posttoday

ในภาพมีกวี...ในกวีมีภาพ

01 พฤศจิกายน 2553

“ในภาพมีกวี ในกวีมีภาพ” หวางเหว่ย พหูสูตแห่งยุคราชวงศ์ถัง มิได้กล่าวคำนั้น แต่เป็นเจ้าของโวหารอันล้ำลึกนั้น!

“ในภาพมีกวี ในกวีมีภาพ” หวางเหว่ย พหูสูตแห่งยุคราชวงศ์ถัง มิได้กล่าวคำนั้น แต่เป็นเจ้าของโวหารอันล้ำลึกนั้น!

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

“พลอยฝนยามเช้ากลบฝุ่นคลุ้งเว่ยเฉิง

หลิวเขียวสะพรั่งอีกคราหน้าโรงเตี๊ยม

มา...ยกจอกดื่มอีกครา

สหายเก่าไม่ผ่านมาประตูหยางเหมิน”

เพลงเว่ยเฉิง ผลงานของ “หวางเหว่ย”

“ในภาพมีกวี ในกวีมีภาพ” หวางเหว่ย พหูสูตแห่งยุคราชวงศ์ถัง มิได้กล่าวคำนั้น แต่เป็นเจ้าของโวหารอันล้ำลึกนั้น!

เขาคือผู้กว้างขวางในวงการขุนนางในยุคอันเรืองรองแห่งรัชสมัย ฮ่องเต้ถังเสวียนจง ในอีกฉากด้านของชีวิต ถือสันโดษในท่ามความวิเวก ละทิ้งยศถาไม่ไยดี

ในภาพมีกวี...ในกวีมีภาพ

มีทักษะทางดนตรีสูงส่ง ผลงานการประพันธ์ “เพลงเว่ยเฉิง” และเพลง “หยางกวน ซานเตี้ย” ประสานท่วงทำนองพิณกู่ฉิน บัดนี้ชาวเรายังได้สดับบรรเลงเพลงเหล่านี้

เป็นผู้บุกเบิกงานจิตรกรรมแนวทางใหม่ เชี่ยวชาญในภาพสกุล “สายน้ำและขุนเขา” ลายเส้นหมึกหนักแน่น แจ่มชัด ทั้งวิจิตรบรรจง ประกอบด้วยบทกวี สอดประสานบทวิจารณ์งดงามด้วยลวดลายอักษรศิลป์ เขาคือต้นแบบจิตรกรรมจีนจนถึงบัดนี้

ทั้งยังเป็นกวีผู้ล้ำลึกในพุทธธรรม สมกับฉายา “กวีพุทธ” ยืนอยู่บนแถวเดียวกับ หลี่ไป๋ เซียนกวีผู้ดำรงตนเยี่ยงนักพรตพเนจรในฉายา “กวีเต๋า” รวมถึง ตู้ฟู่ ผู้ได้รับฉายาว่า “กวีขงจื๊อ”

ทักษะที่ยอดเยี่ยมหล่อหลอมขึ้นมาจากการผสานปรัชญาสามสำนักจนเป็นหนึ่ง หวางเหว่ยเป็นทั้งแบบอย่างของบัณฑิตผู้คร่ำเคร่งตามขนบขงจื๊อยามรับใช้ราชสำนักในฐานะข้าหลวง เป็นแบบอย่างของผู้ปลีกวิเวกเสาะหาหนทางบรรลุครรลองแห่งมรรคตามปราชญ์เล่าจื๊อ และแสวงหาความจริงในความสงบรำงับตามวิถีพุทธะ

หวางเหว่ยมิได้แยกแยะความสามารถของตนเป็นทักษะเอกเทศ หากแต่กลั่นกรองความยอดเยี่ยมในด้านต่างๆ เป็นหนึ่งเดียว  

ซูซือ บัณฑิตกวีสมัยราชวงศ์ซ่งชมเชยหวางเหว่ย ในวลีอมตะ “ในกวีมีภาพ ในภาพมีกวี” ปัญญาชนรุ่นหลังแต่งเติมคำชื่นชมได้ไม่เกินเลยว่า “ในภาพกวีมีดนตรี!”

