posttoday

73 พระนวกโพธิ 12 วันในแดนพุทธภูมิ

23 ธันวาคม 2561

เป็นครั้งที่ 2 ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปอินเดีย-เนปาล แดนดินถิ่นพุทธภูมิ

เรื่อง...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ พัทธดนฐ์ กัญญาบุตร

เป็นครั้งที่ 2 ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปอินเดีย-เนปาล แดนดินถิ่นพุทธภูมิ กับคณะโครงการอุปสมบทพระภิกษุ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ระหว่างวันที่ 1-12 ธ.ค. 2561

โครงการนี้มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม นำโดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการมูลนิธิฯ จัดเป็นปีที่ 2 มีผู้สมัครบวชจากหลายอาชีพ อาทิ อัยการ ตำรวจ ทหาร แพทย์ ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเอกชน ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น จำนวน 73 คน นำโดยอาจารย์บวรศักดิ์ พร้อมผู้ถือศีล 8 นุ่งขาวห่มขาวประมาณ 40 คน ทั้งชายและหญิง ทีมจัดงาน ทีมเด็กวัด ทีมแพทย์ ทีมสื่อมวลชน และผู้แสวงบุญ รวมประมาณ 150 ชีวิต

73 พระนวกโพธิ 12 วันในแดนพุทธภูมิ

รับพระเมตตาจากประมุขสงฆ์

ทั้ง 73 คนได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ให้เข้ารับประทานผ้าไตรจีวร ณ พระวิหารวัดราชบพิธฯ ในวันที่ 30 พ.ย. จากนั้นเช้าวันที่ 1 ธ.ค. ก็บินสู่สาธารณรัฐอินเดีย โดยสายการบินไทยสมายล์เพื่อประกอบพิธีบรรพชาและอุปสมบทใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา และในอุโบสถวัดไทยพุทธคยา ตามลำดับ โดยมีพระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เป็นพระอุปัชฌาย์

ฉายา...โพธิ ความปีติของทุกคน

ผู้อุปสมบทได้นามฉายาต่อท้ายด้วยคำว่า “โพธิ” ซึ่งเป็นรูปแบบการให้ฉายาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระธรรมโพธิวงศ์ ที่ไม่ว่าใครมาบวชที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยมีท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ จะต้องได้รับนามฉายาที่ลงท้ายด้วย “โพธิ” เสมอ เพื่อเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าผู้บวชได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ หนึ่งในสังเวชนียสถานทั้งสี่จริง ซึ่งนับเป็นความปีติของทุกคน และหลังจากบวชเป็นพระใหม่ก็ไม่ได้เรียกพระนวกะเฉยๆ แต่เรียกพระนวกโพธิ (นะวะกะโพธิ) อีกด้วย

73 พระนวกโพธิ 12 วันในแดนพุทธภูมิ

โพธิ มีความหมายหลายอย่าง เช่น หมายถึงต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ก็ได้ ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ก็ได้ ซึ่งมิใช่ปัญญาธรรมดา แต่เป็นปัญญาที่ทำให้หมดสิ้นกิเลสทั้งปวง ดังนั้นเมื่อ “โพธิ” อยู่ในฉายา ก็ขอให้รู้ว่าทุกคนได้ชื่อที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เช่น ญาณปวรโพธิ ฉายาของพระบวรศักดิ์ (อุวรรณโณ)เป็นต้น ขณะที่ผู้รักษาศีล 8 (บวชชีพราหมณ์) ก็ได้รับชื่อใหม่เป็นภาษาบาลีลงท้ายด้วย “โพธิ” มีวุฒิบัตรรับรองเช่นเดียวกัน

5 วันที่พุทธคยา กิจกรรมแน่น

ความที่โครงการมีกำหนด 12 วัน และผู้บวชมีเวลาปฏิบัติธรรมในสมณเพศแค่ 10 วัน เพราะต้องลาสิกขาวันที่ 10 ธ.ค. ที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล กิจกรรมจึงค่อนข้างแน่น เฉพาะการอุปสมบทต้องทำ 2 วัน ที่อุโบสถวัดไทยพุทธคยา (วันที่ 1-2 ธ.ค.) ช่วงประกอบพิธีอุปสมบท มีญาติผู้บวชบางส่วนที่ร่วมเดินทางมากับคณะ ผู้บวชชีพราหมณ์ ผู้แสวงบุญ คณะทำงาน นำโดย ดร.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์, บุษบา สังขวิภา, พรรณี จารุสมบัติ, ณัฐรินทร์ บุณยรัตน์วานิช, สมฤดี วัฒนาวงศ์, สุเทพ ไทยสวัสดิ์, ภาวินี ซำศิริพงษ์, วราภรณ์ สุริยา ทีมเด็กวัดแพทย์ และช่างภาพของโครงการ ก็ทำหน้าที่ด้วยอุตสาหะตลอดพิธีบวช พอบวชจบแต่ละชุดก็ลั่นฆ้องและระฆังเป็นชัยมงคลให้เหล่าเทวดาสัมมาทิฐิได้ร่วมอนุโมทนาบุญไปด้วยกัน

กิจวัตรของพระนวกโพธิทั้ง 73 รูป ช่วงอยู่วัดไทยพุทธคยา 5 วัน หลักๆ คือ ทำวัตรสวดมนต์ เช้าและเย็นทุกวัน (มีการปรับเปลี่ยนบ้าง) ตื่นตี 5 ทำวัตรเช้า 6 โมง 1 ทุ่ม ทำวัตรเย็น มีบิณฑบาตในวัด บางวันตอนเช้า บางทีตอนเพล มีฉันในบาตร บางวันนั่งล้อมวงฉัน ก่อนฉันกล่าวคำพิจารณาบิณฑบาตก่อนเสมอ นอกจากนี้ทุกรูปยังได้เรียนรู้การพินทุผ้า การอธิษฐานบริขาร การห่มผ้าจากพระครูอุดมโพธิวิเทศ (พระครูณรงค์)

