posttoday

การประชุมพุทธมรรค สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

02 ธันวาคม 2561

การประชุมนานาชาติ “พุทธมรรคสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

โดย วรธาร ทัดแก้ว  

การประชุมนานาชาติ “พุทธมรรคสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (The Buddhist Path to Sustainable Development Goals) จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4-5 ธ.ค.นี้แล้ว ถือเป็นการประชุมสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมโลกในทุกด้าน และครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการของสหประชาชาติ เช่น การขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมทางเพศ การสร้างสังคมสันติสุข การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก ร่วมกับโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ The Caux Round Table ศูนย์บริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของสถาบันศศินทร์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกและเทิดพระเกียรติใน 2 วโรกาส คือ วันพ่อแห่งชาติ รำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

การประชุมพุทธมรรค สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 คือผู้สร้างและพัฒนาศาสตร์แห่งเศรษฐกิจพอเพียงที่ทั่วโลกยอมรับ อย่าง อิรีนา โบโควา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ยูเนสโก ได้เคยกล่าวเทิดพระเกียรติพระองค์ไว้ในการประชุมพุทธศาสนานานาชาติ ที่ยูเนสโก กรุงปารีส เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2560 ว่า “พระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน มิใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วสากลโลก พระองค์ทรงได้สร้างประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 แต่พระวิสัยทัศน์ของพระองค์ซึ่งดิฉันเรียกว่าเป็นปัญญามากกว่าจะสร้างประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย พระองค์ได้พระราชทานพระวิสัยทัศน์แห่งการพัฒนามนุษย์อย่างบูรณาการ เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสมีอำนาจที่จะบรรลุความเท่าเทียมกันทางสังคม ด้วยการท้าทายรูปแบบของการพัฒนาทั่วๆ ไป แนวพระราชดำรินี้สอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ได้ตั้งเป้าบรรลุในปี 2573 ซึ่งประกาศไปเมื่อปี 2559 นับเป็นการตั้งพระราชปณิธานและเป็นต้นแบบพิมพ์เขียวที่ชัดเจนในการพัฒนาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกป้องโลกของเรา”

การประชุมนานาชาติพุทธมรรคสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้ ได้กำหนดรูปแบบการประชุมเพื่อจัดทำหนังสืออ้างอิงทางวิชาการทางด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยวันแรกของการประชุมและการประชุมในช่วงเช้าของวันที่ 2 เป็นการนำเสนอแนวคิดทางวิชาการ โดยได้เปิดให้บุคคลที่มีความรู้ทางวิชาการด้านต่างๆ เข้าร่วมรับฟังและให้ร่วมวิเคราะห์วิจารณ์ เพื่อให้แนวคิดที่นำเสนอนั้นมีความถูกต้องแม่นยำ มีหลักการคิดที่รอบด้านเหมือนรูปแบบการนำเสนองานวิจัยระดับปริญญาเอก ส่วนการประชุมช่วงบ่ายของวันที่ 2 จะเปิดให้นักวิชาการทั่วไป ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน นิสิตนักศึกษา และพระสงฆ์ ตลอดจนถึงประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมรับฟังข้อสรุปจากงานวิชาการทั้งหมด แล้วจักได้รวบรวมงานทั้งหมดไปจัดพิมพ์เป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการเรื่องแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

การประชุมพุทธมรรค สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญนักวิชาการผู้มีผลงานที่สอดคล้องกับหัวข้อของหนังสืออ้างอิงที่ตั้งไว้ และได้ขอให้นักวิชาการแต่ละท่านร่วมค้นคว้าและผลิตชิ้นงานตามหัวข้อ โดยเปิดให้นำเสนอแนวคิดในมุมกว้าง เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีหลักการแนวคิดและข้อมูลวิชาการที่หลากหลาย น่าเชื่อถือ และสร้างให้เกิดการยอมรับจากสังคมทั่วโลก

เมื่อกระบวนการค้นคว้าได้เสร็จสิ้นลงแล้วตามกำหนดการ ก็ได้ขอให้ทุกท่านนำเสนอผลงานที่นักวิชาการแต่ละท่านมานำเสนอต่อที่ประชุมในกลุ่มย่อย ซึ่งได้รับเชิญให้มาร่วมวิเคราะห์และวิจารณ์งานที่นำเสนอ โดยนักวิชาการผู้มีผลงานที่สอดคล้องกับหัวข้อของหนังสืออ้างอิงที่ตั้งไว้ที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีกิตติมศักดิ์มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก จะแสดงมุขกถาเรื่อง การตีความใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน

2.ดร.อิสาเบลลา บันน์ (Isabella Bunn) อาจารย์สอนวิทยาลัยริเจนต์พาร์ค มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เชี่ยวชาญเรื่องความยุติธรรมและจริยธรรมในระดับโลก มุมมองของกฎหมายเศรษฐกิจนานาชาติ ทั้งมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายระดับนานาชาติทั้งภาครัฐและเอกชน พื้นฐานด้านวิชาการ ปริญญาตรี ด้าน Foreign Service ปริญญาโท ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและด้านเทววิทยา ปริญญาเอก กฎหมายสิทธิมนุษยชน จะมานำเสนอในหัวข้อ “บริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”