หวางเหว่ย ถือกำเนิดที่เมืองผูโจว (ปัจจุบันคือเมืองเฟินหยาง มณฑลชานซี) ในศักราช 699 ในตระกูลที่ผลิตขุนนางรับใช้ราชสำนักถังมากมายถึง 13 คน

ในปีที่หวางเหว่ยลืมตาดูโลกนั้น ยังอยู่ในรัชสมัยของพระนางบูเช็กเทียน แต่ครานั้น บารมีของฮ่องเต้หญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน เริ่มอับแสงลงแล้ว พร้อมด้วยวัยอันราโรย แม้นสิ้นยุคแห่งพระนางบูเช็กเทียน ในราชสำนักต้องเผชิญกับการก่อรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า

กระทั่งคลื่นลมร้ายเริ่มราลงเมื่อปี 712 หวางเหว่ยเข้าวัยหนุ่มเหน้า พร้อมกับการเริ่มศักราชไคหยวน แห่งฮ่องเต้ถังเสวียนจง ผู้คลี่ม่านผืนทองสุดท้ายแห่งยุคสมัย และเป็นผู้ที่หวางเหว่ย จะถวายตัวเป็นข้าบาทในเวลาอีกไม่นาน

ศิลปินพู่กันทองผู้นี้มีพื้นเพมีอันจะกินที่สุดคนหนึ่ง ไม่เพียงถือกำเนิดในตระกูลขุนนาง แต่ยังมีอัจฉริยภาพสูงส่งในวัย 15 ก็มีชื่อเกริกก้องในวงการกวีและคีตศิลป์เสียแล้ว ต่อมาสอบได้ปริญญาขั้นจิ้นสือ เข้ารับราชการเป็นขุนนางในราชสำนักถังด้วยอายุเพียงยี่สิบปี ไต่เต้าในหน้าที่การงานไม่ขาดระยะ ก้าวสู่ฐานะเสนาบดีในวัย 57 หากไม่เกิด “กบฏอันลู่ซาน” เสียก่อนตำแหน่งหน้าที่ของหวางเหว่ย อาจสูงส่งกว่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย

ระหว่างเกิดเหตุจลาจล ข้าราชสำนักที่ไม่เข้ากับกบฏถูกกำราบไม่เว้นหน้า หลังปราบกบฏราบคาบ ราชสำนักหันมาชำระความกับขุนนางแปรพักตร์ และอีกลายชีวิตต้องจบสิ้นอีกคำรบ นี่คือกฎสามัญที่ยังคงใช้ได้ในวันนี้

หากท่านมิหวังผูกมิตร เช่นนั้นท่านคือศัตรู และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนี้!

เมื่อครั้งกลุ่มกบฏยึดครองฉางอัน หวางเหว่ยแสร้งทำเป็นใบ้บื้อ หลบหลีกคำเชื้อเชิญแกมบังคับของผู้นำกบฏให้ร่วมการแข็งขืนต่อราชวงศ์ถัง แต่ท้ายที่สุดไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อฟื้นฟูราชสำนักหลังกำราบพวกกบฏได้บางส่วน ยอดศิลปินกวีเผชิญหายนะทางการเมืองไม่ต่างจากขุนนางทั่วแผ่นดิน หากไม่นานหลังถูกปลดจากตำแหน่ง ราชสำนักถังเรียกตัวหวางเหว่ย สู่ตำแหน่งขุนนางอีกครั้ง

อนิจจังของการเมือง การแก่งแย่งชิงดีไม่มีจบสิ้น อำนาจที่ขึ้นและลง เต็มเปี่ยมและเหือดแห้งรวดเร็วกว่าสายน้ำ ชวนให้เบื่อหน่ายต่อลาภยศสรรเสริญ หลายคนมัวเมาในกลเกมทางโลกจนสิ้นชื่ออย่างน่าอเนจอนาถ ขณะที่บางคนทอดถอนหายใจด้วยความเวทนา หันหลังเพื่อมุ่งเสาะหา “ตถตา” แห่งชีวิต

