posttoday

ไทยเสนอ "ยูเนสโก" ยก "หลวงปู่มั่น" เป็นบุคคลสำคัญของโลก

27 มกราคม 2562

กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาฯเสนอชื่อ "หลวงปู่มั่น" ให้ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563

กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาฯเสนอชื่อ "หลวงปู่มั่น" ให้ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563

*******************

โดย...สมาน สุดโต

จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา และกระทรวงศึกษาธิการ จับมือกันเสนอชื่อ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา ให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ : United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระที่มีชาตกาลครบ 150 ปี ใน พ.ศ. 2563 นั้น

ระหว่างชาตกาล 149 ปี ของหลวงปู่มั่น พ.ศ. 2562 กรมการศาสนาขอให้วัดที่หลวงปู่มั่นเคยเกี่ยวข้องในขณะที่มีชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้จัดกิจกรรมเพื่อการรำลึกถึงและบูชา ระหว่างวันที่ 19-21 ม.ค. 2562 ได้แก่ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร วัดเลียบ จ.อุบลราชธานี วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ วัดป่าดาราภิรมย์ จ.เชียงใหม่ วัดป่าอาจารย์มั่น จ.เชียงใหม่ วัดป่าบ้านเหล่า จ.เชียงราย วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร วัดป่าหนองผือนาใน จ.สกลนคร และวัดป่าสาละวัน จ.นครราชสีมา

ไทยเสนอ "ยูเนสโก" ยก "หลวงปู่มั่น" เป็นบุคคลสำคัญของโลก พระเทพญาณวิศิษฎ์ (ชัยทวี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม อัญเชิญอัฐิหลวงปู่มั่น

วัดปทุมวนาราม จัดฉลองยิ่งใหญ่

วัดปทุมวนาราม ที่เคยได้รับสมญานามว่าวัดกรรมฐานกลางกรุง อยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอนและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2400 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ที่หลวงปู่มั่นเคยมาพำนักอาศัย เมื่อ พ.ศ. 2471 จึงจัดกิจกรรมบูชา โดยจัดขบวนแห่อัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากพระอุโบสถไปยังศาลาพระราชศรัทธา ซึ่งอยู่ห่างไปด้านใต้ของพระอุโบสถประมาณ 150 เมตร มีพระเทพญาณวิศิษฏ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดปทุมวนาราม เป็นผู้อัญเชิญอัฐิ แวดล้อมด้วยคณะสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกา หลายร้อยคน โดยมีแถวสามเณรนักเรียนบาลียืนถือพานดอกบัวถวายบูชาหน้าศาลาพระราชศรัทธา เป็นศาลาที่สร้างในสมัยหลวงพ่อถาวร ถาวรจิตฺโต หรือพระเทพวิมลญาณ (มรณภาพเดือน ต.ค. 2558) พระเกจิดังแห่งวัดปทุมวนาราม ซึ่งพระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2536

เมื่อนำอัฐิและภาพเหมือนหลวงปู่มั่นประดิษฐาน ณ ที่ตั้งแล้ว พระเทพญาณวิศิษฏ์ จุดธูป-เทียนบูชา และนำพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา บูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ทำวัตรเย็น

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เกิดเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2413 ที่บ้านคำบาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีชื่อเดิมว่า มั่น นามสกุล แก่นแก้ว โยมพ่อชื่อด้วง
โยมแม่ชื่อจันทร์ บรรพชาเป็นสามเณร อายุ 15 ปี ที่วัดบ้านคำบง ผ่านไป 2 พรรษา ลาสิกขามาช่วยโยมบิดาและมารดาทำนา จนกระทั่งอายุ 22 ปี (พ.ศ. 2436) จึงอุปสมบทที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมีพระอริยกวี เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฝึกอบรมวิปัสสนากับพระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล และธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ

ต่อมาได้ศึกษาธรรมกับพระอุบาลีคณูปมาจารย์ (จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส และเรียนวิปัสสนากับพระปัญญาพิศาลเถร (สิงห์) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม รูปที่ 3 ต่อมาติดตามพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) มาพำนักที่วัดปทุมวนาราม ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (พ.ศ. 2471)

นอกจากนี้ เคยออกธุดงค์กับอาจารย์หนู จิตปญฺโญ หรือพระปัญญาพิสารเถระ เจ้าอาวาสรูปที่ 5 วัดปทุมวนาราม

ไทยเสนอ "ยูเนสโก" ยก "หลวงปู่มั่น" เป็นบุคคลสำคัญของโลก

กุฏิที่วัดปทุมวนาราม

การธุดงค์ของหลวงปูมั่น นอกจากเผยแพร่พระธรรมคำสอนแล้ว ยังมีโอกาสพบปะกับเพื่อนสหธรรมิกทั่วไป เมื่อเดินทางมากรุงเทพฯ ก็พำนักวัดปทุมวนาราม ที่วัดนี้จึงมีกุฏิของท่านเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นปัจจุบันทางวัดได้ปฏิสังขรณ์และมีโครงการเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงประวัติหลวงปู่มั่น รวมทั้งประวัติพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาอื่นๆ เพื่อให้ภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ได้ระลึกถึงคำสอนและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่มั่น

ไทยเสนอ "ยูเนสโก" ยก "หลวงปู่มั่น" เป็นบุคคลสำคัญของโลก อัฐิหลวงปู่มั่น ตั้งหน้าหุ่นขี้ผึ้ง

วัดสายหลวงปู่มั่น

เกียรติคุณหลวงปู่มั่น อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา เดินธุดงค์เกือบตลอดชีวิต จนเป็นที่ประจักษ์ มีผู้ปฏิบัติตามจำนวนมาก จนเกิดพระป่าสายธรรมยุตกระจายทั่วไปในภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ และประเทศต่างๆ พอสรุปตัวเลขในต่างประเทศได้ 180 แห่ง แบ่งเป็นทวีปเอเชีย 45 แห่ง ประเทศแคนาดา 6 แห่ง ทวีปยุโรป 66 แห่ง สหรัฐอเมริกา 63 แห่ง

นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ พูดในวันแถลงข่าวที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ว่ามีแนวคิดบรรจุหลักธรรมคำสอนหลวงปู่มั่นในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา เพื่อบ่มเพาะคนไทยให้เป็นพลเมืองที่ดีต่อไป

ส่วน รศ.ม.ร.ว.วุฒิเลิศ เทวกุล ซึ่งร่วมแถลงข่าวด้วย กล่าวถึงวัตรปฏิบัติหลวงปู่มั่นมากมาย แต่ที่ตนประทับใจคือการถือธุดงควัตรเกือบตลอดชีวิต

ถ้าหากยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกตามที่เสนอ หลวงปู่มั่นจะถือว่าเป็นพระรูปที่ 3 ของไทย รูปที่ 1 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชไทยพระองค์ที่ 7 อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รูป 2 พระธรรมโกศาจารย์ หรือพระพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี

หลวงปู่มั่น มรณภาพ ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เวลา 02.23 น. วันที่ 11 พ.ย. 2492 สิริอายุ 79 ปี