posttoday

บวชพระบวชเณรไม่ง่ายแล้วต่อไปนี้

03 มีนาคม 2562

เรื่อง: สมาน สุดโต

เรื่อง: สมาน สุดโต

(เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับแก๊งอันธพาลที่ติดตามไปงานบวชเพื่อนที่วัดสิงห์ ตั้งอยู่เลขที่ 35 หมู่ 3 ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ได้บุกทำร้ายครูและนักเรียนที่กำลังสอบที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ ด้วยแค้นใจที่ไม่ได้เต้นตามแตรวงที่จ้างมาแห่นาค เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2562 กลายเป็นประเด็นให้สาปแช่งทางสื่อออนไลน์ว่า ป่าเถื่อนนัก แต่เรื่องวันนี้เกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรหนีคดีมาบวช)

ใครหนีคดี หวังพึ่งศาสนาหลบภัย ต่อไปนี้หมดโอกาสแล้ว เพราะมหาเถรสมาคม (มส.) มอบภารกิจให้เจ้าอาวาส และอุปัชฌาย์ต้องให้ตำรวจตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรผู้จะขอบวชก่อน ถ้าไม่มีปัญหาจึงจะให้บวช นับว่าเป็นเรื่องดี น่าอนุโมทนา โดยเจ้าอาวาสและอุปัชฌาย์วัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร บอกว่า ถ้าจะให้อนุโมทนามากกว่านี้ ต้องกำหนดเกณฑ์ให้ตรวจปัสสาวะหายาเสพติดด้วย วัดจึงจะปลอดทั้งอาชญากรและคนฉี่สีม่วง

สืบเนื่องจากการประชุม มส.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 เลขาธิการ มส.เสนอว่า มติ มส.ครั้งที่ 25/2561 เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 เห็นชอบเรื่องจัดทำระบบตรวจสอบประวัติผู้ขอบรรพชา หรือบรรพชาอุปสมบทนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้หารือกับข้าราชการระดับสูงแห่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อขอความร่วมมือในการคัดกรองผู้ที่จะเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ในส่วนของการตรวจสอบประวัติอาชญากรจากการพิมพ์ลายนิ้วมือและหมายจับจากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการดำเนินการกรณีดังกล่าว

ในการนี้ ได้มีการประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2561 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง สตช.ยินดีที่จะให้ความร่วมมือโดยให้ พศ.กำหนดแนวทางที่ชัดเจน

โดย สตช.ได้เสนอต่อ มส. ดังนี้

1.คณะทำงานฯ นมัสการหารือ พระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช แล้วมีความเห็นว่า การคัดกรองผู้ที่จะเข้ารับการบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ให้ตรวจสอบหมายจับจากหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ส่วนวิธีการในการตรวจสอบนั้นคณะทำงานฯ จะกำหนดวิธีการที่เหมาะสม สะดวกรวดเร็ว และมีหนังสือ ด่วนมาก ที่ พศ.0006/11038 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2561 ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผ่านผู้บังคับการสำนักงานกฎหมายและคดี) เพื่อโปรดทราบและพิจารณาแล้ว

2.เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 ได้รับแจ้งทางแอพพลิเคชั่นไลน์ จากผู้ประสานงาน สตช.พร้อมแนบไฟล์หนังสือถึง สตช.หนังสือ ที่ ตช.0011.24/29 ลงวันที่ 3 ม.ค. 2562 ว่า สตช.ได้มีหนังสือกำหนดแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอบรรพชาอุปสมบท โดยสั่งการให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

ที่ประชุม มส.รับทราบ และให้ พศ.แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับทราบ และถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน

ต่อมา สมเกียรติ ธงศรี รองผู้อำนวยการ พศ. ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการ พศ. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ถึงแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอบรรพชาอุปสมบท ตามมติ มส. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2562 เรื่อง แนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอบรรพชาอุปสมบท

เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบประวัติบุคคลให้ พศ.หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ส่งข้อมูลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร สตช.โดยตรง ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยได้มีการแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด ทราบและถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันแล้ว จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณามอบ พศจ. สนับสนุนการดำเนินงานของคณะสงฆ์ต่อไป

สำหรับมติ มส.ครั้งที่ 1/2562 ได้เห็นชอบแนวทางการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอบรรพชาอุปสมบท ดังนี้

(หน้าที่เจ้าอาวาสหรืออุปัชฌาย์)

1.เจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ ตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นและรวบรวมเอกสารประจำตัวของผู้ขอบรรพชาอุปสมบท และมีหนังสือถึง พศ.หรือ พศจ. เพื่อส่งข้อมูลให้กองทะเบียนอาชญากร หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ตรวจประวัติบุคคลจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

(หน้าที่ พศ.หรือ พศจ.)