ประการเช่นนี้แม้จะไต่เต้าถึงจุดสูงสุดในราชสำนัก แต่หวางเหว่ย กลับโน้มเอียงไปในทางแสวงหาหนทางปลีกวิเวก หลังจากสูญเสียภรรยาในวัยสามสิบ ไม่เคยแต่งงานอีก กลับทุ่มเทเวลาถึงสิบปีศึกษาพระธรรมนิกายเซ็น ถึงกับอุทิศผืนดินในคฤหาสน์สร้างวัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ภายหลังเกษียณละทิ้งสมบัติพัสถานหลบไปปลีกวิเวกยังหวังฉวน และเขาจงหนานซาน แต่งกลอน เขียนภาพ บรรเลงเพลงพิณกู่ฉินเยี่ยงปราชญ์โบราณหลบลี้สังคมวุ่นวาย

ในความสันโดษท่ามกลางแมกไม้สายธาร ยิ่งชวนให้ใจกำซาบถึงความเป็นเช่นนั้นของธรรมชาติ ใช้สายตามองไปที่ความจริงข้างหน้า มิได้ย้อนสายตากลับไปจับจ้องการยึดติดอดีต จึงเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งปวง จากโมหะแห่งลาภยศ จากโศกนาฏกรรมแห่งอารมณ์ จากทำนองอักษร จากกรอบกักขังทำนองแห่งลายเส้นอันตายตัว

จดหมายถึง เพ่ยตี้ อันบรรยายสมถะแห่งชีวิต แต่ร่ำรวยด้วยสหายใบหญ้า ปลาผุดในลำธาร แว่วเสียงกีบเท้าเก้งกวางกระโจนข้ามผาสูง หวางเหว่ยพบความดื่มด่ำในสภาวะสงบรำงับอันงดงาม

“เดือนนี้ฟ้ากระจ่างเจิดจ้า หวังใจว่าจะข้ามเขาไปเยี่ยมเยือนท่าน แต่กริ่งเกรงว่าจะเป็นการรบกวน ทราบว่าท่านกำลังดื่มด่ำกับคัมภีร์โบราณ ข้าจึงพเนจรไปทั่วทิวเขา พำนักที่วัดกานเพ่ย ร่วมสำรับกับหลวงจีน จากนั้นหวนกลับบ้านอีกครา จากนั้นข้ามุ่งสู่เหนือไปยังหยวนปาใต้แสงจันทร์

สกาวยามราตรีปีนป่ายขึ้นเนินหัวจู ทัศนาระลอกคลื่นลำน้ำหยาง ไหวกระเพื่อมสะท้อนแสงเดือนระยิบระยับ ไกลออกไปสกาวราตรีทอทาบทิวเขายะเยือกแล้วพลันเลือนหายไปจากครรลอง บนเส้นทางพานพบสุนัขเห่ากระโชกในท่ามกลางทางเปลี่ยว นึกประหวั่นใจราวพบพยัคฆ์ ยินเสียงเมล็ดพันธุ์ป่าร่วงหล่นกลางดึกดื่นประสานเสียงระฆังกังวานไกล ข้านั่งเดียวดายสดับความเงียบ พานนึกถึงวันวาน ครั้งเราร่วมร่ายกวี ปีนป่ายทางชันริมธาร เฝ้ารอให้ไม้หญ้าเขียวสะพรั่งอีกครา จักพากันทอดน่องไปตามเนินไศลผลิใบชอุ่ม เฝ้ามองปลาผุดใต้แสงระยิบระยับ นกกระเต็นบินถลา หยาดละอองพรมเหนือสักหลาดผืนหญ้า ในยามอุษาสางยินเสียงเพรียกวิหคทั่วท้องทุ่ง คงอีกไม่นานจะถึงครานั้น หวังท่านจะร่วมเดินทางไปพร้อมกัน หากข้ามิได้ทราบถึงปรารถนาอันแท้จริงของท่าน จักมิกล้ากล่าวกระทั่งเชื้อเชิญโดยอ้อม ข้ากล่าวด้วยใจจริง มิได้บังคับเข็นใจแต่ประการใด”

