posttoday

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย

01 พฤศจิกายน 2553

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไร....

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไร....

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 23 ต.ค. 2553 เป็นวันครบรอบ 100 ปี การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 องค์พระปิยมหาราชของชาวไทย ในการนี้บรรดาองค์กรหลายแห่งและปวงชนชาวไทยจัดงานเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน เพราะสยามประเทศมีวันนี้ได้ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย หอสวดมนต์ที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรก

เรื่องที่พระองค์ทรงริเริ่ม ยังคงโลดแล่นในวิถีชีวิตชาวไทยจนถึงทุกวันนี้คือการวางรากฐานการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไป โดยจัดตั้งโรงเรียนสำหรับประชาชนที่วัดมหรรณพาราม เมื่อปี พ.ศ. 2427 หรือ 126 ปี ที่ผ่านไป

ก่อนที่จะมีโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพ์จนเป็นหน้าหนึ่งของประวัติการศึกษาไทยนั้น ลูกหลานคนไทยที่เป็นชาวบ้านศึกษาหาความรู้ในวัด มีพระเป็นครูสอนหนังสือ ส่วนลูกท่านหลานเธอมักมีที่เรียนพิเศษอยู่ในพระราชฐาน เมื่อจัดโรงเรียนวัดนอกวังจึงเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีโอกาสศึกษาเท่าเทียมกับลูกท่านหลานเธอ

การจะให้นำระบบโรงเรียนหรือการศึกษาลงสู่รากหญ้าได้สำเร็จ ต้องอาศัยคนที่มีความสามารถและไว้ใจได้ ก็ในสมัยนั้นผู้โดดเด่น และมีความคิดที่พระองค์จะใช้สอยได้ดีคือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งยังเป็นพระองค์เจ้าดิสวกุมารอยู่

ในปี พ.ศ. 2427 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงเริ่มดำเนินการตามพระราชประสงค์ โดยร่วมมือกับพระสงฆ์ ตั้งโรงเรียนหลวงหรือโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ที่วัดมหรรณพาราม เพื่อให้อาณาประชาราษฎรจะได้มีโอกาสได้เรียนหนังสือโดยทั่วหน้ากัน
วัดมหรรณพาราม ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือ ติดกับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน

อุปสรรค

เอกสารที่เล่าประวัติโรงเรียนแห่งแรกของ ประเทศไทย ว่าพอเริ่มมีโรงเรียน ประชาชนคนไทยพากันพูดไปในทางลบว่า การที่หลวงตั้งโรง เรียนขึ้น เพราะมีความประสงค์จะเก็บเอาเด็กไปเป็นทหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการประกาศชี้แจงให้ทราบความจริงทั่วกันว่า

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย จอมพลสฤษดิ์ นรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ศิษย์เก่าโรงเรียนวัดมหรรณพ์

“ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราช ดำริเห็นว่า การวิชาหนังสือเป็นต้นทางของวิชาความรู้ ทั้งปวง สมควรที่จะทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป เพราะคนในพื้นบ้านเมืองสยามเรานี้ ที่จะโตใหญ่ไม่รู้ หนังสือไทยก็มีมาก ที่พอรู้อ่านได้เขียนได้ แต่ไม่ถูกถ้วนนั้นก็มีโดยมาก เพราะโรงเรียนที่สอนวิชาตามแบบ หลวงยังมีน้อย ไม่พอกับผู้ที่เล่าเรียน มีพระราช ประสงค์จะให้พระบรมวงศานุวงศ์แลบุตรหลานข้าราชการ และราษฎรทั้งปวงได้เล่าเรียนศึกษาหนังสือไทยให้รู้โดยละเอียดตามแบบที่ถูกต้อง จึงทรงเสียสละพระราชทรัพย์ออกตั้งโรงเรียนแลจ้างครู
สอนบำรุงการเล่าเรียน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก”