3.ดร.แพททริก โอซุลิแวน (Patrick O’Sullivan) เคยสอนที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ใน Business School ที่ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา 25 ปี ก่อนย้ายมาทำงานในสถาบันการบริหารเกรโนเบิล เกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส จะนำเสนอในเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นยูโทเปีย การโฆษณาชวนเชื่อ หรือสัจธรรมที่ปฏิบัติได้”

การประชุมพุทธมรรค สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

4.ดร.สตีเฟน บี ยัง (Stephen B. Young) อาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยมินิอาโซตา สหรัฐอเมริกา ผู้ค้นพบโบราณสถานบ้านเชียง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการบริหาร Caux Round Table for Moral Capitallism สหรัฐอเมริกา นำเสนอในเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่รัฐบาลคุณธรรม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในฐานะเป็นวิถีทางของรัฐบาลคุณธรรม”

5.ดร.พูมใจ นาคสกุล อดีตที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน มูลนิธิมั่นพัฒนา และรองประธานอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จะนำเสนอเรื่อง “การบริหารความเสี่ยงและคุณค่าทางความยั่งยืนสำหรับบริษัท”

6.ดร.โจ แมกนุสัน (Joel Magnuson) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน จากพอร์ตแลนด์ โอเรกอน นักเขียนชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ “From Greed to Well-Being” “Mindful Economy” เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จะนำเสนอเรื่อง “เปลี่ยนแนวทางคิดเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจ-โครงสร้างสถาบันทางพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

7.นิกม์ พิศลยบุตร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของสถาบันศศินทร์ และตัวแทนในประเทศไทยของ โคซ์ ราวด์ เทเบิล (Caux Round Table) เครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาลในภาครัฐและเอกชน ออกแบบกลยุทธ์ทางปัญญาและเครื่องมือในการสร้างสังคมโลกยั่งยืน และวสุ ศรีวิภา Senior ResearchAssociate and Strategic Coordinator ศูนย์บริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของสถาบันศศินทร์ นำเสนอเรื่อง “กรณีศึกษาของความยั่งยืนตามวิถีธรรมในที่ทำงานตามบริษัทในประเทศไทย”

8.ดร.เอ็มมา โทมาลิน (Emma Tomalin) ศาสตราจารย์ทางด้านศาสนาและชีวิตสาธารณะ มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร เป็นนักเขียนที่มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมายจากผลงานวิจัยที่ทำ ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก The Arts and Humanities Research
Council สหราชอาณาจักร จะนำเสนอในเรื่อง “พระพุทธศาสนา และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 5 (การบรรลุความเท่าเทียมทางเพศสภาพและการให้อำนาจแก่สุภาพสตรีและเด็กผู้หญิง)-ปัญหาและการขับเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลง”

9.ดร.แพททริก เมนดิส (Patrick Mendis) อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐ (ยุคคลินตัน) ปัจจุบันเป็น Associate-in-Research ศูนย์แฟร์แบงก์เพื่อจีนศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย George Mason, Fairfax รัฐเวอร์จิเนียจะนำเสนอในเรื่อง “พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน”

10.อินทิรา พี. บาเฮรามศาห์ (Indira P. Baheramsyah) ผู้บริหารมูลนิธิ The United in Diversity ประเทศอินโดนีเซีย นำเสนอเรื่อง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พีระมิดแห่งความสุข กรณีศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย”

11.นีนา ซารด์จนานี (Nina Sardjunani) สำนักเลขาธิการ กระทรวงแผนพัฒนาชาติ ประเทศอินโดนีเซีย จะนำเสนอในเรื่อง “ประเทศอินโดนีเซียนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้อย่างไร”

ขณะที่การเชิญผู้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเข้าร่วมรับฟังและให้ร่วมวิเคราะห์วิจารณ์นี้ได้พิจารณาผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ครอบคลุมเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้านของสหประชาชาติ ตลอดจนด้านศาสนาและจิตวิญญาณ เพื่อให้หนังสืออ้างอิงฉบับนี้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุมเนื้อหาและปัญหาหลักของสังคมโลก

การประชุมพุทธมรรค สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ประกอบด้วยนักวิชาการด้านต่างๆ เช่น นักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา ด้านการพัฒนายั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการพัฒนา สื่อมวลชน นักการเมือง นักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม โดยผู้เข้าร่วมมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย และแขกรับเชิญ อาทิ ผู้แทนประธานาธิบดีศรีลังกา อดีต รมว.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ประเทศเนปาล กรรมการบริหารขององค์การ พ.ส.ล. จากญี่ปุ่น ศรีลังกา สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เนปาล ตัวแทนจากยูเอ็น ยูนิเซฟ ยูเนสโก (ประเทศไทย) เป็นต้น

การจัดประชุมจะจัดเป็น 2 วัน วันแรก (วันที่ 4 ธ.ค.) จัดที่สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ในสวนเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท 24 และวันที่สอง (วันที่ 5 ธ.ค.) จัดที่อาคารหอสมุดพระพุทธศาสนานานาชาติ มหาสิรินาถ พุทธมณฑล จ.นครปฐม