2. พศ.หรือ พศจ. รับข้อมูลผู้ขอบรรพชาอุปสมบทจากเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ แล้วส่งข้อมูลให้กองทะเบียนอาชญากร หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ตรวจประวัติบุคคลจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

(หน้าที่ สตช.)

3.กองทะเบียนอาชญากร หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด รับข้อมูลผู้ขอบรรพชาอุปสมบทจาก พศ.หรือ พศจ. แล้วตรวจประวัติบุคคลจากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

4.กองทะเบียนอาชญากร หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ตรวจประวัติบุคคล เสร็จเรียบร้อยแล้วแจ้งให้ พศ.หรือ พศจ.ทราบภายใน 15 วัน

(หน้าที่ พศ.หรือ พศจ.)

5.พศ.หรือ พศจ.รับข้อมูลผู้ขอบรรพชาอุปสมบทจากกองทะเบียนอาชญากร หรือสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด ที่ตรวจสอบประวัติบุคคลแล้ว แจ้งข้อมูลให้เจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌาย์ทราบภายใน 7 วัน

(ความเห็น)

บวชพระบวชเณรไม่ง่ายแล้วต่อไปนี้

เรื่องนี้ถือเป็นแนวปฏิบัติ มิใช่ข้อบังคับ แต่ต้องปฏิบัติ เพราะอุปัชฌาย์ต้องปฏิบัติตามจริยาพระอุปัชฌาย์

1.เคารพเอื้อเฟื้อ สังวร ประพฤติตามพระธรรมวินัยและกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของสัทธิวิหาริก

2.ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติ มส.ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์

3.ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง หรือคำแนะนำชี้แจงของพระสังฆาธิการ ผู้บังคับบัญชา

4.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังมิให้บรรพชาอุปสมบทกรรมวิบัติบกพร่องไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ

อุปัชฌาย์ต้องพิจารณาคุณลักษณะของผู้บวชให้ครบ ดังนี้

1.มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตตำบลหรืออำเภอที่จะบวช และมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในที่อื่น แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่คนจรจัด

2.เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ ไม่มีความเสียหาย เช่น ติดสุรา ยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น

3.มีความรู้อ่านหรือเขียนหนังสือไทยได้

4.ไม่เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ

5.เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถ หรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ

6.มีสมณบริขารครบถ้วน และถูกต้องตามพระธรรมวินัย

7.เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง

หน้าที่พระอุปัชฌาย์ เมื่อให้อุปสมบทแล้ว

1.ปกครองสัทธิวิหาริก

2.ดูแลสัทธิวิหาริก

3.สั่งสอนสัทธิวิหาริก

4.ให้การศึกษาแก่สัทธิวิหาริก

5.ออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก

6.ควบคุมการย้ายสำนักของสัทธิวิหาริก ที่มีพรรษายังไม่ครบ 5 พรรษา

อย่างไรก็ตาม เจ้าอาวาสและอุปัชฌาย์วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร บอกว่าเรื่องตรวจประวัติอาชญากรของผู้จะบรรพชาอุปสมบทนั้น ไม่มีปัญหา เมื่อทางวัดได้ประวัติผู้ประสงค์จะบรรพชา อุปสมบท ส่งให้สถานีตำรวจท้องที่ตรวจสอบ 2 วันก็ได้คำตอบว่าผู้ขอบรรพชาอุปสมบทมีชนักติดหลังหรือไม่

แต่ปัญหาจะเกิดกับวัดในต่างจังหวัด เพราะชาวบ้านทั่วไปไม่อยากให้ตรวจสอบประวัติ ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่คนบวชน้อยลง ให้น้อยลงไปอีก

ท่านเจ้าอาวาสรูปเดียวกันเสนออีกว่า ไหนๆ จะคัดกรองผู้จะบรรพชาอุปสมบทแล้ว ควรมีหลักเกณฑ์คัดกรองผู้ติดยาเสพติดด้วย เนื่องจากยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมและระบาดถึงวัด คนบางคนบริสุทธิ์จากทะเบียนอาชญากร แต่ฉี่อาจสีม่วงก็ได้