ในพระบรมราชโองการได้ชี้แจงต่อไปว่า-ยังได้ ทรงพระราชดำริจะให้ตั้งโรงเรียนในพระอาราม หลวงทุกแห่ง สำหรับบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ได้เล่าเรียนโดยสะดวก ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร ด้วยมีพระประสงค์ให้วิชาหนังสือไทยรุ่งเรือง แพร่หลายเป็นประโยชน์ต่อราชการ เพื่อความเจริญของบ้านเมืองตามที่ราษฎรตื่นเต้นเล่าลือกันว่า ให้ตั้งโรงเรียน ขึ้นเพื่อเก็บนักเรียนเป็นทหารนั้นไม่มีมูลความจริง  เพราะบุคคลที่จะเกณฑ์เป็นทหารเป็นคนละประเภท เด็กทั้งปวงนั้นก็ล้วนเป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสิ้น จะเอามาเป็นทหารโดยตรงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมให้ลำบาก และสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์ผู้ที่เล่าลือเช่นนั้น เหมือนเป็นคนไม่มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณที่ทรงพระมหากรุณาแก่ประชาราษฎร ตอนท้ายพระบรมราชโองการกล่าวว่า

“ถ้อยคำของคนเช่นนั้น ใครไม่ควรจะเชื่อเอาเป็นประมาณ ถ้าใครมีบุตรหลานอยากให้ได้เล่าเรียนให้มีวิชาความรู้สำหรับตัว ก็ส่งเข้าเล่าเรียนในโรงเรียนสอนที่ใกล้เคียงเขตบ้านนั้นเถิด อย่าคิดหวาดหวั่นครั่นคร้ามด้วยข้อที่บุตรหลานจะต้องติดเป็นทหารนั้นเลยประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 6 แรม 3 ค่ำ ปี ระกา สัปตศก พ.ศ. 2428 เป็นปีที่ 18 หรือวันที่ 6016 ในรัชกาลปัจจุบันนี้”

พระบรมราชโองการฉบับนี้ นับเป็นเอกสาร สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งการศึกษาของไทย ว่าการศึกษาได้เริ่มต้น และเผยแพร่ในระหว่างประชาชนได้อย่างไรเมื่อประชาชนหายเข้าใจผิดแล้ว ก็พากันส่งบุตรหลานของตนมาเข้าโรงเรียนด้วยความเต็มใจ ทั้งนี้นับเป็นบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การศึกษาภาคบังคับในโอกาสต่อมา

หลักสูตรครั้งแรก

หนังสือที่ระลึกสมโภชสัญญาบัตรและพัดยศ  พระราชสุตกวี เจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม พ.ศ. 2550 เล่าเรื่องโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพารามว่า เริ่มต้นอาศัยหอสวดมนต์หรือหอฉัน ในบริเวณคณะ 1 เป็นสถานที่สอนหนังสือ มีครูนุ่มเป็นครูใหญ่ และมีครูพยอม ครูเล็กตามลำดับ เริ่มเรียนประมาณ 09.00 น. หยุดพักเวลาเพล และเลิกราว 15.00 น.

นักเรียนส่วนใหญ่เป็นศิษย์วัด เวลาเรียนจึงต้อง กำหนดนอกเวลาปฏิบัติกิจวัตรของพระหลักสูตรการสอน มีการอ่าน การเขียน การคัด ลายมือ การสะกดตัว การคัดสำเนาหนังสือ การเขียนจดหมาย เครื่องหมายวรรคตอนและไวยากรณ์ไทย หนังสือที่ใช้ในสมัยนั้น มีอยู่ด้วยกัน 6 เล่มนี้ การเรียนขณะนั้น จัดเป็น 3 ชั้นคือ

โรงเรียนวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย อาคารปั้นหยาจำลองอาคารเรียนสมัยหนึ่ง

ขั้นต้นเรียนมูลบทบรรพกิจกับวาหนิติกร ครูเล็กเป็นผู้สอน

ชั้นกลางเรียนอักษรประโยค กับสังโยคพิธาน ครูพยอมเป็นผู้สอน

ชั้นปลายเรียนไวยพจน์พิจารณ์ กับพิศาลการันต์ ครูนุ่มเป็นผู้สอน

เมื่อได้ผ่านทั้ง 3 ชั้นนี้แล้ว ถือว่าจบการเรียน หนังสือไทยในสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกชื่อครูผู้สอนแทนชั้นเรียน เช่น ชั้นปลายก็เรียกว่าชั้นครูนุ่ม เป็นต้น