จาก หวางเหว่ย ปุถุชนแห่งขุนเขา

หวางเหว่ย ตีค่าชีวิตในจวนขุนนางกับกระท่อมวิเวก อย่างใดมากกว่ากัน จดหมายฉบับนี้ กวีนิพนธ์เยินยอภาพทัศนาและภาพเขียนทิวเขาโพ้น ยอมเป็นคำตอบที่ชัดเจนเหนืออื่นใด

ว่ากันว่า หวางเหว่ยบรรลุขีดจำกัดของจิตรกรรมเมื่อลิ้มรสกำซาบแห่งกวีนิพนธ์ ผลงานจิตรกรรมและงานกวีไม่เพียงสลัดแนวทางของคนรุ่นก่อน แต่ยังเปิดโฉมหน้าใหม่แห่งวิจิตรศิลป์ หวางเหว่ย สลัดทิ้งความยึดติดใน “รูป” เยี่ยงช่างรุ่นก่อน แล้วถ่ายทอดอารมณ์ ท่วงทำนอง และวิญญาณให้กับ “รูป” กลมกลืนราวกับระบายบทกวีลงบนผืนผ้าไหม

หวางเหว่ยจึงได้รับการคารวะจากอนุชนให้เป็นประหนึ่งปรมาจารย์ผู้ก่อกำเนิดภาพทิวทัศน์แห่งจิตรกรรมจีน

ในบรรดาภาพทิวทัศน์ ที่มีชื่อเสียงขจรขจายที่สุดคือ “ภาพหวังฉวน” นามหวังฉวน อาจกล่าวได้ว่า เป็นเสมือนคำเคียงคู่กับนามหวางเหว่ย สถานที่แห่งนี้เป็นอาณาบริเวณริมธารหวังฉวนนอกมหานครฉางอัน เมืองหลวงอันจอแจแห่งอาณาจักรถัง เป็นแดนสงบรำงับที่กวีศิลปินผู้นี้ปลูกกระท่อมพำนัก พักหย่อนใจ แลสะบัดปลายพู่กันรำพันกวีในภาพ และปล่อยให้ภาพร่ายกวี

อีกภาพคัดลอกที่ตกทอดมาถึงสายตาคนรุ่นหลังคือทิวทัศน์เทือกเขายามเหมันต์

ภูมิทัศน์ของภาพทิ้งระยะว่างให้สัมผัสถึงพรมหิมะขาวโพลนปกคลุมทิวเขาสุดลูกหูลูกตา ตัดเส้นร่องเขาในส่วนซอกลึกให้รู้สึกได้ถึงมิติตื้นลึก และแซมด้วยไม้ยืนตระหง่านทิ้งใบเหลือเพียงกิ่งก้าน แม้จะชวนให้รู้สึกถึงความเหน็บหนาว แน่นิ่งเจียนตาย แต่ลายพู่กันกลับเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง แช่แข็งเยี่ยงคืนวันหลังพายุหิมะ ในท่ามกลางไม้ผลัดใบยังเหลือสนเขียวสดยืนเด่นดังประกาศความมั่นคงแห่งชีวิตในท่ามกลางความหม่นหมองของฤดู

และในท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่ากลับปรากฏบุคคลหนึ่งดำเนินย่ำไปบนพรมเกล็ดฟ้าขาวละมุน จิตรกรจงใจซ่อนเขาในมุมที่มองด้วยสายตาฉาบฉวยไม่เห็น

ภาพยังซุกซ่อนปรัชญาแห่งเซ็นที่พัฒนาในยุคอันรุ่งเรืองแห่งสมัยถังต่อถึงราชวงศ์ซ่ง การย่อส่วนภาพบุคคลในส่วนประกอบกระจ้อยร่อย ประกาศถึงความไม่จีรังของอัตตามนุษย์ เมื่อเทียบกับโอฬารแห่งธรรมชาติ และสากลจักรวาล

หลักการนี้ปรากฏในภาพเขียนเมื่อใดย่อมไม่อาจคาดเดา แต่ควรยกให้เป็นประดิษฐกรรมของหวางเหว่ย ภาพนี้ดังคล้ายจะสะท้อนคติธรรมในปุจฉา วิสัชนาธรรม ระหว่างผู้เป็นใหญ่ในทางโลกกับผู้ยืนยงในทางธรรม

