงให้เห็นว่า กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองของเทวดา และเทวดาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือพระอินทร์

ส่วนพระอุโบสถที่วางตัวตามแนวตะวันออก-ตกนั้น งานประดับหน้าบันด้านทิศตะวันออกเป็นพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมด้วยราชสีห์ ส่วนด้านทิศตะวันตกเป็นพระจันทร์ทรงราชรถเทียมด้วยม้า อันถือเป็นทางโคจรของพระอาทิตย์และพระจันทร์ เปรียบเสมือนเรื่องราวที่กล่าวไว้ในไตรภูมิ ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าพระอุโบสถเปรียบเสมือนชมพูทวีป

วิหารหลวง วัดสุทัศน์ ศูนย์กลางจักรวาล ที่เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์

พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวงนั้น ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ศิลปะสมัยสุโขทัยอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย เป็นพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุด หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปสำริดที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย เป็นศิลปะในสมัยสุโขทัย มีอายุอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20

การที่นำพระศรีศากยมุนีมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงนั้น ตามประวัติระบุว่า รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างวัดขึ้น โดยเริ่มก่อฐานรากของพระวิหารก่อน และได้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จ.สุโขทัย โดยล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาขึ้นที่ท่าช้าง แต่พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถผ่านเข้าประตูบริเวณท่าช้างได้ จึงให้รื้อประตู ภายหลังจึงเรียกกันว่า ท่าพระ มาจนทุกวันนี้

หลังจากพระพุทธรูปมาถึงพระนครแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีงานฉลองพระพุทธรูป และได้อัญเชิญโดยการชักลากทางสถลมารคมายังวิหารที่ทรงวางฐานรากไว้

ครั้งนี้มีเหตุการณ์สำคัญ กล่าวคือรัชกาลที่ 1 ทรงประชวร แต่ถึงกระนั้นก็ได้เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ โดยไม่ทรงฉลองพระบาท จนถึงยกพระพุทธรูปขึ้นตั้งบนฐานที่เตรียมไว้ จึงเสด็จกลับ

พระพุทธรูปองค์นี้เรียกกันว่า “พระโต” จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานนามว่า “พระศรีศากยมุนี” ซึ่งเป็นที่กราบไหว้บูชาของชาวพุทธตลอดมา