การเรียนครั้งนั้นไม่มีการสอบไล่ ใช้พิจารณา เลื่อนชั้นด้วยการสอบซ้อมเป็นรายตัว โต๊ะเรียนยังไม่รู้จัก จึงนั่งเรียนกับพื้น มีม้าไม้ สำหรับรองหนังสือเรียน กระดานไม้สักทาด้วยเขม่าผสมกับน้ำข้าวข้นๆ เรียกกันว่ากระดานชนวน เป็นอุปกรณ์การเรียนพร้อมดินสอสีขาวและเหลืองที่ขุด
มาก้อนแล้วตัดซอยให้เล็กลง

การแต่งกายของเด็กนักเรียนสมัยแรกใช้นุ่งผ้า โจงกระเบนเป็นพื้น ส่วนเสื้อจะใส่แบบใดก็ได้ไม่ บังคับ (เครื่องแบบที่เห็นต่อมามีใช้ในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6)เมื่อสถานที่เรียนชั่วคราว ที่หอสวดมนต์ มีเด็กนักเรียนมากขึ้น ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายสถานที่เรียนมาเรียนที่โรงเรียนสร้างใหม่ ณ บริเวณหอระฆังหน้าวัด ในตอนนี้ได้มีชาวอินเดียชื่อบาบูรามสมี มาขอเปิดทำการสอนภาษาอังกฤษในตอนเย็นด้วย จึงนับว่ามีการสอนวิชาพิเศษมากันตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

ครั้งสุดท้าย ได้ย้ายตัวโรงเรียนมาตั้ง ณ ที่โรงเรียนเทศบาลตั้งอยู่ในปัจจุบันนี้ ใน พ.ศ. 2450 รัฐได้เปลี่ยนแปลงการศึกษา โดยกำหนดหลักสูตรขึ้นใหม่ มีชั้นมูล 3 ปี ประถม 3 ปี มัธยมประเภทต่างๆ 5 ปี โรงเรียนวัดมหรรณพ์ในชั้นหลังจึงมีถึงชั้นมัธยม 1

ครั้น พ.ศ. 2479 กระทรวงให้ยุบเลิกโรงเรียนรัฐบาลที่วัดมหรรณพ์นี้เสีย แล้วมอบให้จังหวัดจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นโรงเรียนประชาบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2480 ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนฐานะจากโรงเรียนประชาบาลมาเป็นโรงเรียนเทศบาลจนบัดนี้

ผมได้เดินชมวัดมหรรณพาราม ซึ่งเป็นที่ ประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงทองคำ ขนาดใหญ่ใน วิหาร ที่คู่กับพระอุโบสถ ศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเช้าวันที่ 28 ต.ค. 2553 เพื่อตามดูที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรก ที่คณะ 1 เห็นหอสวดมนต์ ที่ตั้งโรงเรียนสำหรับลูกชาวบ้านแห่งแรกของเมืองไทยได้รับการบูรณะอย่างดี

เมื่อตามมาดูที่หน้าโรงเรียนมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานอยู่ ใต้ฐานจารึกประวัติการก่อตั้งโรงเรียนวัดวัดมหรรณพ์ โรงเรียนแห่งแรกของไทย เข้าไปในบริเวณโรงเรียนเทศบาลพบเห็นอาคารสร้างใหม่ทรงปั้นหยา ว่าจำลองแบบอาคารเรียนโรงเรียนวัดมหรรณพ์ในยุคแรกเช่นกัน ที่อาคารแห่งนี้มีนิทรรศการแสดงความเป็นมาของโรงเรียนที่เริ่มก่อตั้งปี พ.ศ. 2427 รูปจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้ และภาพแสดงเครื่องแต่งกายนักเรียนในสมัยโบราณอยู่ด้วยไปชมที่ตั้งโรงเรียนแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม จะได้ไหว้หลวงพ่อพระร่วงทองคำที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ท่านจะอิ่มใจ ได้ทั้งบุญและความรู้