คราหนึ่ง ฮ่องเต้ถังซูจง มีดำรัสปุจฉาข้อธรรมนับคำไม่ถ้วน แต่ท่าน หนานหยาง ฮุ่ยจง สังฆปริณายกท่านที่ 7 แห่งสำนักฌานกลับเมินชาพระองค์ ฮ่องเต้จึงทรงลุแก่โทสะ ตวาดถามพระอาจารย์ว่า หลวงจีนเฒ่า เหตุใดจึงกล้าเมินเฉยกระทั่งมหาจักรพรรดิถัง? 

“พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเวิ้งฟ้าเบื้องบนหรือไม่?”
องค์ฮ่องเต้วิสัชนาอย่างไม่พึงพระทัย “เห็นแล้ว ทำไมหรือพระคุณเจ้า!”
ในพลันอาจารย์เซ็นปุจฉาด้วยธรรมโฆษะ
สั่นสะเทือนจิตอันปรุงแต่งของมหาบพิตร 
“แล้วมหาจักรวาลเมินชาพระองค์หรือไม่?!!!!”

เพราะมนุษย์นั้นเพียงองคาพยพกระจิริดของอสงไขย เพราะในความตายของฤดู จักซ่อนความเกิดไว้ เพราะพลวัตมหาศาล ไม่สำแดงพลังโอ้อวด ซ่อนเคลื่อนไหวในความแน่นิ่ง

นี่นิจลักษณ์และอนิจลักษณ์แห่งสากลจักรวาล เป็นบทกวีแห่งชีวิตที่ร่ายรำพันอยู่ชั่วกาล เป็นภาพแท้จริงของชีวิตอันตระการ รอผู้มีปัญญาจะยลและยิน

กับมนุษย์ผู้โอหัง ชื่อเสียงเพียงผ่านมาแล้วผ่านไป ฤดูนี้ท่านก้าวถึงอัครมหาเสนาบดี หากในชั่วลัดนิ้วมือ เมื่อปรอยหิมะราเกล็ด ท่านอาจพบตัวเองนอนหิวโหยเดียวดาย เฝ้าทวงถามอดีตอย่างทุกข์ทรมาน

แม้แต่อธิราชเหนืออธิราชอย่าง ถังเสวียนจง หรือ ถังซูจง ล้วนพบจุดจบอย่างน่าเศร้าสลดในทำนองนี้

หากชีวิตของหวางเหว่ย ยังเขียวสดเยี่ยงสนโบราณในใจกลางพายุร้ายแห่งสงคราม ต้านทานความร้อนรุ่มแห่งโลกียะ ยิ้มสรวลต่อความเดียวดายหนาวเหน็บ เก็บงำประกาย ค้อมกายคารวะต้นหญ้า หมายค้นหาเพียงจุดหมายของลมหายใจ นั่นคือความสำราญของ|ผู้บรรลุอย่างแท้จริง

ถึงปี 759 หวางเหว่ยละทิ้งโลกแห่งเนื้อหนัง แต่เขามิได้จากไปเยี่ยงเซียนผู้บรรลุ แต่จากไปสมฐานะปุถุชนแห่งขุนเขา ปรารถนา|สุดท้ายเพียงฝังร่าง ณ อุทยานมฤคา

ลงจากหลังม้า ข้ายื่นจอกสุรา
ไถ่ถามท่านว่า มุ่งสู่แห่งหนใด
ท่านตอบ “ข้ามิพึงใจ”
หมายพำนักยังเชิงเขาหนานซาน
โปรดอย่ารั้ง อย่าไถ่ถาม
เมฆขาวพลิ้วผ่านยอดผามิราเลือน
 
จากลา, หวางเหว่ย

สิ้นชีพแล้วอุทิศร่างเป็นเชื้อพันธุ์ชีวิตอีกนับล้าน ผลงานทิ้งไว้ให้อนุชนเสพศึกษา

ชื่อเสียงทิ้งไปไม่ไยดี!