73 พระนวกโพธิ 12 วันในแดนพุทธภูมิ

ช่วงบ่ายวันที่ 3 พระนวกโพธิและคณะเดินทางไปดงคสิริที่ที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา 6 ปี ในถ้ำที่ดงคสิริมีพระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยาประดิษฐานอยู่ พระภาวนาวิริยคุณ (เจ้าคุณไสว) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ นำสวดบทอิติปิโสต่อด้วยพาหุงมหากา และนำปฏิบัติกรรมฐานถวายพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช เสร็จแล้วเดินทางไปบ้านนางสุชาดาผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระมหาบุรุษที่เสวยแล้วได้บำเพ็ญเพียรทางใจจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันเพ็ญเดือน 6

วันที่ 4 ธ.ค. พระครูปริยัติโพธิวิเทศ
(คมสรณ์) หัวหน้าพระธรรมวิทยากร นำพระนวกโพธิและคณะไปราชคฤห์ จุดหมายคือวัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย ขึ้นเขาคิชฌกูฏ 1 ใน 5 ภูเขาที่ล้อมรอบเมืองราชคฤห์ จุดที่ไปคือมูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วไปกราบพระพุทธรูปองค์ดำและเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนาลันทา

วันที่ 5 ธ.ค. ภาคเช้า คณะได้เข้าร่วมพิธีสวดสาธยายพระไตรปิฎกในงานสวดสาธยายพระไตรปิฎกที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 14 ที่พุทธคยา ซึ่งปีนี้วัดไทยในอินเดียเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากของคณะ พระญาณปวรโพธิ (ดร.บวรศักดิ์) พูดถึงการสาธยายพระไตรปิฎกว่า ในแง่ที่เป็น Symbolism ถือว่าได้มาก คือได้ระลึกถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้าว่ายังคงมีอยู่จริง เป็นอกาลิโก ตราบใดที่พระธรรมมีอยู่และมีผู้ปฏิบัติพระอรหันต์คนมีศีลมีธรรมก็จะไม่สิ้นไปจากโลก ส่วนเนื้อหาที่สวดด้วยภาษาบาลี ภาษาพม่า หรือภาษาอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่คงฟังไม่รู้เรื่อง แต่พูดได้เลยว่าเป็นพิธีที่ดี

73 พระนวกโพธิ 12 วันในแดนพุทธภูมิ

ภาคบ่าย มีการประกอบพิธีทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เนื่องในวันพระบรมราชสมภพ 5 ธ.ค. โดยนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป มีพระธรรมโพธิวงศ์ เป็นต้น เป็นประธานสวดพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วพระธรรมโพธิวงศ์ได้มอบฉายาบัตรให้แก่พระนวกโพธิและชีพรหมโพธิ (ชีพราหมณ์) จากนั้นคณะนำโดยพระญาณปวรโพธิได้มีน้ำใจมอบเงินให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนปัญจศีล ซึ่งป็นโรงเรียนแนวพุทธประมาณ 100 คน ที่เดินทางมาวัดโดยการนำของครูพระชาวอินเดีย สร้างความดีใจให้กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก

ไปสารนาถ กุสินารา และลุมพินีวัน

วันที่ 6 คณะออกเดินทางไปจากวัดไทยพุทธคยามุ่งสู่สารนาถ ป่าอิสิปนตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี สถานที่แสดงปฐมเทศนา ถึงสารนาถประมาณ 16.00 น. สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เจริญจิตตภาวนา ทำประทักษิณธัมเมกขสถูป 3 รอบ เสร็จแล้วเดินทางไปลอยเส้นผม (ที่เก็บไว้ตอนปลงผม) ที่แม่น้ำคงคา และเข้าพักที่โรงแรม เช้าวันที่ 7 เดินทางไปกุสินารา ถึงวัดไทยกุสินาราฯ เกือบ 1 ทุ่ม พร้อมกันที่อุโบสถทำวัตรสวดมนต์เย็น

เช้าวันที่ 8 หลังทำวัตรฉันเช้าเสร็จได้ออกบิณฑบาตที่หมู่บ้านอนรุทธวา ซึ่งปีนี้มีชาวบ้านใส่บาตรประมาณ 30-40 ครอบครัว มากกว่าปีที่แล้ว ช่วงบ่ายเดินทางไปห่มผ้าพระพุทธปรินิพพาน สวดมหาปรินิพพานสูตร ที่สาลวโนทยาน จากนั้นไปสวดมนต์ทำประทักษิณรอบมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ

วันที่ 9 ออกเดินทางไปลุมพินีวัน ประเทศเนปาล พักฉันเพลที่วัดไทย 960 ข้ามด่านโสเนาลีไปฝั่งเนปาล แวะไปสวดมนต์ที่รามคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยังมีพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นเข้าพักวัดไทยลุมพินี ทำวัตรเย็นและถวายผ้าป่า ส่วนวันที่ 10 ตอนเช้าได้ไปทำพิธีลาสิกขาที่ลุมพินีวัน ใกล้กับวิหารมายาเทวี เสร็จแล้วเดินทางกลับเข้าอินเดีย ไปวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ส่วนวันที่ 11 ได้ไปเยี่ยมชมบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี บ้านบิดาของพระองคุลิมาล สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ วัดบุพพารามที่นางวิสาขาสร้างถวาย และวัดเชตวันมหาวิหารที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า วันที่ 12 เดินทางสู่เมืองลัคเนา บินกลับประเทศไทย