posttoday

พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก

27 มกราคม 2562

เรื่อง: ราช รามัญ

เรื่อง: ราช รามัญ


มาชมพระนางพญา ซึ่งเป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคีที่ทุกคนใฝ่หา พุทธคุณของพระนางพญา เด่นด้านเมตตา แคล้วคลาด องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์สังฆาฏิ เพื่อเป็นแนวทางศึกษาและสะสมครับ

- พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก มีทั้งหมด 7 พิมพ์ มาตรฐานที่วงการยอมรับ คือ

1.นางพญา พิมพ์เข่าโค้ง (ถือเป็นพิมพ์ใหญ่และนิยมที่สุด) 2.นางพญา พิมพ์เข่าตรง (ถือเป็นพิมพ์ใหญ่ แบ่งเป็น 2 แม่พิมพ์ คือ พิมพเข่าตรงธรรมดา และพิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า) 3.นางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ (ถือเป็นพิมพ์ใหญ่) 4.นางพญา พิมพ์สังฆาฏิ (ถือเป็นพิมพ์กลาง) 5.นางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก (ถือเป็นพิมพ์เล็ก) 6.นางพญา พิมพ์เทวดา หรือพิมพ์อกแฟบ (ถือเป็นพิมพ์เล็ก)

- พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ ในอดีตมีชื่อว่าพิมพ์สวมชฎา หรืออีกชื่อคือ พิมพ์สามเหลี่ยม จุดเด่นตามแม่พิมพ์มาจากเส้นสังฆาฏิที่หนาพาดกลางพระอุระ เส้นพระกรรณที่หนาใหญ่เชื่อมกับพระเกศและเส้นครอบพระเศียรมองเหมือนองค์พระสวมชฎา ส่วนชื่อพิมพ์สามเหลี่ยมเพราะมองลักษณะพิมพ์คล้ายสามเหลี่ยมเกือบด้านเท่านั่นเอง

- ส่วนพระพักตร์ขององค์พระจะกว้างและสอบลงมาที่คาง ส่วนมากจะไม่เห็นหน้าตา ที่หน้าผากจะยุบเป็นตำหนิแม่พิมพ์ของพิมพ์สังฆาฏิ หูขวาหรือพระกรรณขวาขององค์พระยาวลงมาเป็นเส้นจรดไหล่ จะเห็นเนื้อเกินที่ต้นแขนขวาอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญเช่นกัน และปลายหูซ้ายหรือพระกรรณซ้าย (ขวามือเรา) จะเห็นเหมือนหางแซงแซว หูซ้ายจะยาวจรดไหล่ และพาดต่อลงมาเป็นเส้นขอบจีวร

- จะเห็นหลุมบริเวณหัวไหล่ซ้ายมองเหมือนเบ้าขนมครก จะเห็นได้ชัดอันเป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์นี้ และปลายไหล่ทั้งสองข้างจะเทลาดลงไปสู่ขอบทั้งสองด้าน เส้นสังฆาฏิกว้างเป็นแผ่นหนาเห็นได้ชัด แขนขวาวางพาดบนตัก และแขนซ้ายจะงอเป็นขอเบ็ด นอกจากนี้ให้สังเกตที่ข้อมือขวาขององค์พระที่วางบนหัวเข่า จะเป็นการวางมือแบบหักข้อมือ โดยมือวางหักออกด้านนอก

- มองรอยตอกตัดด้านข้างต้องเป็นธรรมชาติ พื้นผิวจะยุบตัวเป็นธรรมชาติไม่เสมอกันทั้งหมด และเป็นรอยครูดเพราะเกิดจากการกดตอกลงมาจากด้านบนลงด้านล่างและกระทบกับเม็ดกรวด การตัดขอบมีทั้งตัดชิดขอบพิมพ์ และตัดนอกขอบพิมพ์ ซึ่งพบเห็นในวงการเช่นกัน เม็ดแร่ในองค์พระจะไม่มีแร่คม สีที่พบคือขาวขุ่น ขาวใส สีน้ำตาลและสีดำ และย้ำอีกครั้งว่าเม็ดแร่ต้องไม่คมและจะปรากฏพระที่แร่ลอยอีกส่วนด้วยอันเกิดจากการแช่น้ำในกรุมานานนั่นเอง

- ด้านพุทธศิลป์ของพระนางพญานั้น เป็นพระพุทธปางมารวิชัย ไม่มีฐาน ไม่มีซุ้ม ขอบตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมชิดกับองค์พระประธาน หลังเรียบเป็นส่วนใหญ่ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของผิวหลังที่เรียบและมีส่วนผสมของกรวดที่ฝังอยู่ในเนื้อดิน ด้วยอายุยาวของพระนานกว่า 400 ปี เกิดการหดตัวของดินตามธรรมชาติ ทำให้เห็นดินที่หุ้มอยู่บนกรวดหดตัวลงด้วย เรียกว่าเม็ดผด และสีขององค์พระมี 4 สี คือ ดำ แดง เหลือง และเขียว ซึ่งเกิดจากดินที่ถูกเผาและได้รับความร้อนต่างกันในขณะวางเผาอยู่ในเตา อันเป็นที่มาของขนาดองค์พระด้วย ถ้าโดนความร้อนมากย่อมหดตัวมากที่สุดและขนาดจะเล็กที่สุด ซึ่งก็คือสีเขียว

- พระนางพญาเป็นพระศิลปะสุโขทัย อายุการสร้างประมาณ 400 ปี สันนิษฐานว่า พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และพระราชมารดาในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างพระนางพญาขึ้น ในคราวบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090-2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง และพระวิสุทธิกษัตรีย์ ดำรงพระอิสริยยศเป็น แม่เมืองสองแคว และพระมหาธรรมราชา ทรงพระอิสริยยศที่ พระอุปราชแห่งกรุงศรีอยุธยา